คอลัมนิสต์

การลงโทษทางวินัยต้องเหมาะสมกับพฤติการณ์การกระทำผิด 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การลงโทษทางวินัยต้องเหมาะสมกับพฤติการณ์การกระทำผิด  คอลัมน์... เรื่องน่ารู้วันนี้...กับคดีปกครอง  โดย... นายปกครอง

 

 

 

          “ข้าราชการ รวมถึงลูกจ้างของส่วนราชการ” ต้องระมัดระวังความประพฤติของตน ทั้งในการปฏิบัติ “หน้าที่ราชการ” และ “เรื่องส่วนตัว” โดยไม่กระทำการใดที่สุ่มเสี่ยงทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งอาจเป็นความผิดวินัยฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงอันนำไปสู่การถูกลงโทษได้

 

 

          สำหรับโทษที่จะลงได้สำหรับการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ก็คือ ปลดออกและไล่ออก ส่วนโทษที่จะลงได้ในการกระทำความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงก็คือ ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน และลดเงินเดือน ส่วนลูกจ้างประจำของส่วนราชการ คือ ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ.2537 โดยข้อ 52 กำหนดว่าลูกจ้างประจำผู้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกได้


          ตามความร้ายแรงแห่งกรณี ... ทั้งนี้การพิจารณาพฤติการณ์การกระทำความผิดกับระดับโทษนั้นจะต้องมีความเป็นธรรมและเหมาะสมกันด้วย โดยจะพิจารณาตามข้อเท็จจริงรวมถึงพฤติการณ์ของการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นเป็นกรณีๆ ไปครับ....


          เรื่องน่ารู้วันนี้...กับคดีปกครอง เป็นกรณีที่ลูกจ้างประจำของกรมชลประทานถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมดำเนินคดีฐานร่วมกันเล่นการพนันไฮโลเอาทรัพย์สินกันโดยผิดกฎหมายและศาลมีคำพิพากษาลงโทษปรับ ต่อมาผู้บังคับบัญชาได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง และมีคำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการเนื่องจากเป็นการกระทำอันได้ชื่อว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงซึ่งถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยข้อ 52


          ประเด็นที่น่าสนใจในคดีนี้ก็คือพฤติการณ์การกระทำของลูกจ้างดังกล่าวถือเป็นการกระทำความผิดวินัยฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงหรือไม่? และการลงโทษปลดออกจากราชการเหมาะสมกับการกระทำความผิดดังกล่าวหรือไม่?




          ข้อเท็จจริงในคดีนี้มีว่า...ผู้ฟ้องคดีทั้งสามเป็นลูกจ้างประจำของกรมชลประทาน โดยผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ทำหน้าที่ในตำแหน่งรักษาอาคาร ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ทำหน้าที่ในตำแหน่งคนงาน ผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้ร่วมเล่นการพนันไฮโลกับผู้เล่นอื่นรวมจำนวน 11 คน ในวันหยุดโดยใช้สถานที่ราชการและถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวดำเนินคดี โดยผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้ให้การรับสารภาพและศาลแขวงมีคำพิพากษาลงโทษปรับคนละ 1,000 บาท


          ต่อมาอธิบดีกรมชลประทานได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีคำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีทั้งสามออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อ อ.ก.พ. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่ถูกยกอุทธรณ์ จึงได้ยื่นฟ้องอธิบดีกรมชลประทาน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และอ.ก.พ. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ต่อศาลปกครองขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีทั้งสามออกจากราชการ และมติที่ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี


          ศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยว่าเมื่อพิจารณาถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ฟ้องคดีทั้งสามที่เป็นเพียงลูกจ้างประจำ ไม่ได้มีหน้าที่ในการกวดขันการกระทำผิดกฎหมาย โดยมีหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลอาคารของหน่วยงาน ไม่ได้มีหน้าที่ติดต่อหรือบริการประชาชนโดยตรง และในการกระทำผิดไม่ได้เป็นเจ้ามือ เจ้าสำนักหรือเล่นการพนันเป็นอาจิณ และความผิดดังกล่าวได้กระทำนอกเวลาราชการมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ประกอบกับเมื่อพิจารณาแนวทางการลงโทษกรณีการกระทำความผิดลักษณะดังกล่าว ซึ่ง ก.พ. ในฐานะเป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของส่วนราชการต่างๆ ที่ได้รวบรวมแนวทางการลงโทษ ที่ปรับบทความผิดและกำหนดระดับโทษได้อย่างเหมาะสม ซึ่งกรณีการเล่นการพนันนั้นมีการลงโทษตัดเงินเดือนและลงโทษลดเงินเดือน การลงโทษผู้ฟ้องคดีทั้งสามจึงต้องคำนึงถึงระดับโทษที่ส่วนราชการอื่นลงโทษด้วย สำหรับแนวทางการลงโทษตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2546 ซึ่งถือเป็นเพียงคำแนะนำให้ส่วนราชการนำไปประกอบการพิจารณา และหาได้หมายความว่าข้าราชการผู้ใดกระทำผิดฐานเล่นการพนันแล้วจะต้องเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงทุกกรณี 


          ดังนั้นการกระทำของผู้ฟ้องคดีทั้งสามจึงยังไม่อาจถือได้ว่ากระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามข้อ 46 ของระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ.2537 แต่เป็นความผิดวินัยฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ตามข้อ 46 วรรคหนึ่ง ของระเบียบฉบับเดียวกัน ซึ่งผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งลงโทษให้เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดได้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 วินิจฉัยว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสามมีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงและลงโทษปลดออกจากราชการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย มติที่ยกอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน


          คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยวางแนวทางในการปฏิบัติราชการที่ดีสำหรับผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษทางวินัย โดยจะต้องกำหนดโทษให้เหมาะสมกับพฤติการณ์การกระทำความผิด โดยพิจารณาจากตำแหน่งหน้าที่ของข้าราชการหรือลูกจ้างแต่ละประเภท ประกอบกับความรู้สึกของสังคมที่มีต่อพฤติการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้จะต้องนำแนวทางการกำหนดโทษที่องค์กรกลางบริหารงานบุคคลของส่วนราชการนั้นๆ มาพิจารณาประกอบกันด้วยเพื่อให้การใช้ดุลพินิจลงโทษเป็นไปอย่างเหมาะสมสอดคล้องและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ... ครับ !


          (ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดของคดีได้จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 142/2559 และปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 รวมทั้งสืบค้นบทความเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ