คอลัมนิสต์

เตรียมรับมือ ไวรัสอหิวาต์หมู ...ไทยต้านได้อีกแค่ 3 เดือน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เตรียมรับมือ ไวรัสอหิวาต์หมู ...ไทยต้านได้อีกแค่ 3 เดือน โดย...   ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

 

 

          “ไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในหมู” ระบาดไปแล้ว 30 ประเทศทั่วโลก รวมถึงเพื่อนบ้านล้อมรอบไทย ทั้งเวียดนาม พม่า ลาว กัมพูชา คำถามคือ...ฟาร์มหมูไทยจะรอดจากไวรัสตัวร้ายนี้ได้อีกนานเท่าไร !?!.. ปัจจุบันธุรกิจค้าขาย “หมู” ในไทยมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 2 แสนล้านบาท คนไทยเลี้ยงหมู 1.8 แสนราย ผลิตสุกรได้ประมาณปีละ 15 - 20 ล้านตัว สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำคือ วางแผนหาวิธีเยียวยารับมือผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้น ส่วนแผนป้องกันคงไม่ทันแล้ว ทำได้แค่ให้ “เสียหายน้อยที่สุด”

 

 

          ตั้งแต่ปี 2561 วงการธุรกิจฟาร์มหมูเอเชีย ได้รับแจ้งเตือนจากฝั่งยุโรปว่า “โรค ASF” หรือ “โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร” (African swine fever) กำลังจะแพร่ระบาดไปถึง จากนั้นไม่นานจีนรายงานพบเชื้อตัวนี้ในหลายมณฑลด้วยกัน รัฐบาลจีนออกคำสั่งฆ่าหมูไปเกือบแสนตัว แต่ไม่สามารถหยุดยั้งได้ จนถึงปีนี้ต้องฆ่าหมูไปแล้วกว่า 1.1 ล้านตัว ระหว่างนั้นเชื้อก็แพร่จากจีนไปยังเวียดนาม เดือนมิถุนายน 2562 เวียดนามประกาศกำจัดหมูไปแล้วกว่า 2.5 ล้านตัว ราคาเนื้อหมูพุ่งขึ้นไป 3 เท่า

 

 

เตรียมรับมือ ไวรัสอหิวาต์หมู ...ไทยต้านได้อีกแค่ 3 เดือน

 

 


          เชื้อนี้พบระบาดครั้งแรก​ปี 2464 ที่ “ประเทศเคนยา”​ ทวีปแอฟริกา กลายเป็นที่มาของชื่อ “โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร” ดีเอ็นเอไวรัสร้ายกาจตัวนี้ทนทานสูง อยู่ได้ในสภาพแวดล้อมนานกว่าไวรัสทั่วไป ​หากสุกรในฟาร์มติดเชื้อ จะมีอาการไข้สูง อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด และตายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 3-4 วัน และถ้าเลือดของสุกรที่ติดเชื้อไวรัสตกค้างในดินหรือสิ่งแวดล้อมอื่นๆ จะอยู่ได้ 1 เดือน ถ้าเป็นซากสัตว์อยู่ได้ 3​ เดือน แต่ถ้าเอาเนื้อหมูติดเชื้อไปแปรรูปเป็นไส้กรอก หมูยอ หมูแห้ง ฯลฯ จะยิ่งอยู่ได้​ไม่ต่ำกว่า 1​ ปี


          โรคนี้ไม่ทำอันตรายต่อคน แต่คนเป็นตัวการสำคัญในการแพร่เชื้อนี้ไปยัง “หมู” เพราะการทิ้งเศษอาหารประเภทเนื้อหมูแปรรูป เช่น กรณีนักท่องเที่ยวทิ้งไส้กรอกหมูรมควันลงถังขยะ หรือตามห้างสรรพสินค้าที่นำเศษอาหารจากร้านต่างๆ หรือที่นักท่องเที่ยวโยนทิ้งมาเทรวมกันใส่ถังใหญ่ แล้วมีคนรับจ้างเอา “ถังเศษอาหารรวมมิตร” ไปส่งขายให้ฟาร์มหมู ทำให้การป้องกันไม่ให้มีเศษกุนเชียง ไส้กรอก หมูยอ ฯลฯ จากนักท่องเที่ยวจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้

 

 

 

เตรียมรับมือ ไวรัสอหิวาต์หมู ...ไทยต้านได้อีกแค่ 3 เดือน

 



          วงการฟาร์มสุกรของไทย พยายามเตือนให้ระวังเชื้อไวรัสตัวนี้จากอาหารแปรรูปเนื้อหมูที่นักท่องเที่ยวนำเข้ามา !

          เดือนกันยายน 2562 องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) รายงานพบการระบาดแล้วประมาณ 30 ประเทศทั่วโลก ทั้งในยุโรป แอฟริกา เอเชีย รวมถึงเวียดนาม ลาว กัมพูชา ที่ผ่านมา “จีน” ถูกโจมตีว่าเป็นต้นตอการระบาด เพราะวิธีกำจัดและการขนส่งเคลื่อนย้ายหมูที่ติดโรคไม่เข้มงวดพอ ทำให้แพร่ระบาดไปประเทศอื่น


          เนื่องจากการกำจัดเชื้อ “ASF​” ต้องใช้ความร้อน​ 60 องศา นาน 30 นาที หรือพ่นยาฆ่าเชื้อต่อเนื่องในฟาร์มหมูถึง 180 วัน และห้ามเลี้ยงหมูอีกอย่างน้อย 2 ปี เกษตรกรต้องพยายามดิ้นรนหาทางลดการขาดทุนจากหมูตาย ซ้ำร้ายปัจจุบัน​ยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน แม้นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มพยายามทดลองผลิตยาต้านไวรัส​และวัคซีน เช่น​ จีน อเมริกา สเปน อังกฤษ เกาหลีใต้​ แต่ไม่รู้จะประสบความสำเร็จเมื่อไร


          วันที่ 16 กันยายน 2562 มีรายงานข่าวโรคระบาดในฟาร์มสุกรหลายพื้นที่แถวเชียงราย ทำให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ต้องรีบเข้าไปควบคุมกำจัดและฝังกลบสุกรกว่า 200 ตัว พร้อมเก็บตัวอย่างไปตรวจสอบพิสูจน์ว่าเป็นเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกรหรือไม่


          อะไรเป็นสาเหตุให้เชื้อไวรัสนี้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว แม้รัฐบาลแต่ละประเทศจะพยายามใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด สั่งกำจัดหมูติดโรคทันทีประเทศละหลายล้านตัว แต่ก็ควบคุมไม่ได้ ยังคงแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่นอย่างต่อเนื่อง ?


          สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านดูแลควบคุมฟาร์มสุกร อธิบายให้ทีมข่าว “คมชัดลึก” ฟังว่า ฟาร์มเลี้ยงหมูแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ “ฟาร์มแบบเปิด” มักมีขนาดเล็กหรือขนาดกลางเป็นของชาวบ้านทั่วไป กับ “ฟาร์มแบบปิด” มีขนาดใหญ่เป็นของบริษัทหรือนายทุน ซึ่งฟาร์มแบบชาวบ้านมักใช้นิยมซื้อ “ถังเศษอาหารรวมมิตร” มาให้สุกรในฟาร์มกิน และยากที่จะควบคุมไม่ให้มีส่วนประกอบจาก กุนเชียง หมูยอ หรืออาหารแปรรูปที่ทำมาจากเนื้อหมู แตกต่างจากฟาร์มหรือเล้าหมูขนาดใหญ่ที่นิยมใช้ “อาหารเม็ดสำเร็จรูป” และมีการควบคุมสิ่งแวดล้อมแบบปิดมิดชิด ทำให้เชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไปได้ยาก พร้อมกล่าวต่อว่า


          "ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะควบคุมฟาร์มเล็กๆ เพราะที่จีนแม้รัฐบาลสั่งฆ่าหมูติดโรคแล้วให้ฝังกลบ แต่ก็มีเจ้าของฟาร์มจำนวนหนึ่งรู้สึกเสียดาย แอบเอาเนื้อหมูเหล่านั้นมาแปรรูปเป็นอาหารส่งขายให้ผู้บริโภค แน่นอนว่าคนซื้อกินเข้าไปไม่เป็นไร แต่กินแล้วเหลือเศษทิ้งในถังขยะ มีคนเก็บขยะรวบรวมไปให้ฟาร์มหมูขนาดเล็ก เชื้อไวรัสตัวนี้ก็แพร่มาถึง หรือแม้แต่การฆ่าหมูตายแล้วทิ้งซากในแหล่งน้ำ คนตักน้ำมาใช้ในพื้นที่เกษตรหรือไร่นา สุดท้ายน้ำที่มีเชื้อไวรัสก็วนเวียนอยู่ในชุมชน ฟาร์มหมูก็ดึงน้ำไปใช้ด้วย ก็เลยติดเชื้อกันไปใหญ่ เหมือนมีข่าวลือว่าฝั่งพม่ากำจัดหมูป่วยโรคนี้ด้วยโยนทิ้งลงแม่น้ำแถวเขตชายแดน"

 

 

 

เตรียมรับมือ ไวรัสอหิวาต์หมู ...ไทยต้านได้อีกแค่ 3 เดือน

 


          ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นแนะนำต่อว่า ประเทศไทยคงยากที่จะป้องกันไม่ให้เชื้อตัวนี้เข้ามา สิ่งที่ทำได้คือพยายามวางแผนเตรียมรับมือร่วมกัน โดยเฉพาะชาวบ้านต้องไม่เสียดายหมูติดเชื้อ รีบฆ่าทิ้ง ไม่ส่งโรงเชือด และรีบฝังกลบทำความสะอาดฟาร์มอย่างน้อย 6 เดือน จึงจะเริ่มเลี้ยงใหม่ได้ รวมถึงการป้องกันไม่ใช้เศษอาหารมาเลี้ยงหมูในช่วงนี้ด้วย ส่วนภาครัฐก็ต้องช่วยเหลือเยียวยา ไม่ปล่อยให้ขาดทุนย่อยยับจนต้องแอบเอาซากหมูติดเชื้อไปขายกิน


          ในวันนี้กรมปศุสัตว์ประกาศให้เป็น “วาระแห่งชาติ” เรียบร้อยแล้ว โดยมีมาตรการรับมือเชิงรุกสั่งทุกด่านทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ตรวจเข้มห้ามนำเข้าสุกรทุกชนิด รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมูด้วยหวังสกัดกั้นไม่ให้เชื้อนี้ผ่านเข้ามาในไทย


          แต่ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านนี้ส่วนใหญ่เชื่อว่า ประเทศไทยคงผนึกกำลังต้านเชื้อตัวนี้ได้อีกไม่นาน คาดว่าไม่เกินสิ้นปี 2562 หรืออีกไม่เกิน 3 เดือน เชื้อ “โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร” คงระบาดถึงฟาร์มหมูไทย...ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำคือ การเตรียมงบประมาณเยียวยาเกษตรกรรายย่อยที่น่าจะได้รับผลกระทบหลายหมื่นฟาร์ม


          คงมีเพียงกลุ่มธุรกิจขาย “อาหารเม็ด” ที่ได้กำไรเพิ่มขึ้น หากเป็นไปได้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรรีบหาวิธีผลิตหรือช่องทางขาย “อาหารเม็ด” ราคาถูกให้ฟาร์มหมูขนาดเล็กใช้แทน “เศษอาหารรวมมิตร” และช่วยส่งเสริมให้เป็นฟาร์มมาตรฐาน


          ไม่ควรปล่อยให้ฟาร์มหมูของกลุ่มเจ้าสัวยักษ์ใหญ่ฉวยโอกาสนี้เข้าไปผูกขาดตลาดค้าขายหมูทั่วประเทศไทยเพียงกลุ่มเดียว !

 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ