คอลัมนิสต์

เส้นทาง กอ.รมน. แก้ปัญหาชาติ หรือเครื่องมือฝ่ายการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เส้นทาง กอ.รมน. แก้ปัญหาชาติ หรือเครื่องมือฝ่ายการเมือง โดย...   ปกรณ์ พึ่งเนตร

 

 

 

          ช่วงนี้ชื่อของ กอ.รมน. หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ถูกพูดถึงบ่อยครั้ง


          โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้กลไกของ กอ.รมน. เข้าแจ้งความดำเนินคดีแกนนำ 7 พรรคฝ่ายค้าน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม รวม 12 คน ที่ร่วมเวทีรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญที่ จ.ปัตตานี แล้วมีนักวิชาการไปหลุดข้อเสนอว่าจะแก้ไขมาตรา 1

 

 

 

          รัฐธรรมนูญมาตรา 1 อยู่ในบททั่วไป บัญญัติว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” เมื่อมีคนเสนอแก้ แถมพูดบนเวทีที่ปัตตานี ซึ่งมีการพูดเจือสมเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ถูกหลายฝ่ายตั้งคำถามว่าผู้เสนอต้องการให้ “แบ่งแยกประเทศ” หรืออย่างไร

 

 

 

เส้นทาง กอ.รมน. แก้ปัญหาชาติ หรือเครื่องมือฝ่ายการเมือง

 


          แม้คนเสนอจะมีคนเดียว เป็นนักวิชาการ แต่หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านหลายคนนั่งอยู่บนเวทีด้วย กลับไม่คัดค้าน ทั้งๆ ที่เคยประกาศมาตลอดว่าจะไม่แก้รัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 ว่าด้วย “บททั่วไป” และ “พระมหากษัตริย์” ทำให้ กอ.รมน.มองว่าน่าจะกระทบต่อความมั่นคงและสถาบันหลักของชาติ จึงส่ง พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ เป็นตัวแทนเข้าแจ้งความ


          งานนี้เล่นเอาฝ่ายค้านควันออกหู มีการแถลงข่าวโต้ แจ้งความกลับ และประกาศรื้อโครงสร้าง กอ.รมน. ท่ามกลางกระแสสนับสนุนจากนักวิชาการและนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่มีจุดยืนตรงข้ามกองทัพอยู่แล้ว


          หลายคนคงคุ้นหูกับชื่อ “กอ.รมน.” แต่อาจไม่ทราบความเป็นมาอันเนิ่นนาน และบทบาทภารกิจที่ชัดเจน วันนี้ “คมชัดลึก” มีคำตอบมาฝาก

 

 

 

เส้นทาง กอ.รมน. แก้ปัญหาชาติ หรือเครื่องมือฝ่ายการเมือง

 


          เดิมที กอ.รมน. มีชื่อเต็มว่า “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน” มีภารกิจปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ กฎหมายฉบับนี้มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2495 ให้อำนาจฝ่ายบริหารจัดตั้งองค์กรหรือหน่วยงานเพื่อเป็นกลไกในการจัดการปัญหาผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ นอกเหนือจาก “ผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” ที่ใช้โครงสร้างของฝ่ายปกครองเป็นหลัก


          โดยในบริบทงานความมั่นคง มีการจัดตั้ง กองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ หรือ กอ.ปค. ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น กอ.รมน.

 

 


          ในบริบทงานพัฒนา มีการจัดตั้ง กรป.กลาง หรือ กองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบ


          ทั้ง 2 กองอำนวยการนี้ มีกองทัพบกเป็นแกนหลัก และสานภารกิจต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดย กรป.กลาง เปลี่ยนชื่อเป็น หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา หรือ นทพ. อยู่ในสังกัดกองทัพไทย


          ส่วน กอ.รมน. เมื่อแก้ไขปัญหาคอมมิวนิตส์จบ หลังมีคำสั่ง 66/23 (ราวๆ ปี 2523) และยุติปัญหาได้อย่างเด็ดขาด หน่วยงานนี้ก็ยังคงอยู่เรื่อยมา แต่ไม่มีภารกิจหลักให้รับผิดชอบ ยกเว้นภารกิจกว้างๆ ด้านความมั่นคง กระทั่งถูกเสนอกฎหมายยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย สมัยที่ 2 เมื่อปี 2543 ทำให้ กอ.รมน.เป็นดั่ง “สุสาน” โดยสมบูรณ์ แม้จะไม่ถูกยุบก็ตาม (แม้จะมีกระแสเรียกร้องให้ยุบทิ้งไปเสีย) โดยฐานบัญชาการอยู่ที่สวนรื่นฤดีจนถึงปัจจุบัน

 

 

เส้นทาง กอ.รมน. แก้ปัญหาชาติ หรือเครื่องมือฝ่ายการเมือง

 


          ยุคต่อมา กอ.รมน.ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ภายใต้ภารกิจงานความมั่นคง อย่างในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก็เคยดึง กอ.รมน.ไปใช้งาน โดยมี พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี แกนนำ จปร.7 ซึ่งเคลื่อนไหวทางการเมืองมาหลายยุคหลายสมัยทำหน้าที่เป็น รอง ผอ.รมน.


          ในปี 2547 ไฟใต้ปะทุขึ้นมาอีกระลอก กองทัพบกมีบทบาทเข้าไปแก้ไขปัญหา จึงหันมาใช้โครงสร้าง กอ.รมน.ในการบูรณาการทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดทางกฎหมายและกรอบอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน มีการตั้ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ขึ้นที่ค่ายสิรินธร จ.ปัตตานี รับผิดชอบทั้งงานความมั่นคงและงานพัฒนา (ช่วงนั้นมีการยุบ ศอ.บต. หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้)


          กระทั่งปี 2551 รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ตราพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ขึ้นมา เพื่อรองรับหน่วยงาน กอ.รมน. (มีกฎหมายรองรับโดยตรงเป็นครั้งแรก) และมอบหมายภารกิจให้แก้ไขปัญหาภาคใต้ ยาเสพติด แรงงานต่างด้าว และปัญหาอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ผ่านโครงสร้าง “ศูนย์ประสานการปฏิบัติ” หรือ ศปป. ซึ่งมี 6 ศูนย์ด้วยกัน เช่น ปัญหาภาคใต้ รับผิดชอบโดย ศปป.5


          จะเห็นได้ว่า ชื่อ “ศูนย์ประสานการปฏิบัติ” สะท้อนว่าการทำงานของ กอ.รมน.เน้นการประสานงานและบูรณาการ แต่ก็เน้นงานความมั่นคงเป็นหลักอยู่ดี


          ที่ผ่านมากฎหมายฉบับนี้ถูกใช้ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัจจุบันบังคับใช้อยู่ใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา และอีก 3-4 อำเภอในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปแล้ว) นอกจากนั้นยังมีปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ จ.สมุทรสาคร จ.ระนอง และเคยใช้ควบคุมการชุมนุมในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยถือเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษ แต่เป็น “ยาแรง” ในระดับต่ำกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548)

 

 

เส้นทาง กอ.รมน. แก้ปัญหาชาติ หรือเครื่องมือฝ่ายการเมือง

 

 


          พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ประกาศใช้เมื่อปี 2551 และไม่เคยถูกแก้ไขในสาระสำคัญมาก่อนเลย กระทั่งปี 2560 มีการปรับแก้ที่เรียกได้ว่า “รื้อใหญ่” พอสมควร โดยการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 51/2560 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แต่สาระสำคัญที่มีการแก้ไขไม่ใช่การ “รื้อโครงสร้าง กอ.รมน.” ทว่าเป็นการขยายฐานอำนาจของ กอ.รมน. ซึ่งโดยนัยก็คือกองทัพบก ให้แผ่ลงไปถึงระดับจังหวัดทั่วประเทศมากกว่า


          เหตุผลในการแก้ไขกฎหมายมี 3 ข้อใหญ่ๆ คือ ปัจจุบันภัยคุกคามเปลี่ยนรูปแบบอย่างรวดเร็ว ทั้งภายในและภายนอก, ภัยคุกคามเกิดได้จากทั้งบุคคลและภัยธรรมชาติที่เป็นสาธารณภัย, การติดตามตรวจสอบและประเมินสถานการณ์จึงต้องมีประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ฉะนั้นจึงให้อำนาจ กอ.รมน.เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์และบูรณาการหน่วยงานรัฐทุกระดับ


          ประเด็นหลักๆ ที่ถูกแก้ไขใหม่ คือการเพิ่มนิยามของคำว่า “การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” จากเดิมที่หมายถึงภัยคุกคามทั่วๆ ไป แต่ของใหม่ให้หมายรวมถึง “สาธารณภัย” ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและคาดว่าจะเกิดด้วย


          เมื่อตามไปดูกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะพบว่า ความหมายของคำว่า “สาธารณภัย” นอกจากพวกอัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง โรคระบาด ภัยธรรมชาติ และอุบัติเหตุแล้ว ยังหมายความรวมถึงภัยทางอากาศ และการก่อวินาศกรรมด้วย


          โดยกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ แต่กฎหมาย กอ.รมน.ที่แก้ไขใหม่โดย คสช. ได้โอนอำนาจส่วนนี้มาให้ กอ.รมน.เป็นเจ้าภาพแทน ขยายขอบเขตความรับผิดชอบไปถึงภัยทางอากาศและวินาศกรรม นอกจากนั้นยังให้อำนาจ กอ.รมน. ทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคาม โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบให้ตามแผนด้วย ซึ่งประเด็นนี้ในกฎหมายเก่าไม่ได้ระบุเอาไว้

 

 

 

เส้นทาง กอ.รมน. แก้ปัญหาชาติ หรือเครื่องมือฝ่ายการเมือง

 


          ในส่วนของคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ คณะกรรมการระดับชาติ ได้เพิ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กระทรวงดีอี เข้าไปอยู่ในโครงสร้างด้วย


          ขณะเดียวกัน ตามกฎหมายเดิม แม้จะกำหนดให้มี “กอ.รมน.ภาค” แต่ก็ใช้ทรัพยากรบุคคลและงบประมาณจากกองทัพภาค ซึ่งก็คือทหารเป็นหลัก แต่ในกฎหมายใหม่ที่แก้ไขโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ได้ดึงเอาฝ่ายอัยการ คือ อธิบดีอัยการภาค และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระในกระบวนการยุติธรรม มาอยู่ในโครงสร้าง กอ.รมน.ภาค ที่มี “แม่ทัพ” เป็นหัวหน้าในฐานะ “ผอ.รมน.ภาค” ด้วย


          เช่นเดียวกับ กอ.รมน.จังหวัด แม้ “ผอ.รมน.จังหวัด” ยังคงเป็น “ผู้ว่าราชการจังหวัด” เหมือนเดิม แต่กฎหมายเก่าใช้โครงสร้างของฝ่ายปกครองสนับสนุนงาน กอ.รมน. ส่วนกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ได้ดึงเอาผู้แทนทุกส่วนราชการจากทุกกระทรวงในจังหวัดมาร่วมอยู่ในโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นอัยการ เกษตรฯ พาณิชย์ ศึกษาธิการ พลังงาน แรงงาน และสาธารณสุข โดยมีผู้แทนมณฑลทหารบกที่ดูแลพื้นที่จังหวัดนั้นร่วมอยู่ในโครงสร้างด้วย


          ทั้ง กอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน.จังหวัด มีอำนาจจัดทำแผนป้องกันแก้ไขปัญหาภัยคุกคามทุกรูปแบบ รวมถึงงานด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย ด้านเศรษฐกิจและสังคมของทุกส่วนราชการในจังหวัดที่เชื่อมโยงกับความมั่นคงภายในจังหวัดทั้งหมด


          ภาพรวมของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งเป็นโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน.ในยุคปัจจุบันนี้ อาจสรุปได้อย่างไม่เกินเลยว่า มีการขยายขอบเขตอำนาจของ กอ.รมน. ซึ่งมี “กองทัพบก” เป็นหน่วยนำ ลงไปกำกับแผนงานทุกด้านในการบริหารจัดการประเทศ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค


          แน่นอนว่าการทำภารกิจด้านความมั่นคง เช่น แก้ไขปัญหาชายแดนใต้ แรงงานต่างด้าว รวมไปถึงภารกิจบรรเทาสาธารณภัย อย่างเช่น น้ำท่วมใหญ่ที่อุบลราชธานี คงไม่มีใครปฏิเสธบทบาทนี้่ แต่การส่งตัวแทนเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับนักวิชาการและนักการเมือง ด้วยเหตุผลเป็นภัยคุกคามทางความมั่นคงจากการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ย่อมทำให้ กอ.รมน.ถูกตั้งคำถาม และถูกต่อต้านอย่างกว้างขวาง จนอาจทำให้ภารกิจหลักที่ทำอยู่ด้อยค่าลงไปก็เป็นได้


          นี่จึงเป็น “ทางสองแพร่ง” อีกครั้งหนึ่งของหน่วยงาน “แมวเก้าชีวิต” หน่วยนี้ ว่าจะยังสามารถฝ่าคลื่นลมทางการเมืองต่อไปได้อีกหรือไม่ !

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-กอ.รมน.ยันทำตามกฎหมาย ไม่กลั่นแกล้ง 12 แกนนำ
-เข้าใจผิด กอ.รมน.ภาค 4 สน.ตรวจแล้วไม่พบทุจริตเบี้ยเลี้ยงทหาร
-กอ.รมน.สามารถเรียกปรับทัศนคติได้ แต่ควบคุมตัวไม่ได้
-"กอ.รมน."รับไม้ต่อคสช.ดูแลความสงบ

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ