คอลัมนิสต์

ชื่อ 'จืด' ใจเข้ม สู้เพื่อช้าง หรือสู้กับช้าง?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงานพิเศษ จากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 19-20 62 ต.ค.

 

 

*********************

 

ไม่ต้องมีหัวใจอนุรักษ์ แต่เป็นคนธรรมดาอย่างเราๆ ยังใจสลาย กับภาพของซากช้างป่าหลายชีวิตในห้วงเหวที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตั้งแต่วันเกิดเหตุ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา พวกมันตกลงไปเบื้องล่างน้ำตกที่ชื่อว่า “เหวนรก” ราวกับผู้บริสุทธิ์ที่โดนลงทัณฑ์

 

วันนี้แม้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะได้ทำพิธีสวดบังสุกุลให้กับซากช้างป่าทั้ง 11 ตัว ไปแล้ว ส่วนซากร่างบางตัว ที่ไม่สามารถกู้คืนมาได้ คงต้องปล่อยให้ธรรมชาติจัดการ

 

แต่นั่นก็คืออดีตที่ผ่านพ้นไป ไม่มีใครเรียกชีวิตของฝูงช้างเหล่านั้นกลับมาได้ หากคำถามใหญ่กว่านั้นคือ จากนี้ต่อไปจะเอายังไงต่อ ถ้าไม่ต้องการให้โศกนาฏกรรมแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

 

แน่นอนคำถามนี้ คนธรรมดาอย่างเราๆ อาจได้แต่ทอดถอนใจ แต่คนกลุ่มหัวใจอนุรักษ์ เกิดมาเพื่อทำสิ่งนี้ และเขากำลังทำมันอยู่

 

 

 

 

ชื่อจืด ใจเข้ม

 

ชื่อของ “จืด เข็มทอง” โผล่ขึ้นมาในห้วงข่าวสารตอนนี้ คนไทยวงกว้างได้รู้จักว่าเขาคือนักอนุรักษ์คนหนึ่งและทำมานานแล้ว หากเวลานี้เขากำลังเดินหน้าอย่างเข้มข้นตรงข้ามกับชื่อ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาช้างตกเหวนรกแบบยั่งยืนเสียที

 

 

 

ชื่อ 'จืด' ใจเข้ม สู้เพื่อช้าง หรือสู้กับช้าง?

 

 

 

โดยหลังเกิดเรื่องเศร้าของช้าง 11 ตัว เขาก็ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “จืด เข็มทอง” ข้อความว่า #รักเขาใหญ่น้อยกว่านี้ไม่ได้ พรุ่งนี้ศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2562 เป็นวันที่ตรงกับจำนวนช้าง ทั้ง 11 ตัว ตกเหวนรกตาย

 

“หลายคนตั้งคำถาม หลายคนมีคำตอบ จะหาวิชาการมาอ้างอิง ช้างตกเหวเป็นเรื่องสุดวิสัย เจ้าหน้าที่ไม่บกพร่อง เพราะช้างตกเวลากลางคืน แต่ประเด็นคือมีช้างตาย 11 ตัว บนเหวนรก!! สุดท้ายมามาทุ่มเทแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ!”

 

ก็ดูเหมือนจะเข้าใจเป้าประสงค์ของนักอนุรักษ์คนนี้เป็นอย่างดีว่า เขาต้องการให้แก้ไขเรื่องใดบ้าง

 

เพราะนอกจากเขาจะเล่าถึงเหตุการณ์ช้างป่าตกเหวนรกตายหลายตัวในอดีต เมื่อปี 2535 และฉายภาพของความพยายามที่จะช่วยเหลือ แก้ไข แม้จะล้มเหลว

 

มาครั้งนี้ เมื่อเหตุสลดขึ้นอีกครั้ง เขาผู้ซึ่งติดตามเรื่องนี้มาตลอดจึงทนไม่ได้อีกต่อไป ลุกขึ้นมาเสนอให้รื้อศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ร้านอาหาร ห้องน้ำ 1, 2 ศาลาพัก 1, 2, 3 รวมไปถึงป้อมยาม รวมไปถึงหน่วยพิทักษ์ฯ น้ำตกเหวนรก โดยระบุว่า ไม่มีวิธีการใดที่เหมาะสม ในการจะรักษาชีวิตลูกช้างอีกแล้ว

 

“ข้อเสนอเดียวเท่านั้นก็คือ #รื้อ รื้อเท่านั้นจะช่วยลูกช้างให้รอดจากความตายบนเหวนรกนี้”

 

แต่คงด้วยรู้ว่าข้อเสนอจะไม่เป็นผล เขาจึงตัดสินใจลุยไปที่ด่านเขาใหญ่ ฝั่งทางขึ้นปากช่อง ประกาศปักหลักประท้วงเป็นเวลา 11 วัน บอกว่าจะใช้ชีวิตทั้งชีวิตในการต่อสู้ครั้งนี้

 

 

 

ก่อนถึงจุดเดือด

 

 

อย่างที่เกริ่นไปว่า จืด เข็มทอง หรือ เข็มทอง โมราษฏร์” ไม่ได้เพิ่งมาเมื่อช้างตายงวดล่าสุด เขานั้นมีชีวิตโลดแล่นต่อสู้ปักหลักเรื่องนี้มาเนิ่นนาน ค่าที่เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มเด็กรักป่า ในปี 2532 ที่จังหวัดสุรินทร์

 

 

ชื่อ 'จืด' ใจเข้ม สู้เพื่อช้าง หรือสู้กับช้าง?

ครูจืดวัยหนุ่ม สมัยรณรงค์ หยุดเขื่อนน้ำโจน ปี 2532

 

 

 

งานที่เหมือนง่ายๆ สบายๆ แต่การเป็น “ครู” ผู้สอนให้เด็กเยาวชนรักและเคารพธรรมชาติ ไมใช่งานง่าย

 

เช่นเดียวกับการซื่อสัตย์ต่อความฝัน และอุดมการณ์ในการเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม “ครูจืด” เคยร่วมคัดค้านเขื่อนน้ำโจน หรือช่วงปี 2535 เขาเคยประท้วงเรื่องช้างป่า 8 เชือก ตายตกที่เหวนรกที่เดียวกันนี้

 

เขาบอกว่า ที่ผ่านมาช้างตกเหวนรกมีแทบนับครั้งไม่ถ้วน รวมยอดออกมาไม่ต่ำกว่า 30 ตัว ตั้งแต่จัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ขึ้นมา 

 

 

 

ชื่อ 'จืด' ใจเข้ม สู้เพื่อช้าง หรือสู้กับช้าง?

เป็นครูของกลุ่มเด็กรักป่า 

 

 

ค้นข้อมูลก็พบว่า เหตุสลดแบบนี้เคยเกิดขึ้นหลายครั้ง ที่มีบันทึกเช่นตั้งแต่กันยายน 2529 มีนักท่องเที่ยวพบซากช้าง 1 ตัว นอนตายอยู่ที่้น้ำตกเหวนรกระหว่างชั้นแรกกับขั้นที่ 2

 

ตุลาคม 2530 พบช้างป่าตกเหว ตาย 4 ตัว เป็นแม่ช้าง 2 ตัว และลูกช้างที่หมดแรงตกตายตามไปอีก 2 รวมเป็น 4 ตัว

 

ปี 2531 มีช้างป่าตกเหวนรกช่วงน้ำตกชั้นที่ 1 อีก 2 ตัว และพัดเอาซากช้างจมหาย และตกลงไปถึงน้ำตกชั้น 3 ซึ่งไม่มีใครลงไปได้ เพราะระดับน้ำลึกกว่า 200 เมตร

 

3 สิงหาคม 2535 เป็นข่าวใหญ่ที่คนไทยติดตามหลายวัน เมื่อมีช้างหลายตัว ทั้งช้างโตช้างเด็ก ตกลงไปในน้ำตกเหวนรก คนไทยติดตามข่าวสารได้เห็นภาพของการพยายามมีชีวิตรอดของฝูงช้าง ภาพความรักของสัตว์ตัวโตที่หลายคนเรียกมันว่า “สัตว์เดรัจฉาน” พยายามช่วยเหลือดูแลกันเอง 

 

 

 

ชื่อ 'จืด' ใจเข้ม สู้เพื่อช้าง หรือสู้กับช้าง?

(อ่าน https://www.komchadluek.net/news/today-in-history/337247

2 ส.ค.2535 สุดสลด! 8 ช้างป่า ตกเหวนรก ที่เขาใหญ่)

 

 

 

แต่แล้วเราก็ได้รับรู้ว่า “มนุษย์” อย่างเราทำอะไรไมได้ ไม่ต่างกับช้างที่ไม่สามารถต่อสู้กับผาสูงชัน 90 องศา ทั้งโขดหินแหลมคมและสายน้ำที่เชี่ยวกราก

 

วันนั้นพวกมันอ่อนแรง ล่องไหล ตายตามกันไปรวมทั้งสิ้น 8 ตัว คนไทยเองก็ไหลล่องไปกับหยดน้ำตา ที่แม้จะเหือดแห้งไปแล้ว แต่มันไม่ได้แปลว่าเรื่องจบลง เพราะที่สุดเหตุการณ์วันที่ 5 ตุลาคม ก็เกิดขึ้น

 

นาทีนั้น คนชื่อ “จืด” คงเดือดดาลเกินรับอีกต่อไป

 

 

 

หนทางที่ต้องเริ่มทำ

 

ครูจืดเริ่มต้นด้วยการสรุปสาเหตุของเรื่องเศร้าครั้งนี้หลักๆ  2 ประเด็นใหญ่ และร้องเรียนถึง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม คือ

 

 

ชื่อ 'จืด' ใจเข้ม สู้เพื่อช้าง หรือสู้กับช้าง?

ภาพแสดงเส้นทางเดินของช้างระหว่างน้ำตกเหวนรกกับสถานที่ก่อสร้างของคน

 

 

 

1.การบกพร่องต่อหน้าของเจ้าหน้าที่ ที่ไม่มีเวรยามป้องกันในจุดอันตราย และ 2.การสร้างจุดบริการนักท่องเที่ยวที่ทับเส้นทางเดินดั้งเดิมของช้างป่า 

 

แต่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก็ได้ออกมาแถลงการณ์ตอบข้อร้องเรียนของเขาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยสรุปคือ

 

1.ทางอุทยานฯ ปรับลดจำนวนเจ้าหน้าที่ดูแลในจุดอันตรายลง เนื่องจากพฤติกรรมของช้างป่าที่เดินเข้าเส้นทางน้ำตกเหวนรกมีจำนวนน้อยลง

 

2.น้ำตกเหวนรกเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ การก่อสร้างต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นและไม่มากเกินไป ทั้งยังกลมกลืนกับภูมิประเทศ จนสัตว์ป่าคุ้นชิน ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตอยู่ของสัตว์ป่าแต่อย่างใด

 

แต่ครูจืดก็ยังคงเดินหน้าต่อ ยืนยันว่าเรื่องการจัดเวรยามระหว่างต้นฝนไปถึงปลายฝนที่จุดสกัดตรงเหวนรก เป็นปัญหามานานแล้ว เขาระบุว่า ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่อยู่ตรงจุดสกัดนั้น ในตอนกลางคืนแค่คนเดียว!!

 

หลังเหตุร้ายในปี 2535 ก็ได้มีการยื่นข้อเสนอให้ทางอุทยานฯ ดูแลจุดสกัดเส้นทางการเดินของช้าง ไม่ให้เข้าถึงบริเวณจุดเสี่ยงอันตรายในพื้นที่น้ำตกเหวนรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปอะไรๆ ก็ลดดีกรีความเฝ้าระวังลง

 

ทางออกเดียวที่เขาเสนอคือ การจัดระเบียบพื้นที่ตรงจุดนั้นใหม่ เพื่อเปิดช่องทางให้ช้างได้เดินบนเส้นทางดั้งเดิม ที่ตอนนี้เต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างอันอำนวยความสะดวกสบายต่างๆ แก่นักท่องเที่ยว

 

 

ชื่อ 'จืด' ใจเข้ม สู้เพื่อช้าง หรือสู้กับช้าง?

 

 

 

แต่ทันทีที่คนไทยได้ยินข่าวว่า ครูจืดมาปักหลักที่หน้าเขาใหญ่และเดินหน้าอดข้าวประท้วง เพื่อให้นำไปสู่หนทางปลดล๊อคอันตรายครั้งนี้ เราก็รู้แล้วว่า ข้อเสนอของเขายังไม่มีสัญญาณตอบรับจากปลายสาย

 

 

 

อดนี้เพื่อช้าง

 

ที่สุด ภาพในวันนี้เราก็ได้เห็นว่าครูจืดปูเสื่อรอที่หน้าด่านเขาใหญ่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา

 

แน่นอนระหว่างวันมีคนมาหามาทักทาย เยี่ยมเยียนมากมาย ครูจืดระบุขอทุกท่านที่จะมาเยี่ยมเขียนป้ายฝ้า ข้อความเดียว “#รื้อ” เผื่อมาให้เขา ไว้ติดในพื้นที่รอบๆ ที่ตนประท้วงอยู่ โดยไม่ต้องเอาน้ำ หรืออื่นใดมาฝาก

 

วันนั้นเขาระบุ หลังจาก 5 วัน จะไม่ดื่มน้ำ และจะไม่ลงไปถ้าไม่รื้อจุดบริการนักท่องเที่ยวเหวนรก

 

 

ชื่อ 'จืด' ใจเข้ม สู้เพื่อช้าง หรือสู้กับช้าง?

 

 

 

11 วันกว่าจะถึงวันสุดท้าย 21 ตุลาคม แต่เพียงแค่วันที่ 12 ตุลาคม หรือวันที่ 2 ของการปักหลัก ที่ครูจืดโพสต์เฟซบุ๊กว่า “อาหารมื้อสุดท้ายที่ทาน คือข้าวเหนียว ส้มตำถั่วใส่ปลาร้าหนึ่งตัว เนื้อย่าง ”

 

คนไทยก็เริ่มเป็นห่วงแล้ว เพราะเขาอาศัยดื่มน้ำเปล่าบ้าง น้ำผสมเกลือแร่บ้างเท่านั้นเอง

 

แน่นอนระห่างนั้น ทุกวันจะมีผู้คนทยอยมาเยี่ยมเยือน ร่วมทำกิจกรรมดีๆ เพื่อน้องช้าง แต่อะไรยังไม่เท่าข่าวดีที่ครูจืดบอกว่าข้อเสนอที่ 1 เรื่องจุดสกัดและการเฝ้าระวังนั้น ได้รับการแก้ไขไปแล้ว เหลือแต่ข้อ 2 คือ “รื้อ” ต้องขยับกันต่อ ในระดับนโยบาย

 

ดังนั้น 15 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันที่ 5 ของการประท้วง ครูจืดจึง “ยกระดับ” โดยการเริ่มอดน้ำในวันรุ่งขึ้น นั้นหมายความว่า เขาจะไม่ทานไม่ดื่มอะไรอีกเลย อย่างไรก็ดีทางเจ้าหน้ากู้ภัยเขาใหญ่ และผช.อุทยานฯ ได้มีการมาตรวจประเมินร่างกาย อย่างใกล้ชิด

 

ทุกๆ วันเจ้าตัวยังคงยืนยันว่า สิ่งที่ทำวันนี้ ไม่สามารถรับรองได้ว่า ช้างจะไม่ตกเหวนรก แต่ภาพความจริง จุดบริการนักท่องเที่ยวเหวนรก ขวางทางช้างเดินมาตั้งแต่ก่อสร้างวันแรก โดยขาดงานวิจัยมาก่อน ทั้งนี้หากรื้อออกช้างก็จะมีพื้นที่เดินที่ปลอดภัย ถ่างออกมาจากเดิม 200 เมตร เป็น 500 เมตร

 

และการ “รื้อ” เท่านั้น ที่จะทำได้ อย่างน้อยก็เพื่อคืนเส้นทางช้างเดิน เพื่อเปิดทางให้ช้างได้เดินห่างจากปากเหวนรกมากที่สุด!

 

 

 

ชื่อ 'จืด' ใจเข้ม สู้เพื่อช้าง หรือสู้กับช้าง?

 

 

 

วันนี้ 19 ตุลาคม 2562 เป็นวันที่ 9 ของการปักหลักประท้วงที่หน้าอุทยานเขาใหญ่ ดูในเฟซบุ๊กของเขา ยังมีรอยยิ้มได้อยู่

 

เขาบอกว่า ยังแข็งแรง มั่นคง ในข้อเรียกร้อง ที่รอการตัดสินสินใจจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อไป

 

เพราะเรื่องนี้ต้องจบ ช้างต้องไม่ตายแบบนี้อีก!

 

************************

 

ภาพจากเฟซบุ๊ก จืด เข็มทอง

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ