คอลัมนิสต์

เลื่อนและรื้อรถไฟความเร็วสูงเวทีสภาที่3จี้ปิดจุดเสี่ยงซ้ำรอย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เลื่อน และ รื้อ "รถไฟความเร็วสูง" เวทีสภาที่3 จี้ปิดจุดเสี่ยงซ้ำรอย "ค่าโง่" โดย... ขนิษฐา เทพจร 

 

 

 

 
          คณะกรรมการญาติพฤษภา 35 และสภาที่ 3 จัดเสวนาโต๊ะกลม บัญญัติกลโกง 10 ประการ ลำดับที่ 1 ประเด็นความไม่ชอบมาพากล ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ สนามบินดอนเมือง, สนามบินสุวรรณภูมิ และ สนามบินอู่ตะเภา และโครงการอีอีซี ของกระทรวงคมนาคม

 

 

          ซึ่งสภาที่ 3 ฐานะสภาของประชาชน ที่คอยถ่วงดุล สภาผู้แทนราษฎร ฐานะสภาที่ 1 และวุฒิสภา ฐานะสภาที่ 2 จับจ้องโครงการนี้มาตั้งแต่การเขียนทีโออาร์ และรายละเอียดจนถึงกำหนดการที่ “กระทรวงคมนาคม” เตรียมลงนามสัญญาจ้างกับ “กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งและพันธมิตร” ภายในเดือนตุลาคมนี้


          โดย “อดุลย์ เขียวบริบูรณ์” ประธานญาติพฤษภา เกริ่นหัวเรื่องนี้ก่อนเวทีเสวนาจะเริ่มคือ เป็นกระบวนการที่ขอเรียกว่ากลโกง แทนคำว่า มีเจตนาทุจริต ซึ่งปมเหตุที่จั่วหัวนั้น ไม่หวั่นที่รัฐบาลจะฟ้องร้อง เพราะเป้าหมายต้องการให้เกิดการฟ้องร้อง เพื่อสร้างพื้นที่แสดงข้อเท็จจริงและหลักฐานให้สาธารณะได้เห็น นอกจากนั้นยังฝากให้สังคมจับตาการพัฒนาพื้นที่ย่านมักกะสัน จำนวน 140 ไร่ ที่หากเกิดการพัฒนาแล้ว จะสร้างรายได้สูงถึงหลายแสนล้านบาท


          เริ่มต้นเวที ด้วยมุมมองของ “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง” ที่ตั้งต้นด้วยการจับโกหกของรัฐบาล ว่าด้วยการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางขนส่งทางรางของภูมิภาค ที่เมื่อพิจารณาปัจจัยสำคัญ อาทิ ขนาดของรางรถไฟ จากประเทศกัมพูชา, เมียนมาร์ ที่มีขนาดไม่เท่ากับของประเทศไทย จะไม่สามารถเชื่อมต่อกับไทยได้ อีกทั้งเส้นทางขนส่งทางรางที่จะเชื่อมต่อไม่อยู่ในเส้นทางของ “โครงการรถไฟความเร็วสูง” ที่รัฐบาลเตรียมดำเนินการ


          นอกจากนั้น “ธีระชัย” ยังตั้งข้อสังเกตในอีกหลายประเด็นด้วยว่า รฟท.จะไม่ได้ผลตอบแทนที่เป็นธรรม เพราะมีรายได้จากส่วนแบ่งของการเดินรถไฟความเร็วสูง ส่วนเอกชนนอกจากจะได้รับรายได้จากโครงการแล้ว ยังมีของแถมคือ การพัฒนาพื้นที่มักกะสัน จำนวน 140 ไร่ ที่เอกชนสามารถทำธุรกิจได้ทันทีระหว่างรอการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่เป็นเงื่อนไขที่รัฐจะได้รับค่าตอบแทนจากส่วนแบ่งรายได้ ซึ่งเชื่อว่าการก่อสร้างจะล่าช้า เพราะมีปัจจัยชะลอ คือ การส่งมอบที่ดินเพื่อใช้ก่อสร้าง ที่ต้องทำเรื่องเวนคืนที่ดิน ต้องออกกฎหมาย, การรื้อระบบสาธารณูปโภค รวมถึงท่อส่งน้ำมัน ที่ใช้เวลาประมาณ 12 เดือน, รื้อท่อระบายน้ำ, สายไฟฟ้า เป็นต้น รวมถึงการขุดคลองในพื้นที่แนวก่อสร้างกว่า 17 เมตร พื้นที่รอยต่อพญาไท ไปบางซื่อในจุดหักเลี้ยว




          “ที่ดินมักกะสันเขาประเคนให้ผู้ชนะประมูล ด้วยการจ่ายเงิน 1,000 ล้านบาทต่อปี สัญญา 50 ปี รวมมูลค่า 50,000 ล้านบาท โดยมีราคาประเมินที่ดินประมาณตารางวาละ 2-3 แสนบาท อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่ประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ คือ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศรินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นองค์กรที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ไม่ขึ้นทะเบียนวิชาชีพ ดังนั้นผมมองว่า หากมีการออกกฎหมายเวนคืนที่ดิน เพื่อให้เอกชนใช้ที่ดินเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญ”


          หลังจากตั้งข้อสังเกตและยกตัวอย่าง “ธีระชัย” ตั้งคำถามกับสังคมด้วยว่า เชื่อหรือว่าการส่งมอบพื้นที่จะทำได้ทันตามเวลาที่กำหนด ?


          พร้อมให้ความเห็นส่วนตัวด้วยว่า หากวันที่ 15 ตุลาคม รฟท.เดินหน้าลงนามกับกลุ่มซีพีจะมีความเสี่ยงที่ผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ฐานะประธานบอร์ดอีอีซี อาจถูกพิพากษาคดี เช่นเดียวกับ อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย


          “เหตุที่ต้องเร่งรัดลงนาม มีคนอ้างว่า นายกฯ ในฐานะประธานบอร์ดอีอีซีอนุมัติ และเชื่อว่าหากลงนามกับเอกชนแล้วจะปลอดภัย แต่ผมเห็นต่าง เพราะขณะนี้ปัญหาเกิดขึ้นมาก เนื่องจากในแผนการทำโครงการ ยังไม่พบการเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กทม., การไฟฟ้านครหลวง, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อกำหนดแผนการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค ที่ควรกำหนดปฏิทินและขอบเขต รวมถึงงบประมาณที่จะใช้ ดังนั้นหากไม่มีปฏิทินที่ชัดเจนก่อนลงนามสัญญากับเอกชนได้ และเร่งรัดจนผิดวิสัย อาจมีความเสี่ยงกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ทางออกที่ดีที่สุดของเรื่องนี้ คือ เลื่อนการลงนามสัญญากับเอกชน ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่า กลุ่มซีพี จะล้มการลงนาม และให้กลุ่มบริษัทที่สองเข้ารับงานแทน มองว่าเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง”


          ขณะที่ความเห็นจากตัวแทนของสภาผู้แทนราษฎร ที่มีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องนี้ "วันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชาติ" ในฐานะผู้มีส่วนร่วมผลักดันการเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษากรณีโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน และโครงการอีอีซี ในสภาผู้แทนราษฎร ผ่านการเสนอญัตติ แต่ผลการผลักดันรอบนั้นล้มเหลว เนื่องจากเสียงข้างมากของสภาโหวตล้มญัตติ


          "โครงการนี้ไม่โปร่งใส ตั้งแต่เริ่มต้นคิด รวมถึงทีโออาร์ ซึ่งสภาเคยเสนอให้พิจารณาใหม่ เพราะเป็นโครงการที่ทำมาก่อนจะมีสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ขาดการวิเคราะห์ หรือประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวคิดที่สภาต้องศึกษานั้น ไม่ใช่การบอกว่ารัฐบาลห้ามทำ แต่เพื่อให้ทำโครงการอย่างรอบคอบ และประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด ไม่ใช่เอื้อประโยชน์ให้นายทุนเท่านั้น รวมถึงเสนอให้ชะลอการประมูลออกไป 6 เดือนได้หรือไม่ แต่ผลสุดท้ายไม่มีการตั้ง ทั้งที่การอภิปรายในสภามี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล สนับสนุนให้ตั้ง แต่นาทีสุดท้าย แกนนำวิปรัฐบาลระดับสูงสุดบอกกับผมเองว่า ผู้ใหญ่ของผม ระดับรองนายกฯ ของพรรคในซีกรัฐบาลขอให้ไม่ตั้ง เพราะกลัวเซ็นสัญญาไม่ทัน ดังนั้นที่กำหนดจะลงนามสัญญาในเดือนตุลาคมนี้ เชื่อว่าเขาเซ็นสัญญาแน่นอน จากนั้น ส.ส.ฝั่งรัฐบาลที่อภิปรายสนับสนุน กลับพบการลงมติคัดค้าน ซึ่งผมเชื่อว่าสภาผู้แทนราษฎรไม่มีความเป็นอิสระ เพราะผู้ใหญ่นอกสภา ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกขอให้ไม่ตั้ง"


          กับประเด็นตรวจสอบเรื่องนี้ “วันมูหะมัดนอร์” ย้ำชัดว่า หากรัฐบาลลงนามกับกลุ่มซีพีในโครงการนี้ จะเป็นตัวเร่งให้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเกิดขึ้นโดยเร็วแน่นอน


          “ผมขอเตือน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่าคุณไม่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้น หากคุณลงนามจะเป็นเบอร์หนึ่งที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจแน่นอน แม้เสียงรัฐบาลจะมีมากกว่า แต่ประเด็นที่เกิดขึ้น และมีผลกระทบ คุณต้องรับผิดชอบไปชั่วชีวิต คุณเป็นคนธรรมดาอย่าเอาชีวิตไปเสี่ยง เหมือนกับคนที่ยึดอำนาจรัฐประหาร”


          ขณะที่ ประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย มีความเห็นสอดคล้องกับการเสวนาก่อนหน้านี้ โดยจับสังเกตผ่านการนำเสนอของสื่อมวลชนของเครือเนชั่น ในรายการชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ ที่นำคำให้สัมภาษณ์ของ “เจ้าสัวธนินทร์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)” ที่ว่า “พล.อ.ประยุทธ์ มองว่าเป็นโครงการที่ลงทุนสูง หากรัฐทำแล้วจะขาดทุน จึงอยากให้ซีพีดูแล ลงทุนส่วนของสายตะวันออก ส่วนกลุ่มไทยเบฟจะลงทุนสายตะวันตก กรุงเทพ-หัวหิน” คือ คำให้สัมภาษณ์ที่พิสูจน์ว่าการประกวดราคาแบบนานาชาติ ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น แม้มีหลายบริษัทซื้อซองประมูล แต่เมื่อยื่นซองประมูลพบเพียง 2 กลุ่มบริษัทเท่านั้น ซึ่งขอตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีกระบวนการล็อก หรือฮั้ว เหมือนอย่างที่บางฝ่ายกล่าวหา


          อย่างไรก็ดี “ประภัสร์” ยังตั้งข้อสังเกตพร้อมเรียกร้องให้ รัฐบาล-กระทรวงคมนาคม เปิดเผยสัญญาที่จะลงนามกับเอกชน ต่อสื่อมวลชน และสาธารณะ รวมถึงสภาผู้แทนราษฎรที่ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เพื่อความโปร่งใส รวมถึงอย่าปัดความรับผิดชอบที่อาจจะเกิดความเสียหายขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตามโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบินที่นำมาผูกเข้ากับโครงการอีอีซีนั้น เพราะต้องการใช้ประโยชน์จากกฎหมายพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ให้เช่าพื้นที่ระยะยาว 99 ปี ซึ่งกรณีดังกล่าวคือ เค้กชิ้นใหญ่ ที่เขาต้องการเร่งลงนามสัญญา ส่วนหนึ่งเพื่อต้องการเลี่ยงการถูกวิพากษ์วิจารณ์


          “เดือนตุลาคมที่เขานัดหมายลงนามสัญญาจ้างกับเอกชน เชื่อว่าเขาจะลงนามแน่นอน เพราะจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้สัมภาษณ์ แต่การเร่งรัดนั้น ผมเชื่อว่าจะทำให้กกระบวนการเสียค่าโง่เกิดขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะปัญหาการส่งมอบพื้นที่ ดังนั้นหากเกิดความเสียหาย ฝ่ายนโยบายอย่าโทษหน่วยงาน เพราะการจะดำเนินการใดๆ ต้องผ่านระดับนโยบายมาก่อนทั้งนั้น” ประภัสร์ ระบุ


          ส่วนความเห็นของคนการรถไฟฯ “สุวิช ศุมานนท์ ประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟ (สพ.รฟ.)” เรียกร้องให้เปิดสัญญาก่อนลงนาม ให้คนการรถไฟตรวจสอบ เพราะจากที่ทราบรายละเอียดเบื้องต้น พบข้อกำหนดห้าม รฟท.เดินรถที่เข้าข่ายการแข่งขัน และอาจมีเงื่อนไขพิเศษอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นปัญหาต่อการเดินรถไฟปัจจุบัน ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกันกับโครงการรถไฟความเร็วสูง


          ส่วนปัญหาที่ “ประธานสพ.รฟ.” กังวลคือ การเวนคืนที่ดิน ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีประชาชนอยู่อาศัยกว่า 8,000 ราย อีกทั้งพื้นที่โครงการยังพบแนวที่ทับซ้อนกับโครงการโฮปเวลล์ด้วย ดังนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้น รฟท.อาจต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหาย แม้จะเป็นคำสั่งของฟากรัฐบาล อีกทั้งค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้นล้วนเป็นเงินภาษีของประชาชน นอกจากนั้นการพัฒนาพื้นที่มักกะสัน ที่เป็นพื้นที่นอกเขตเศรษฐกิจ โยงเข้ากับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ กลายเป็นคำถามใหญ่จากคนการรถไฟว่า เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจรูปแบบใดกันแน่


          ทั้งนี้บทสรุปของเวทีเสวนานี้ ยังเสนอความเห็นให้ล้มการลงนามสัญญาโครงการในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น และจัดการประมูลหรือดำเนินโครงการนี้ใหม่อีกครั้ง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และประเทศไม่เสียประโยชน์

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ