คอลัมนิสต์

ฟัง บิ๊กตู่ แจกแจงงบประมาณปี 63 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฟัง บิ๊กตู่ แจกแจงงบประมาณปี 63 

 

 

 

          เริ่มขึ้นแล้วสำหรับการแถลงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งงานนี้ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างยกข้อมูลมาหักล้างกันอย่างเผ็ดร้อน และไฮท์ไลท์สำคัญคงหนีไม่พ้นการแถลงงบประมาณแต่ละกระทรวงของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โดยนายกฯ ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงในการแจกแจงที่มาที่ไปของวงเงินงบประมาณที่เทลงไปให้แต่ละกระทรวง

 

 

          ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีการตั้งงบประมาณเป็นจำนวนไม่เกิน 3.2 ล้านล้านบาท โดยสิ่งที่รัฐบาลนำเสนอมีวัตถุประสงค์เพื่อให้งบประมาณของแผ่นดินเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ และนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลให้ประสบความสำเร็จ เป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ทั้งนี้เป้าหมายของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อให้การพัฒนาประเทศก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยรัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนว่า กระทรวงและหน่วยรับงบประมาณต่างๆ จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการพัฒนาและการจัดสรรทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

 

 

ฟัง บิ๊กตู่ แจกแจงงบประมาณปี 63 

 

 


          อย่างไรก็ตามสำหรับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่คณะรัฐมนตรี นำเสนอ มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3.2 ล้านล้านบาท เป็นการดำเนินนโยบายแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีก จำนวน 469,000 ล้านบาท โดยวงเงินงบประมาณดังกล่าวจำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,392,314.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 74.8 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน จำนวน 655,805.7 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20.5 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 62,709.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.9 ของวงเงินงบประมาณ และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 89,170.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.8 ของวงเงินงบประมาณซึ่งอยู่ภายในกรอบวินัยการเงินการคลัง

 

          "สาระสำคัญของงบประมาณ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำแนกตามกลุ่มงบประมาณรายจ่ายที่กำหนดในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี คือ งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 518,770.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 16.2 ของวงเงินงบประมาณ ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของบุคลากรภาครัฐ จำนวน 415,770.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเงิน เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐเงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ เงินสำรอง เงินสมทบและเงินชดเชยของข้าราชการ เงินสมทบลูกจ้างประจำ และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ

 





          สำหรับงบประมาณอีกจำนวน 103,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.2 ของวงเงินงบประมาณ ได้สำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐการเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจาก ภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง และภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ รวมทั้งส่งเสริมและเผยแพร่ประสบการณ์และองค์ความรู้ ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอาชีพงานก่อสร้าง


          ส่วนงบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 1,131,765.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 35.4 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณตามกฎหมายจัดตั้งและตามที่ได้รับมอบหมายในเชิงนโยบายที่ต้องการผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน, งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 235,091 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 7.3 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อดำเนินงานเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องมีการวางแผนและบริหารจัดการในภาพรวมของประเทศได้แก่ การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้, การป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด, การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต, การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว, การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ, การพัฒนาพื้นที่ระดับภาค

 

ฟัง บิ๊กตู่ แจกแจงงบประมาณปี 63 

 


          นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์, การพัฒนาผู้ประกอบการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล, เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก, การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้, การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย, การพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก, การจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม, การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ, การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ


          ส่วนงบประมาณรายจ่ายบุคลากร รัฐบาลได้ จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 777,267.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.3 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการบุคลากรภาครัฐ ไม่รวมค่าใช้จ่ายตามสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของบุคลากรภาครัฐที่กำหนดไว้ในงบกลาง จำนวน 415,770.9 ล้านบาท ขณะที่งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 272,127.1 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.5 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 89,170.4 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จำนวน 182,956.7 ล้านบาท ส่วนงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 62,709.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.9 ของวงเงินงบประมาณ


          ขณะเดียวกันในส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำแนกตามยุทธศาสตร์จำนวน 6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ โดยยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 428,190.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.4 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีความสุข ประเทศชาติมีความมั่นคงโดยมุ่งเน้นการปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ การสร้างความมั่นคงความปลอดภัย และความสงบสุขของประเทศ การสร้างบทบาทของไทยในอาเซียนและเวทีโลก รวมทั้ง ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการป้องกัน ปราบปรามและบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ยืนยันว่างบประมาณดังกล่าวไม่ใช่อยู่ที่แต่ส่วนของกระทรวงกลาโหมเพียงอย่างเดียว โดยจำแนกตามแผนงาน"


          1.การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ งบประมาณทั้งสิ้น 5,351.9 ล้านบาท 2.การรักษาความสงบภายในประเทศ งบประมาณทั้งสิ้น 34,774.2 ล้านบาท โดยเสริมสร้างความปรองดองภายในชาติ และการรักษาความสงบเรียบร้อย สร้างความมั่นคงด้านอาชีพและรายได้ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


          3.การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ งบประมาณทั้งสิ้น 10,865.5 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีความปลอดภัยทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน มีเป้าหมายในการลดเหตุรุนแรงในพื้นที่ลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 โดยเพิ่มประสิทธิภาพงานข่าวกรองและบูรณาการฐานข้อมูลความมั่นคง ให้สามารถตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพการศึกษา


          4.การจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ งบประมาณทั้งสิ้น 539.2 ล้านบาท 5.การป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษา ผู้ติดยาเสพติด งบประมาณทั้งสิ้น 5,319.1 ล้านบาท โดยจัดให้มีกลไกสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกัน แก้ไขปัญหา และช่วยเหลือประชาชนจากภัยยาเสพติดอย่างเป็นระบบ 6.การพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ งบประมาณทั้งสิ้น 88,718.4 ล้านบาท โดยพัฒนาระบบและแผนเตรียมความพร้อมแห่งชาติให้มีความทันสมัย และปฏิบัติได้จริง หน่วยงานด้านการข่าวและประชาคมข่าวกรองมีประสิทธิภาพจัดหายุทโธปกรณ์ที่จำเป็นเพียงพอ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกัน และรักษาผลประโยชน์ของชาติ


          7.การพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติและระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ งบประมาณทั้งสิ้น 9,350.5 ล้านบาท โดยเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือและป้องกันบรรเทาสาธารณภัยและภัยพิบัติให้ได้ตามมาตรฐาน พัฒนาระบบเตือนภัยให้มีความแม่นยำและครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีความพร้อมในการสนับสนุนความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดภัยพิบัติ 8.การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง งบประมาณทั้งสิ้น 15,324.4 ล้านบาท


          9.การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ งบประมาณทั้งสิ้น 5,803.1 ล้านบาท โดยเน้นการขับเคลื่อนภารกิจเชิงรุกด้านการต่างประเทศอย่างสร้างสรรค์ในทุกมิติ 10.การสนับสนุนด้านความมั่นคง งบประมาณทั้งสิ้น 1,574.6 ล้านบาท โดยการบริหารจัดการสภาวะแวดล้อมของประเทศ ให้มีความมั่นคง ปลอดภัย มีเอกราช อธิปไตย และมีความสงบเรียบร้อย มุ่งเน้นการพัฒนาคน


          11.การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง งบประมาณทั้งสิ้น 56,569. 7ล้านบาท โดยการสร้างความพร้อมด้านการป้องกันประเทศ การดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีและความร่วมมือในการดำเนินงานด้านความมั่นคงระหว่างประเทศไทยกับมิตรประเทศ และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง งบประมาณทั้งสิ้น 194,000 ล้านบาท


          ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวน 380,803.1 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.9 ของวงเงินงบประมาณเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการขยายตัว อย่างยั่งยืน สมดุลและมีเสถียรภาพ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์พัฒนาเขตพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกและเขตเศรษฐกิจพิเศษ การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว การพัฒนาผู้ประกอบการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล


          ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวน 571,073.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 17.8 ของวงเงินงบประมาณ


          ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 765,209.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 23.9 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
     

          ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 118,700.2 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.7 ของวงเงินงบประมาณ โดยการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจภาคทะเลให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ปัญหาหมอกควันและไฟป่า


          ขณะที่ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวน 504,686.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.8 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐสมัยใหม่ให้มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส รับผิดชอบและตรวจสอบได้


          ทั้งนี้รายการค่าดำเนินการภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้จำนวน 431,336.6 ล้านบาทหรือร้อยละ 13.5 ของวงเงินงบประมาณ สำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ รายจ่ายงบกลาง จำนวน 96,500 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรงและภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ ตลอดจนชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอาชีพงานก่อสร้าง


          ส่วนการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 272,127.1 ล้านบาท เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 89,170.4 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จำนวน 182,956.7 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐให้เกิดเสถียรภาพทางการคลังและการเงิน รวมทั้งการรักษาวินัยทางการคลัง รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 62,709.5 ล้านบาท เพื่อเป็นรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังที่ได้จ่ายไปแล้ว


          ส่วนการใช้จ่ายงบกลาง ประกอบด้วย เงินเบี้ยหวัด เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินเดือนข้าราชการ เงินสำรองสมทบและชดเชยของข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ ถามว่า กฎหมายระบุไว้ตรงนี้ งบต่างๆ เหล่านี้ต้องใช้งบกลาง ถ้างบกลางมี 5 แสนกว่าล้าน แต่งบเหล่านี้ใช้ไป 4 แสนกว่าล้านแล้ว ท่านจะไม่ให้เขาหรือ ส่วนที่เหลือ 1 แสนกว่าล้าน ไม่ใช่นายกฯ อนุมัติโครมๆ หรือให้ๆ ยืนยันว่าไม่มี ผมไม่เคยอนุมัติให้แบบนี้ การใช้งบกลาง ต้องทำแผนงานโครงการขึ้นมา แล้วพิจารณาในครม. ผมอนุมัติเองไม่ได้


          "ทั้งนี้เงินในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ 100 ล้านบาท เอาไปจังหวัดนี้ เขาขอก็ให้ไป แต่ก็ต้องบริหารให้อยู่ทางโน้น การใช้จ่ายงบกลางเป็นแบบนี้ ขอให้เข้าใจด้วย งบเร่งด่วนน้ำท่วมอะไรต่างๆ เหล่านี้ เรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หลายคนก็มีผมได้ยินแวบๆ เมื่อกี้นี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนไม่รู้หรือฝันก็ไม่รู้” นายกฯ กล่าว


          “ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สมาชิกผู้ทรงเกียรติจะให้การสนับสนุน ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้เพื่อที่รัฐบาลจะยึดถือเป็นหลักในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์แก่ชาติและประชาชนต่อไป ผมก็หวังอย่างยิ่งว่าทุกท่านคงให้ความเห็นชอบ ก็แล้วแต่ท่านจะพิจารณา แต่กรุณาดูทั้งหมด กรุณาศึกษารายละเอียด ท่านศึกษามาอยู่แล้ว แต่อย่าศึกษาเฉพาะประเด็นที่จะสร้างความไม่เข้าใจต่อกัน ผมหวังว่าจะมีอะไรที่เป็นประโยชน์ ที่รัฐบาลจะสามารถทำงานให้ท่านได้ ผมต้องการแบบนั้น ตรงนั้นตรงนี้เป็นอย่างไรก็สอบถามกันมาได้หรือไม่ แทนที่จะมาว่ากันไปกันมามันไม่เกิดประโยชน์”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ