คอลัมนิสต์

46 ปี 14 ตุลาฯ ตอกย้ำหลักนิติรัฐ-นิติธรรม ในปชต.ไทยๆ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

46 ปี 14 ตุลาฯ ตอกย้ำหลักนิติรัฐ-นิติธรรม ในปชต.ไทยๆ โดย...  เกศินี แตงเขียว

 

 

 

          วาระครบ “46 ปี 14 ตุลาฯ 2516” มูลนิธิ 14 ตุลาฯ ได้จัดงานรำลึกเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ 16 แยกคอกวัว ซึ่งช่วงสายได้จัดปาฐกถา 14 ตุลาฯ ประจำปี 2562 หัวข้อ “นิติรัฐและนิติธรรม กับระบอบประชาธิปไตยไทย” 

 

 

          “รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ” อดีตรองคณบดีนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ขึ้นปาฐกถาหัวข้อดังกล่าว โดยเกริ่นนำว่า การได้รับเชิญมาพูดในหัวข้อวันนี้ คงหนีไม่พ้นประเด็นว่า นิติรัฐ-นิติธรรม ที่เป็นคำใหม่ในรัฐธรรมนูญ หมายความว่าอย่างไร มีพัฒนาการอย่างไร และเราจะเดินหน้ากันต่อไปภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่เราเรียกว่าระบอบประชาธิปไตยไทยนั้นภายใต้นิติรัฐ-นิติธรรมอย่างไร


          ซึ่งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ พลังของประชาชนนิสิตนักศึกษา คนที่มีความคิดก้าวหน้าร่วมกันผลักดันประเทศของเราให้ก้าวไปข้างหน้าตลอดระยะเวลา 40 กว่าปี แม้จะล้มลุกคลุกคลานบ้าง ผ่านการยึดอำนาจรัฐประหาร แต่หากดูภาพรวมแล้วไม่ว่าจะยึดอำนาจรัฐประหารกี่ครั้งก็ตาม สิ่งที่วีรชน 14 ตุลาฯ ทั้งที่จากไปแล้วและที่ยังมีชีวิตได้ใฝ่ฝันแสวงหาและต่อสู้ให้ได้มานั้นก็กำลังก่อรูปก่อร่างทำให้เห็นชัดมากขึ้นทุกวัน สมกับปณิธานของคนรุ่น 14 ตุลาฯ ที่ว่าคนเหล่านั้นพร้อมโถมตัวเป็นเม็ดทรายเพื่อจะก่อถนนเส้นใหม่ให้ประเทศไทย แม้จะเป็นถนนที่ถมลงไปในท้องทะเลที่มืดมิดก็ตามแต่สักวันเส้นทางนั้นจะปรากฏให้เห็น

 

 

 

46 ปี 14 ตุลาฯ ตอกย้ำหลักนิติรัฐ-นิติธรรม ในปชต.ไทยๆ

 


          ขณะที่การปาฐกถาได้เริ่มต้นประเด็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ว่า ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้วางหลักการพื้นฐานที่ถือว่าจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้คือในมาตรา 1 บัญญัติว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกันจะแบ่งแยกไม่ได้ที่ทำให้เราระลึกถึงการต่อสู้เพื่อเอกราช ประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งไม่ใช่เพียงความคิดของวีรชน 14 ตุลาฯ แต่ยังเป็นความพยายามของบรรพบุรุษที่ตกทอดกันมาในสังคมไทยนับตั้งแต่ร่วมกันกอบกู้เอกราชจากการยึดครองของพม่ามาตั้งเป็นกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้ต่อต้านอำนาจที่ครอบงำบ้านเมืองอยู่ในเวลานั้นอย่างจริงจังเพื่อจะนำมาซึ่งหลักความเป็นเอกราชของบ้านเมือง และยังมีพลเมืองที่อาสาเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 เพื่อให้การปกครองบ้านเมืองเป็นไปภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีการรักษาและจารึกไว้รัฐธรรมนูญว่าเราเป็นประเทศเอกราชที่เป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกันและจะแบ่งแยกมิได้




          ขณะที่มาตรา 2 บัญญัติไว้ว่า ประเทศไทยปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลักการนี้ก็มีพัฒนาการโดยที่เห็นเด่นชัดมากขึ้นคือพระมหากษัตริย์กับประชาชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวสมานสามัคคีกัน ในฐานะที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มาจากการรับรู้และร่วมใจนับถือด้วยความเชื่อว่าเป็นที่รวมจิตใจ เป็นผู้ที่เสริมสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นบนแผ่นดินนี้ หลักนี้คือหลักราชประชาสมาสัย 14 ตุลาฯ ที่ประชาชนและพระมหากษัตริย์มีส่วนร่วมกันเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในปัจจุบันซึ่งมีพัฒนาเป็นลำดับมา


          ส่วนมาตรา 3 กล่าวถึงอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ รัฐสภา ครม. ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักนิติธรรมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยข้อความในมาตรา 3 นั้นได้บัญญัติรับรองกันไว้ตั้งแต่ปี 2475 และที่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นก็เป็นลักษณะพิเศษของรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ซึ่งจะแตกต่างกับในต่างประเทศที่บัญญัติ


          ขณะที่มาตรา 4 ซึ่งเป็นของใหม่ ในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง ยังจำเป็นต้องอาศัยพลังของคนที่รู้และเข้าใจและมุ่งมั่นผลักดันให้เป็นจริงในฐานะหลักการใหญ่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน


          และในมาตรา 5 กำหนดว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ การกระทำใดๆ ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญเป็นอันใช้ไม่ได้ โดยหลักการในมาตราเหล่านี้ก็สืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2475 กระทั่งมีการเกิดขึ้นของศาลรัฐธรรมนูญภายใต้ความคิดที่ว่ารัฐธรรมนูญต้องบังคับได้จริง รัฐธรรมนูญไม่ใช่เพียงเอกสารที่แสดงแนวทางการปกครองประเทศ หรือแสดงความหวัง หรืออุดมคติเท่านั้น จึงมีองค์กรที่ออกมารองรับการใช้รัฐธรรมนูญ 

 

 

 

46 ปี 14 ตุลาฯ ตอกย้ำหลักนิติรัฐ-นิติธรรม ในปชต.ไทยๆ

 


          ทั้งนี้ในวรรคท้ายของมาตรา 5 ยังระบุว่าเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยหลักการที่ว่าเมื่อเกิดวิกฤติขึ้นหรือมีเหตุการณ์ที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้ว่าจะทำอย่างไร ก็ให้ดำเนินการตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยนั้น 


          หากย้อนในประวัติศาสตร์ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่พระมหากษัตริย์มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เป็นการใช้พระราชอำนาจในยามวิกฤติที่เราควรทำความเข้าใจว่ามีความสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญ


          ส่วนความหมายนิติรัฐ-นิติธรรม “รศ.ดร.กิตติศักดิ์” กล่าวว่า กำเนิดของหลักนิติธรรม หรือ Rule of Law การปกครองแห่งกฎหมาย ส่วนนิติรัฐเป็นคำที่มาจากภาษาเยอรมัน แปลตรงๆ คือ State of Law หรือรัฐที่กฎหมายเป็นสิ่งสูงสุด ความสูงสุดของกฎหมายหรือหลักนิติธรรม หรือหลักการปกครองโดยธรรม หรือหลักการปกครองโดยถือกฎหมายเป็นใหญ่ หรือหลักนิติรัฐ หลักรัฐแห่งกฎหมายนั้น เป็นหลักการพื้นฐานที่ยืนยันว่าอำนาจปกครองย่อมมีได้จำกัดตามกฎหมาย โดยถือได้ว่าเป็นหลักของระบบกฎหมายในประเทศที่เจริญแล้ว ซึ่งหลักนี้มีขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิ-เสรีภาพของบุคคล กำเนิดขึ้นจากผลพวงวิวัฒนาการทางกฎหมายที่อดีตเคยมีการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจในฝั่งตะวันตก


          ขณะที่ “รศ.ดร.กิตติศักดิ์” กล่าวถึงสังคมไทยโบราณว่าเคยถือหลักตามคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ที่ว่าพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะเป็นผู้รู้ธรรม เป็นผู้ชี้ขาดข้อคดีทั้งปวงด้วยพระสติ พระปัญญา ที่ทำด้วยความเที่ยงธรรม ปราศจากอคติ โดยพระมหากษัตริย์ในคติแบบไทยแต่โบราณไม่ใช่เป็นผู้บัญญัติกฎหมายขึ้นตามพระราชหฤทัยแต่เป็นเพียงผู้แสดงออกว่ากฎหมายนั้นแท้จริงมีอยู่อย่างไรตามหลักธรรมอันดำรงอยู่ ตามเหตุ ตามปัจจัยหรือตามเหตุผลของเรื่องเท่านั้น โดยผู้พิพากษาตุลาการรวมทั้งหมู่มุขมนตรี (หัวหน้าฝ่ายบริหาร) มีหน้าที่ต้องตัดสินความและกระทำการเพื่อให้สอดคล้องกับหลักนี้ 


          สำหรับหลักนิติธรรมในประเทศไทยก็สอดคล้องกับหลักที่รับรู้กันในประเทศตะวันตกว่ากฎหมายเป็นสิ่งสูงสุดและการปกครองต้องถือกฎหมายเป็นใหญ่ ซึ่งหลักนี้รับรู้มาตามรูปแบบคำสอนของอาจารย์สอนกฎหมายในประเทศอังกฤษตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ว่าหลักนิติธรรมเป็นเรื่องแสดงความสามารถในการปกครองตนเองของชาติที่เจริญแล้ว และเป็นหลักการปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่ที่มีสาระสำคัญว่าการปกครองต้องปกครองโดยกฎหมายไม่ใช่โดยอำเภอใจ หรือโดยดุลพินิจของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง 


          การที่กฎหมายจะเป็นใหญ่ได้นั้น ต้องประกอบด้วยหลักประกัน 1.ต้องไม่มีผู้ใดได้รับโทษ หรือผลร้ายใดๆ จากรัฐหากผู้นั้นไม่ได้ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน 2.บุคคลทุกคนย่อมเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย 3.ศาลเป็นผู้มีอำนาจที่เป็นอิสระเป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาทว่ากฎหมายมีว่าอย่างไร 


          การปาฐกถาของ “รศ.ดร.กิตติศักดิ์” ได้กล่าวถึงข้อคิดในตอนท้ายว่า อำนาจที่แท้จริงคือความเห็นร่วมกันที่คนทั้งหลายยอมเคารพและเชื่อฟัง หลัง 14 ตุลาฯ ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญ การใช้อำนาจตามอำเภอใจลดน้อยถอยลง 


          แต่อำนาจตามอำเภอใจทางเศรษฐกิจมีมาก ต้องไม่ให้ทุนใหญ่ใช้อำนาจตามอำเภอใจได้ ให้ประชาชนต่อรองควบคุมการใช้อำนาจผูกขาด ซึ่งขอให้รำลึกถึงเจตนารมณ์ 14 ตุลาฯ เพื่อให้กฎหมาย เหตุผลเป็นใหญ่ ด้วยความร่วมมือกัน

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ