คอลัมนิสต์

ข้อมูลเชิงลึก 30 ปี ไทยร้อนขึ้น-น้ำน้อยลง ท้าทายรัฐบาลลุงตู่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก 30 ปี ... ไทยร้อนขึ้น-น้ำน้อยลง ท้าทายรัฐบาลลุงตู่ โดย...  ทีมข่าวรายงานพิเศษ 

 

 

          ช่วงนี้ชาวไร่ชาวนาได้รับคำเตือนให้เตรียมรับมือ “วิกฤติภัยแล้งรุนแรง” น้ำจะเริ่มขาดแคลนมากขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2562 ต่อเนื่องถึง 2563 เนื่องจากปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่ทำให้ผิวน้ำทะเลอุ่นขึ้น ส่งผลให้ฝนตกน้อยลง สำหรับประเทศไทยผลกระทบโดยตรงจากภาวะฝนตกน้อยคือ “ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ” แทบไม่พอกับภาคเกษตร และอาจรวมถึงการอุปโภคบริโภคในปีหน้าด้วย ยิ่งไปกว่านั้นจากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ข้อมูลตัวเลขเชิงลึก“โอเพ่น ดาต้า” (open data) สะท้อนให้เห็นปัญหาระยะยาวที่รัฐบาลใหม่ต้องเตรียมพร้อมรับมือคือ “อุณหภูมิไทยจะร้อนมากขึ้น ส่วนปริมาณน้ำจะลดน้อยลงเรื่อย ๆ”

 

 

 

ข้อมูลเชิงลึก 30 ปี ไทยร้อนขึ้น-น้ำน้อยลง ท้าทายรัฐบาลลุงตู่

 

 

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ผลกระทบภัยแล้งตั้งแต่พฤษภาคม-กรกฎาคม2562สร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าวนาปีอย่างรุนแรง คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า1.5หมื่นล้านบาทและภัยแล้งอาจลากยาวไปถึงปลายปีต่อเนื่องถึงปี 2563


          กลายเป็นคำถามว่า “ภัยแล้งซ้ำซาก” ของประเทศไทยเกิดจากอะไร และจะแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำได้อย่างไร?


          ทีมอาสาสมัครจาก “ชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย”หรือ “ทีดีเจ” (TDJ)ร่วมกันสืบค้นหาฐานข้อมูลเชิงลึกและโอเพ่น ดาต้า (open data)ย้อนหลัง 30 ปี จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง “น้ำ” เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ,สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน),กรมชลประทาน และแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ ฯลฯ จากนั้นนำมาประมวลผลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อเปรียบเทียบหาความสัมพันธ์ดาต้า 3 ส่วนหลักด้วยกัน ได้แก่ 1 ข้อมูลอุณหภูมิ 2 ข้อมูลปริมาณน้ำฝน - น้ำในแหล่งเก็บน้ำ และ 3 ข้อมูลพื้นที่การเกษตร ซึ่งสามารถนำผลที่ได้มาอธิบายถึงสถานการณ์ภัยแล้งซ้ำซาก และภัยแล้งปี 2563 ที่กำลังสร้างความเดือดร้อนให้คนไทยในขณะนี้และในอนาคตข้างหน้า

 

          โดยการวิเคราะห์เปรียบเทียบ“ข้อมูลอุณหภูมิ”ย้อนหลังของประเทศไทย 30 ปี พบการเปลี่ยนแปลงชัดเจน เนื่องจาก “อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด” มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากหลักฐานที่เคยบันทึกไว้เมื่อเดือนเมษายน 2559 ไทยมีร้อนสุด 38.3 องศาเซลเซียส เปรียบเทียบกับเดือนเมษายน2562ที่อากาศร้อนพุ่งขึ้นเป็น 41.5 องศา

 

 

 

 

ข้อมูลเชิงลึก 30 ปี ไทยร้อนขึ้น-น้ำน้อยลง ท้าทายรัฐบาลลุงตู่

 

 

 



          ส่วนสถิติ อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด ในรอบ 30 ปีที่บันทึกไว้นั้น เดือนมกราคม 2557 ประมาณ 17.2 องศาแต่ในเดือนมกราคม 2562 เพิ่มเป็น 21.3 องศา หมายความว่าอุณหภูมิประเทศไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 3 - 4 องศา จากการประมวลผลตัวเลข “อุณหภูมิเฉลี่ย” ที่ผ่านมา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงวันที่ 22กันยายน 2562 พบว่าทุกๆปี แนวโน้มของอุณหภูมิเฉลี่ยประเทศไทยสูงขึ้นกว่าค่าปกติอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 3 - 4 องศา


          ทั้งนี้ตัวเลขอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นแต่ละ “ 1 องศา” นั้นมีความหมายมาก เพราะโลกของเราเสี่ยงเกิดภาวะเรือนกระจกภาวะโลกร้อน (Global Warming) และภาวะภูมิกาศแปรปรวนนำมาสู่ภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้ง พายุฝน น้ำท่วม ภัยแล้ง ฯลฯ

 

 

 

ข้อมูลเชิงลึก 30 ปี ไทยร้อนขึ้น-น้ำน้อยลง ท้าทายรัฐบาลลุงตู่

 


          เมื่อนำข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิประเทศไทยมาพิจารณาร่วมกับ “ข้อมูลปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย” ที่มากสุดของประเทศไทยในแต่ละเดือน พบว่าในเดือนกันยายน 2557 น้ำฝนเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 253 มิลลิเมตร เทียบกับกันยายน 2561มีปริมาณ 209 มิลลิเมตรแสดงถึงค่าเฉลี่ยที่ลดลง 44มิลลิเมตรและหากดูข้อมูลย้อนหลังในรอบ10ปี พบปริมาณน้ำฝนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน


          สอดคล้องกับปริมาณน้ำไหลเข้าโดยรวมของแหล่งเก็บน้ำทุกแห่งทั่วไทย ที่ลดลงจากค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2553–2561 ประมาณ 4.3 หมื่นล้าน ลบ.ม. ในวันที่ 16 กันยายน 2562 เหลือเพียง 2.2 หมื่นล้าน ลบ.ม.ลดลงไปไม่ต่ำกว่าร้อยละ51 จากค่าเฉลี่ยปกติ ยิ่งไปกว่านั้นน้ำสะสมในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนทั่วประเทศไทยก็ลดน้อยลงเช่นกัน โดยเฉพาะ 3 เขื่อนหลักของไทย ได้แก่ “เขื่อนภูมิพล” “เขื่อนอุบลรัตน์” และ “เขื่อนป่าสักชลสิทธิ” น้ำไหลเข้าน้อยลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน

 

ข้อมูลเชิงลึก 30 ปี ไทยร้อนขึ้น-น้ำน้อยลง ท้าทายรัฐบาลลุงตู่

 


          “เขื่อนป่าสักฯ” ข้อมูลปีที่เกิดวิกฤติแล้งรุนแรง มีน้ำไหลลงอ่างสะสม 793 ล้าน ลบ.ม. แต่วันที่ 16 กันยายน 2562 น้ำเหลือเพียง 226 ล้าน ลบ.ม.


          “เขื่อนอุบลรัตน์” ปี 2558 มีปริมาณน้ำ 629 ล้าน ลบ.ม.วันที่ 16 กันยายน 2562 เหลือเพียง 278 ล้าน ลบ.ม.


          “เขื่อนภูมิพล” ปี 2558 ปริมาณ 1,982 ล้านลบ.ม.วันที่ 16 กันยายน 2562 เหลือเพียง 1,295 ล้านลบ.ม.


          เมื่อ “น้ำ” มีน้อยลง ผู้ที่จะได้รับความเดือดร้อนมากสุดคือ “ชาวไร่ ชาวนา” เนื่องจากสัดส่วนการใช้น้ำร้อยละ 70 ถูกใช้ไปในภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะใช้ “ปลูกข้าว” ถึงร้อยละ 53จากจำนวนพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ 71 ล้านไร่ สามารถประเมินเบื้องต้นว่าต้องใช้น้ำใน 1 ฤดูกาลประมาณ 1.13 แสนล้าน ลบ.ม.หรือ คิดเป็น 138 %หมายถึงสัดส่วนที่พื้นที่ไร่นาต้องการน้ำมีจำนวนมากกว่า “ปริมาณน้ำ” ที่มีขณะนี้ถึง 38 %


          “รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์”  ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์ทีมอาสาสมัครทีดีเจเกี่ยวกับ“ปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก” ของประเทศไทยว่า สาเหตุสำคัญเกิดจากปริมาณฝนที่น้อยกว่าปกติ รวมถึงปัญหาด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยที่ใช้เพื่อการเกษตรมากกว่า 70% ของปริมาณการใช้ทั้งหมดพร้อมกับแนะนำ 3 แนวทางแก้ปัญหาว่า 1 ควรกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรอย่างเป็นระบบ เน้นไปยังความต้องการผู้ใช้กับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ไม่ควรใช้วิธีการหาน้ำจากพื้นที่อื่น ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ แนวทางที่ 2 ให้ออกมาตรการห้ามปลูกข้าวนาปรังและ แนวทางที่ 3 เพิ่มองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร


          ล่าสุด รัฐบาลชุดใหม่ได้จัดประชุมงบประมาณรายจ่าย "แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 2563" ซึ่งจะมีการอนุมัติวงเงินให้โครงการต่างๆ กว่า 1.7 หมื่นรายการรวมเป็นเงินประมาณ1.8แสนล้านบาท

 

          เงินภาษีคนไทยกว่า 1.8 แสนล้านบาทนั้น กำลังจะถูกแจกจ่ายไปแก้ “ปัญหาขาดแคลนน้ำ” กับ “ปัญหาน้ำท่วม” ที่เกิดขึ้นทุกปีซ้ำแล้วซ้ำเล่ารัฐบาลชุดใหม่ นักการเมือง ภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ควรช่วยกัน “ขบคิดให้ลึกซึ้ง” ว่าปัญหาน้ำ โดยเฉพาะภัยแล้งซ้ำซากนั้น จะแก้ไขด้วย “โอเพ่น ดาต้า” หรือการนำข้อมูลเชิงลึกไปช่วยวิเคราะห์ได้อย่างไร เพราะ“อุณหภูมิเฉลี่ย”  30 ปีที่ผ่านมายืนยันชัดเจนว่า


          ประเทศไทยร้อนขึ้นต่อเนื่อง 3 - 4 องศา ตัวเลขแต่ละองศามีความหมายลึกซึ้งมากนัก ส่งผลกระทบทุกภาคส่วนของไทย ไม่ใช่เฉพาะ “ภาคการเกษตร”


          อยู่ที่ว่า “นายกบิ๊กตู่” ที่เอาเงินภาษีคนไทยบินไปร่วมเวทีประชุม “ภาวะโลกร้อน” นานาชาติมาหลายปีและหลายเวทีนั้น “เข้าใจวิธีแก้ปัญหา” มากน้อยเพียงไร !?!

 

 

 

ข้อมูลเชิงลึก 30 ปี ไทยร้อนขึ้น-น้ำน้อยลง ท้าทายรัฐบาลลุงตู่

ปรเมศฐ์ ศตประสิทธิ์ชัย


           “ปรเมศฐ์ ศตประสิทธิ์ชัย” นักวิเคราะห์ข้อมูลจากทีมอาสาสมัครทีดีเจ อธิบายถึงการนำ “ดาต้า” มาหาความสัมพันธ์กันตั้งแต่ปี 2557ถึงปี 2561แล้วจำลองภาพเป็นกราฟเส้นออกมา (data visualization)ทำให้เห็นว่าลักษณะกราฟทั้ง3ส่วนวิ่งไปในทิศทางเดียวกัน แสดงถึง “หลักฐาน” ชัดเจนว่าอุณหภูมิต่ำสุดของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น และปริมาณน้ำฝนลดลง ทำให้น้ำไหลเข้าเขื่อนสะสมลดลงไปด้วย
  

          "ตอนนี้วิเคราะห์จากข้อมูลค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ในอนาคตถ้ามีดาต้าอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนจากสถานีตรวจวัดระดับอำเภอ จะยิ่งเพิ่มความแม่นยำมากขึ้น ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เกษตรกรแต่ละชุมชนสามารถเตรียมตัวหรือวางแผนในการปลูกพืชและบริหารจัดการน้ำได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมตอนนี้ผมกำลังรวบรวมข้อมูลจัดทำเป็นเอ็กเซลไฟล์ (Excel)และลิงค์ดาวน์โหลดข้อมูลไว้ที่เฟซบุ๊คของTDJและในเวบไซด์สมาคมนักข่าวฯ(www.tja.or.th) ผู้ที่สนใจสามารถนำดาต้า 30 ปีกลุ่มนี้ไปต่อยอดทำประโยชน์ได้เลย"


           “ชนิตา งามเหมือน” บรรณาธิการข่าวเวบไซต์onlinenewstime.comหนึ่งในทีมอาสาสมัครทีดีเจ เล่าถึงเบื้องหลังการสืบค้นดาต้าเชิงลึก3ส่วน เพื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกัน ได้แก่“อุณหภูมิ” “แหล่งเก็บน้ำ”และ“พื้นที่การเกษตร”เนื่องจากส่วนตัวแล้วมีสนใจติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติในโลก และที่ผ่านมาคนไทยเจอกับวิกฤติภัยแล้ง วิกฤติน้ำท่วมวนเวียนอย่างนี้ทุกปี หลังประมวลผลดาต้าทั้ง3ส่วนทำให้รู้คำตอบว่า“วันนี้น้ำไม่เพียงพอ”และในอนาคตจะสร้างความเสียหายที่ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องเป็นลูกโซ่จากภาคเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย
  

 

ข้อมูลเชิงลึก 30 ปี ไทยร้อนขึ้น-น้ำน้อยลง ท้าทายรัฐบาลลุงตู่

ชนิตา งามเหมือน

 

 

          เมื่อตัวแปรคือสถานการณ์โลกร้อน ระบบนิเวศมีแนวโน้มแปรปรวนมากขึ้น นี่คือโจทย์สำคัญที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต้องร่วมมือกันคิดและทำตั้งแต่วันนี้ เชื่อว่าภาครัฐเห็นตัวเลขเหล่านี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ย แหล่งเก็บน้ำไม่มีน้ำสะสม ฯลฯ สิ่งที่คนไทยคาดหวังคือ การหาข้อเท็จจริงแบบบูรณาการ ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลหลายๆหน่วยงานของภาครัฐ และเปิดเผยเป็นโอเพ่น ดาต้าอย่างละเอียด เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์และประมวลผล เพื่อนำไปสู่นโยบายแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว


          ในฐานะสื่อมวลชนแล้ว ข้อมูลเปิดหรือ โอเพ่น ดาต้า ของภาครัฐมีประโยชน์อย่างมากในการใช้ข่าวรูปแบบ“การสื่อสารข้อมูลเชิงลึก” (Data Journalism)เป็นการสร้างโอกาสให้ได้คิดหาวิธีเชื่อมโยงข้อมูลที่มีอยู่จำนวนมหาศาล


          “บางครั้งเราอาจปักใจเชื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เมื่อเอาดาต้าเชิงลึกหรือข้อมูลขนาดใหญ่มาเชื่อมโยงหาความสัมพันธ์กัน ผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่ใช่อย่างที่เราเคยคิดหรือเคยเชื่อ ทำให้สามารถต่อยอดไปสู่การเสนอข่าวสารที่น่าเชื่อถือมีดาต้าเป็นหลักฐานและมีประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าเดิม”

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ