คอลัมนิสต์

วินิจฉัยว่ากระทำละเมิด : ต้องมีพฤติการณ์ที่ชัดเจน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วินิจฉัยว่ากระทำละเมิด : ต้องมีพฤติการณ์ที่ชัดเจน คอลัมน์... เรื่องน่ารู้วันนี้...กับคดีปกครอง  โดย... นายปกครอง

 

 

 

          เรื่องน่ารู้วันนี้...กับคดีปกครอง เป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นฟ้องหน่วยงานต้นสังกัดต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้ตนรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เนื่องจากตนมิได้เป็นผู้ที่กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก (บุคคลที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมาย)

 

 

          โดยมูลเหตุของคดีนี้เกิดจาก... ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถูกกล่าวหาว่าทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนถึงแก่ชีวิต จึงมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และหน่วยงานต้นสังกัดได้มีคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคืนแก่ทางราชการที่ได้ชดใช้ให้แก่ภรรยาและบุตรของนายยีผู้เสียชีวิตดังกล่าวตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง (ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539) ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์คำสั่งแต่ถูกยกอุทธรณ์


          ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือร่วมกับเจ้าหน้าที่อื่นกระทำการใดที่ผิดกฎหมายต่อนายยีผู้ตาย คำสั่งที่ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้เงินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว


          ประเด็นที่ศาลพิจารณาคือคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่? ซึ่งต้องพิจารณาให้ได้ความว่าผู้ฟ้องคดีมีส่วนเกี่ยวข้องในการทำให้นายยีเสียชีวิตหรือไม่?


          ศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้จากรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดว่า เจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันตรวจค้นจับกุมและควบคุมตัวนายยีกับพวกรวม 6 คน และในวันต่อมา เวลาประมาณ 21.00 น. ผู้ฟ้องคดีได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่อื่นทำการสอบสวนซักถามนายยอมผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับรายหนึ่ง จนถึงเวลาประมาณ 23.30 น. ก็ได้นำตัวนายยอมกลับไปควบคุมไว้เช่นเดิม แล้วผู้ฟ้องคดีก็กลับที่พัก และในเวลาใกล้เคียงกัน 21.30 น. ก็ได้มีเจ้าหน้าที่อื่นนำตัวนายยีไปซักถาม จนเวลาประมาณ 22.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่อีกคนไปสอบสวนซักถามนายยี ซึ่งไม่ให้ความร่วมมือในการตอบคำถาม จึงมีการทะเลาะและทำร้ายร่างกายกันและนายยีได้เสียชีวิต




          เห็นได้ว่า ขณะที่ผู้ฟ้องคดีได้ซักถามผู้ต้องสงสัยรายอื่น เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับที่เจ้าหน้าที่อื่นได้นำตัวนายยีออกจากที่ควบคุมตัวมาทำการซักถาม แต่แยกกันคนละสถานที่ และไม่ปรากฏว่าหลังจากนั้น ผู้ฟ้องคดีได้ไปร่วมซักถามหรือทำร้ายร่างกายนายยี จึงรับฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้ซักถามผู้ต้องสงสัยรายอื่น โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมซักถามหรือทำร้ายร่างกายนายยีด้วยแต่อย่างใด 


          ประกอบกับศาลจังหวัดได้มีคำสั่งเพียงว่านายยีเสียชีวิตเนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ได้ระบุว่าผู้ฟ้องคดีเป็นคนทำร้าย จึงน่าเชื่อว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้ทำร้ายร่างกายหรือมีส่วนร่วมในการทำร้ายร่างกายนายยีจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย อีกทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ฟ้องคดีมีเจตนาร่วมกับเจ้าหน้าที่อื่นทำร้ายร่างกายนายยีจนถึงแก่ชีวิต ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อนายยี ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 


          ดังนั้น แม้ว่าหน่วยงานของรัฐจะได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่มีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีชำระเงินดังกล่าวได้ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เนื่องจากเมื่อศาลพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้ว ฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีมิได้กระทำละเมิดเพราะมิได้มีส่วนร่วมทำให้นายยีเสียชีวิต คำสั่งที่ให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีผลทำให้คำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.56/2562)


          สรุปได้ว่า พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ให้อำนาจหน่วยงานของรัฐออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อเมื่อ 1) ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบุคคลภายนอกนั้น เป็นผลมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้นั้น 2) เป็นการกระทำละเมิดในปฏิบัติหน้าที่ และ 3) เป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง


          ทั้งนี้ในการพิจารณาให้เจ้าหน้าที่รับผิดทางละเมิดนั้น จะต้องมีความเป็นธรรม โดยต้องพิจารณาข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่มีความชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นมีส่วนร่วมหรือมีส่วนในการกระทำละเมิดจริงหรือไม่ เช่นในคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าแม้ผู้ฟ้องคดีจะอยู่ในชุดเจ้าหน้าที่ที่ทำการสอบสวนผู้เสียชีวิต แต่ผู้ฟ้องคดีมิใช่เจ้าหน้าที่ที่กระทำละเมิดต่อผู้เสียชีวิตโดยตรง จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 


          นอกจากนี้คดีดังกล่าว ยังเป็นอุทาหรณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหา ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่อาจใช้กำลังทำร้ายร่างกายตามอำเภอใจได้ เพราะไม่ว่าผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา หรือผู้ต้องโทษ ก็ย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายเช่นกัน


          (ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ