คอลัมนิสต์

ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาไม่ทัน...ไม่อาจขอให้ศาลขยายเวลาได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาไม่ทัน...ไม่อาจขอให้ศาลขยายเวลาได้ คอลัมน์...  เรื่องน่ารู้วันนี้...กับคดีปกครอง  โดย... นายปกครอง

 

 

 

          พูดถึงการขึ้นโรงขึ้นศาล...ไม่ว่าจะเป็นในฐานะผู้ฟ้องหรือแม้กระทั่งเป็นผู้ถูกฟ้องก็ตาม คนทั่วไปจะคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าจะมีความยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูง แต่สำหรับคดีปกครองแล้ว ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด

 

 

          เพราะการฟ้องคดีปกครองไม่มีแบบขอคำฟ้องกำหนดไว้เฉพาะ เพียงแต่ต้องทำเป็นหนังสือ ใช้ถ้อยคำสุภาพ โดยต้องระบุชื่อ ที่อยู่ของผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดี ข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เกี่ยวกับการกระทำที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี คำขอและลายมือชื่อผู้ฟ้องคดี โดยแนบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเท่าที่มีไปพร้อมคำฟ้องด้วย ซึ่งปัจจุบันยังสามารถยื่นฟ้องออนไลน์ทางระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย


          นอกจากนี้การฟ้องคดีปกครองไม่ได้บังคับให้ต้องมีทนายความ และการฟ้องคดีก็ไม่มีค่าธรรมเนียมศาล ยกเว้นคดีที่มีการเรียกร้องให้ชดใช้เงินครับ


          สำหรับลักษณะคดีปกครองเป็นที่ทราบกันดีว่าคือข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชน หรือข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง อันเกิดจากการใช้อำนาจทางปกครอง ไม่ว่าจะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการออกกฎหรือคำสั่งเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยหรือล่าช้าต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ การกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง รวมทั้งคดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง เป็นต้น


          เรื่องน่ารู้วันนี้...กับคดีปกครอง เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ยื่นฟ้องคดีต่อศาลรวมทั้งคู่กรณีในคดี ในกรณีที่ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตัดสินคดีแล้ว หากผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับผลการตัดสินซึ่งจะต้องยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาเพื่อให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาทบทวน โดยมีกฎหมายกำหนดระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ไว้ คือมาตรา 73 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 

 



          กำหนดให้การคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ถ้ามิได้ยื่นอุทธรณ์ตามกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าคดีนั้นเป็นอันถึงที่สุด 


          จึงมีประเด็นปัญหาที่น่าสนใจว่า...ในกรณีที่คู่กรณียื่นอุทธรณ์ไม่ทันภายในระยะเวลาดังกล่าวจะสามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาล และศาลมีอำนาจขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวได้หรือไม่?


          โดยคดีที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์คำพิพากษาไม่ทัน จึงยื่นขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า แม้ข้อ 6 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 จะกำหนดว่าระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ หรือตามที่ศาลกำหนด เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่กรณีมีคำขอ ศาลมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมก็ตาม แต่เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลย่นหรือขยายระยะเวลาเพียงเฉพาะระยะเวลาที่กำหนดไว้ในระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 หรือเฉพาะแต่ระยะเวลาตามที่ศาลได้กำหนดไว้เท่านั้น ไม่รวมถึงระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 แต่อย่างใด 


          ดังนั้นระยะเวลายื่นอุทธรณ์คำพิพากษาซึ่งเป็นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 73 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 จึงมิใช่ระยะเวลาตามที่ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 กำหนด หรือระยะเวลาที่ศาลได้กำหนดขึ้น ศาลจึงไม่อาจที่จะขยายระยะเวลาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ จึงมีคำสั่งไม่รับคำขอขยายระยะเวลายื่นคำอุทธรณ์ไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คร.127/2562)


          คดีนี้จึงเป็นประโยชน์สำหรับคู่กรณีในคดีปกครอง ที่หากไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น จะต้องรีบยื่นอุทธรณ์ให้ทันภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คือภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วก็จะถือว่าคดีถึงที่สุดทันทีโดยไม่อาจขอขยายเวลาอุทธรณ์ได้ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดให้ศาลมีอำนาจย่นหรือขยายระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาได้ 


          สำหรับระยะเวลาที่ระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดกำหนดให้อำนาจศาลย่นหรือขยายระยะเวลาได้ ท่านผู้อ่านคงจะมีความสงสัยว่ามีกรณีใดบ้าง เช่น ระยะเวลา... ยื่นคำคู่ความ การอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา คำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความโดยไม่มีการวินิจฉัยชี้ขาดคดี เป็นต้น


          (ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ