คอลัมนิสต์

โอเพ่น ดาต้า ภาครัฐแชร์ข้อมูลดิจิทัล...ชาวบ้านได้อะไร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โอเพ่น ดาต้า ภาครัฐแชร์ข้อมูลดิจิทัล...ชาวบ้านได้อะไร โดย...  ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

 

          หลายปีที่ผ่านมานี้ “นายกฯ บิ๊กตู่” ให้คำมั่นสัญญากับคนไทยมาตลอดว่า จะยกระดับประเทศเป็น “ไทยแลนด์ 4.0” โดยเฉพาะการจัดทำ “ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่” หรือ “บิ๊ก ดาต้า” ของหน่วยงานรัฐ แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาเปิดเผยให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ ถึงขนาดประกาศใช้กฎหมายใหม่เพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ...

 

 

          คนไทยจะได้ประโยชน์อะไรจาก บิ๊กดาต้า ?...
          อธิบายง่ายๆ คือการเอาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่แต่ละหน่วยงานรัฐบาลจัดเก็บไว้มาเชื่อมโยงกัน เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนาโครงการต่างๆ เช่น ฐานข้อมูลตัวเลขอุณหภูมิและตัวเลขน้ำฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา นำมาเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลปริมาณน้ำสะสมของกรมชลประทาน ร่วมกับฐานข้อมูลการใช้น้ำบริโภคอุปโภคของทุกตำบล ที่ได้จากกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อนำข้อมูลเหล่านี้ทั้งหมดมาเชื่อมโยงกัน โดยไม่ได้ข้อมูลแค่ปีเดียว แต่เป็นข้อมูลย้อนหลัง 10–30 ปี ทำให้สามารถวิเคราะห์และเตรียมรับมือกับปัญหา “การจัดสรรทรัพยากรน้ำ” ในแต่ละตำบลได้ เช่น ฤดูแล้งจะมีน้ำพอใช้หรือไม่ ในแต่ฤดูกาลหรือแต่ละเดือนน้ำจะสะสมเข้ามามากน้อยเพียงไร เมื่อชาวบ้านรับรู้จะได้วางแผนต่อได้ว่า ปีนี้ควรทำไร่ ทำนา ปลูกผลไม้ ปลูกผักอย่างไรให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ในชุมชนของตัวเอง

 

 

โอเพ่น ดาต้า ภาครัฐแชร์ข้อมูลดิจิทัล...ชาวบ้านได้อะไร

 

 


          หรือแม้แต่กลุ่มนักธุรกิจและภาครัฐที่จัดการ “โปรโมทงานท่องเที่ยว” หากชาวบ้านแต่ละ อบต.รู้ว่านักท่องเที่ยวแต่ละชาติชอบซื้อ “ของที่ระลึก” ประเภทไหนบ้าง หรือ คนฝรั่ง คนจีน คนอาหรับ ฯลฯ นิยมสั่งอาหารหรือขนมไทยแบบไหน หากมีข้อมูลหรือบิ๊กดาต้าเหล่านี้โดยละเอียด จะช่วยให้วางแผนพัฒนา “สินค้าโอท็อป” ได้มากกว่าเดิม หรือแม้กระทั่งในธุรกิจก่อสร้าง หากโรงงานที่ผลิตอุปกรณ์รับเหมาก่อสร้างสามารถเข้าไปดึงข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั้งหมด แล้วมาสร้างโปรแกรมเปรียบเทียบว่าสินค้าก่อสร้างประเภทไหนกำลังจะเป็นที่ต้องการในตลาดก่อสร้างในไตรมาสต่อไปหรือปีต่อไป ตามข้อมูลโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ ฯลฯ

 

 




          ล่าสุด วันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีการประกาศใช้ “พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ.2562” เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมและบริหารจัดการข้อมูลหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ พร้อมอำนวยความสะดวกให้ประชาชนนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์


          หมายความว่าต่อไปนี้ หน่วยราชการส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หน่วยงานอิสระของรัฐ รัฐสภา ศาล อัยการ ฯลฯ ต้องจัดทำดาต้าหรือฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อนำมาเปิดเผยให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ หรือที่เรียกว่า “โอเพ่น ดาต้า ภาครัฐ”

 

 

 

โอเพ่น ดาต้า ภาครัฐแชร์ข้อมูลดิจิทัล...ชาวบ้านได้อะไร

 


          กฎหมายข้างต้นกำหนดให้จัดตั้ง “คณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัล” มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิในด้านที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ด้านคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ฯลฯ เพื่อช่วยดูแลให้ “โอเพ่น ดาต้า” ภาครัฐ ที่ประชาชนจะเข้าไปใช้ประโยชน์นั้น มีความถูกต้อง ครบถ้วน ปลอดภัย ไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล


          สำหรับนิยามความหมายของ “รัฐบาลดิจิทัล” ในกฎหมายข้างต้น หมายถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารงานภาครัฐและการบริการสาธารณะ โดยปรับปรุงการบริหารจัดการและบูรณาการข้อมูลภาครัฐและการทำงานให้สอดคล้องเชื่อมโยงเข้าด้วยกันอย่างมั่นคงปลอดภัยและมีธรรมาภิบาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน ในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐต่อสาธารณชน และสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน


          โดยหน่วยงานเจ้าภาพได้แก่ “สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล” หรือ DGA มีหน้าที่ช่วยเหลือให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำข้อมูลและบริการในรูปแบบดิจิทัล (Digitization) พร้อมกับมีการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน (Integration) โดยเปิดเป็น “ศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ” (Government Data Exchange: GDX)

 

 

โอเพ่น ดาต้า ภาครัฐแชร์ข้อมูลดิจิทัล...ชาวบ้านได้อะไร

 


          หมายความว่า ในอนาคตอันใกล้ชาวบ้านไม่ต้องพก “สำเนาทะเบียนบ้าน” และ “บัตรประชาชน” เวลาไปติดต่อราชการ หรือใครอยากเริ่มต้นธุรกิจแบบไหน ก็ไป “ขอใบอนุญาต” จากหน่วยงานต่างๆ ได้ในที่เดียวกัน จากเดิมที่ใครอยากเปิดร้านอาหารต้องขอใบอนุญาตอย่างน้อยจาก 10 หน่วยงานด้วยกัน ต่อไปนี้ไปที่เดียวหรือในอนาคตอาจขอผ่านระบบออนไลน์ได้เลย


          ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ DGA ที่ผลักดัน “โอเพ่น ดาต้า” หรือ “ข้อมูลเปิดภาครัฐ” มายาวนานหลายปี จนล่าสุดได้รับการยกย่องเป็น 1 ใน 100 ผู้มีอิทธิพลในการผลักดันรัฐบาลดิจิทัลทั่วโลก จากหน่วยงานที่มีชื่อ “apolitical” อธิบายว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีชุดข้อมูลเปิดภาครัฐในเว็บไซต์ https://data.go.th จำนวน 1,297 ชุด โดยยังไม่มีข้อมูลเปิดจากภาคเอกชน หากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ จะมีชุดข้อมูลเปิดประมาณ 1,700 ชุด ส่วนมาเลเซียมีประมาณ 13,000 ชุด


          “การเปิดเผยข้อมูลดิจิทัลภาครัฐจะทำให้คนไทยได้ประโยชน์มากขึ้น เช่น ข้อมูลจุดพิกัดที่ตั้งของหน่วยงานรัฐ สามารถเอาไปต่อยอดได้หลายรูปแบบ ทั้งชาวบ้านทั่วไปจนถึงนักพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เช่น ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างในแต่ละปีของทุกหน่วยงาน หรือข้อมูลเปิดผลการเลือกตั้ง ไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่ผลักดันรัฐบาลดิจิทัลมาตั้งแต่ 9 ปีที่แล้ว มีการจัดตั้งสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้การขับเคลื่อนมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีแผนสร้างรัฐบาลดิจิทัลเมื่อ 4 ปีที่แล้ว จนในที่สุดมี พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล นับเป็นการแสดงเจตนารมณ์ว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญเรื่องนี้มาตลอด จนได้รับการยกย่องจากทั่วโลก” ดร.ศักดิ์ กล่าว


          ต้องยอมรับว่าขณะนี้หลายฝ่ายช่วยกันเป็นกำลังใจ “รัฐบาลบิ๊กตู่” ขอให้ผลักดันไทยแลนด์ 4.0 จนประสบความสำเร็จให้ได้ แม้มีอุปสรรคมากมายในการจัดทำและเปิดเผยโอเพ่น ดาต้า ไทยแลนด์มีแค่เกือบ 1,300 ชุด เปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อเมริกาที่มีไม่ต่ำกว่า 2 แสนชุด หรือประเทศอื่นๆ ที่มีเป็นหลักหมื่นชุดขึ้นไป

 

 

 

โอเพ่น ดาต้า ภาครัฐแชร์ข้อมูลดิจิทัล...ชาวบ้านได้อะไร

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด

 


          ที่สำคัญสุดคือ ต้องทำให้ประชาชนไทยมีความมั่นใจว่า “ข้อมูลส่วนบุคคล” ที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐจะถูกเก็บรักษาไว้อย่างมั่นคงและปลอดภัย


          โดยเฉพาะข้อมูลของผู้ไปลงทะเบียน “ชิมช้อปใช้” กว่า 10 ล้านคนนั้น มีการวางแผนหรือมีมาตรการจัดเก็บและรักษาความปลอดภัยอย่างไรบ้าง ???


          อย่าปล่อยให้มีใครแอบเอาไปขายให้ “บริษัทด้านการตลาด” ที่ยอมทุ่มทุนมหาศาล เพื่อขอดูหรือขอซื้อข้อมูลเหล่านี้
  

          เพราะ “ข้อมูลส่วนตัวคนไทย” มิใช่ “ข้อมูลเปิดภาครัฐ” รัฐบาลบิ๊กตู่ต้องระวังให้ดี อย่าหลงกลพวกนักบริหารฝีปากดี มิเช่นนั้นอาจเจอ “คดีฟ้องร้อง” ตามมามากมายในอนาคต !


          สำรวจอันดับ Digital Government 2018
          มหาวิทยาลัยวาเซดะของประเทศญี่ปุ่น จัดอันดับรัฐบาลดิจิทัล 65 ประเทศ
          ประเทศไทยได้อันดับที่ 21 จำนวน 68.1 คะแนน
          อันดับ 1 เดนมาร์ก 94.8 คะแนน อันดับ 2 สิงคโปร์ 93.8 คะแนนอันดับ 3 อังกฤษ 91.9 คะแนน อันดับ 4 เอสโตเนีย 91.1 คะแนน อันดับ 5 อเมริกา 90.3 คะแนน
          ที่มา : https://www.dga.or.th/th/content/920/13086/

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-(คลิป)นายกฯรับเป็นรัฐบาลดิจิทัลไม่ง่าย
-ดันศก.ดิจิทัลต้องเข้มภัยออนไลน์
-เกษตรอินทรีย์สดใสมกอช.ปั้นพ่อค้า แม่ค้าดิจิทัลเพิ่มช่องตลาด
-กฎหมายรัฐบาลดิจิทัล เพิ่มโปร่งใส ลดทุจริต

 

 

 

 

 

 

 

 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ