คอลัมนิสต์

ผู้พิพากษายิงตัว ทวงคืนหรือกร่อนทำลายความยุติธรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผู้พิพากษายิงตัว(ไม่)ตาย ทวงคืนความยุติธรรม? หรือ กร่อนทำลายความยุติธรรม? (ตอนหนึ่ง) โดย ดร.เวทิน ชาติกุล สถาบันทิศทางไทย .

      ดร.เวทิน ชาติกุล สถาบันทิศทางไทย ได้เขียนบทความ " ผู้พิพากษายิงตัว(ไม่)ตาย ทวงคืนความยุติธรรม? หรือ กร่อนทำลายความยุติธรรม? (ตอนหนึ่ง) มีเนื้อหา ดังนี้

   1. ข้อกล่าวหาที่รุนแรงของการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยมตะวันตก ที่ถึงขั้นสั่นคลอนเสาหลักของระบบประชาธิปไตย คือ ข้อกล่าวหาว่า อำนาจตุลาการ (หรือ ศาล) สามารถถูกแทรกแซงได้

    2. ข้อกล่าวหานี้ปรากฏเสมอมาในวาทกรรม "ตุลาการภิวัฒน์" (ซึ่งถูกนำเสนอขึ้นโดยกลุ่มนิติราษฎร์ ที่มี ปิยบุตร แสงกนกกุล ร่วมอยู่ด้วย)
 

    3. กรณีล่าสุดในเหตุ "ผู้พิพากษา ยิงตัว(ไม่)ตาย ประท้วง" ข้อกล่าวหานี้ก็กลับปรากฏขึ้นอีกครั้ง แต่ครั้งนี้กลับรุนแรงยิ่งกว่า เพราะที่ผ่านมากรณี(อ้างว่ามี)การแทรกแซงอำนาจตุลาการ จะจำกัดอยู่เฉพาะคดีที่มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ในกรณีนี้ฝ่ายกล่าวหาต้องการชี้ว่า
     3.1 แม้คดีอาญาทั่วไป(ไม่เกี่ยวกับการเมือง)ก็ไม่พ้นจากการแทรกแซง และ 3.2 เป็นคดีที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงสูง (สะท้อนปัญหาการใช้อำนาจรัฐแบบพิเศษในพื้นที่พิเศษ) สอดรับกับ ข้อเสนอเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ม.1 ที่เป็นประเด็นฟ้องร้องกันอยู่
    4. "ข้อกล่าวอ้าง" ในกรณีนี้เป็นข้อกล่าวอ้างที่รุนแรงมาก และใช่หรือไม่ที่อาจหวังผลต่อ สถาบันตุลาการ และ อำนาจรัฐไทย แบบ "ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว"?
    5. ซึ่งถ้าจริง รัฐไทย ก็จะกลายเป็น "รัฐโมฆะ" ระบอบ ระบบจะเสี่ยงต่อการล่มสลายพังครืนในทันที เพราะ การปรากฏการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมในฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ
    6. แต่ถ้าไม่จริง ผู้ที่กล่าวอ้าง กระทำ ร่วมกระทำ กำลังจงใจ เจตนากระทำ สิ่งที่เป็นการกร่อนทำลายรัฐไทย สถาบันตุลาการ และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อยู่หรือไม่?
     7. คำตอบเรื่องนี้อยู่ใน 2 ที่
     7.1 "หลักฐาน" (ของการแทรกแซง) ที่อยู่ในมือของฝ่ายกล่าวอ้าง (ซึ่งแรกสุดบอกว่าได้มาจาก "ผู้พิพากษาและจำเลย" แต่ต่อมาแก้เป็น "ผู้พิพากษาและผู้หวังดี" และต่อมาแก้เป็น "ไม่รู้ได้มาอย่างไร")
     7.2 ข้อเท็จจริง และ ข้อกฎหมาย เกี่ยวกับกระบวนการตุลาการที่ประชาชนไม่ค่อยรับทราบ (เพราะเป็นข้อปฏิบัติในวิชาชีพ)
     8. หลักฐานข้อแรก รวมถึง "หนังสือลับ" ที่ว่า ต้องรอจากที่ฝ่ายกล่าวอ้างจะเอามานำเสนอหรือไม่อย่างไร?
      9. ส่วนข้อพิจารณาในข้อกฎหมายนั้นมีปรากฏขึ้นมาบ้างแล้วจากผู้มีความรู้และผู้พิพากษาหลายท่านที่ออกนามและไม่ออกนาม
     10. ย้อนไปในโพสต์(ลบไปแล้ว แต่มีผู้แคปเจอร์เอาไว้ได้)ของผู้พิพากษาที่ก่อเหตุที่ระบุ "ผมจะทำการ live เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบถึงการที่อธิบดีผู้พิพากษาเขต 9 แทรกแซงการพิจารณาคดี สั่งให้ลงโทษจำเลยทั้งห้า ทั้งที่พยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักว่าจำเลยได้กระทำความผิด แต่ผมไม่ยอมทำตาม"
      11. คำถามคือ "...อธิบดี หรือ ใครก็ตาม มีอำนาจสั่งให้ผู้พิพากษาตัดสินหรือเขียนคำพิพากษาให้เป็นไปตามที่ตนต้องการได้หรือไม่?..." (ถึงบอกว่าเรื่องนี้เรื่องใหญ่ เพราะถ้าจริง มันไม่ใช่แค่ผู้พิพากษาคนหนึ่งอาจโดนสั่งการโดยใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม แต่มันหมายถึงกระบวนตุลาการทั้งหมด สามารถล้มเหลวได้อย่างสิ้นเชิง)
   12. แต่ข้อเท็จจริงในทางกฎหมายก็คือ กฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ระบุ
    12.1 มาตรา 11 (1) ให้อำนาจ อธิบดีนั่งพิจารณาและพิพากษาคดีใดๆ ของศาลนั้น หรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดแล้วมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้และสามารถให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษาในศาลนั้นในข้อขัดข้องเนื่องจากการปฏิบัติหน้าของผู้พิพากษา
      12.2 มาตรา 14 ให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค เป็นผู้พิพากษาในศาลที่อยู่ในเขตอำนาจด้วยผู้หนึ่งโดยให้มีอำนาจและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 11 วรรคหนึ่ง รวมทั้งได้ให้อำนาจรองอธิบดีผู้พิพากษาภาคไว้ด้วยเพราะปริมาณคดีมีมาก
       13. ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ม.11 และ ม.14 จะเห็นว่า การเข้าไปดูหรือตรวจสอบสำนวนของอธิบดีผู้พิพากษาภาคไม่ใช่ "การแทรกแซงตามอำเภอใจ" แต่เป็นอำนาจหน้าที่ที่ต้องทำ คือ
      13.1 สามารถนั่งพิจารณาคดีด้วยได้ (เป็นองค์คณะ)
      13.2 สามารถทำความเห็นแย้งได้ (เมื่อได้พิจารณาสำนวนแล้ว)
       13.3 สามารถให้คำแนะนำต่อผู้พิพากษาในข้อขัดข้องเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ได้
       13.4 ทั้งอธิบดีและรองอธิบดีถือว่าเป็นผู้พิพากษาในศาลที่อยู่ในเขตอำนาจด้วย
       14. ข้อกล่าวหาว่าอธิบดีใช้อำนาจหน้าที่เข้าไป"แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม" จึงไม่เป็นความจริง ในทางกลับกัน ระเบียบของข้าราชการฝ่ายตุลาการกำหนดให้ผู้พิพากษาที่เป็นฝ่ายต้องรายงานคดีและการตรวจคดีเสียเองด้วยซ้ำ
      15. แต่อาจมีข้อโต้แย้งจากฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยมตะวันตกว่า ก็เพราะกฎหมายศาลเขียนให้อำนาจไว้แบบนี้ก็เท่ากับเปิดช่องให้เข้าไปแทรกแซงอยู่ดี
        16. ก็ต้องไปดูต่อที่ "ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม" ลงนามโดยชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 ว่าด้วย ระเบียบว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกา และการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค
      17. คดีแบบไหนบ้างที่ต้องมีการตรวจคดี?
      ตามระเบียบฯข้อ 7 กำหนดว่า ผู้พิพากษาศาลต้องรายงานต่ออธิบดีผู้พิพากษาภาค ตามประเภทคดี ดังนี้
    1) คดีอาญา ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร มาตรา 107 - 135 (รวมมาตรา 112 และ 116)
     2) คดีความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย
     3) คดีทุกประเภทที่อัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปีขึ้นไป จำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต
    18. ตามระเบียบนี้ คดีที่ถูกระบุถึง แม้จะไม่ใช่คดีความมั่นคง(ตามในแถลงการณ์)แต่เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงถึง "ประหารชีวิต" จึงอยู่ในข่ายประเภทคดีที่ต้องส่งรายงานต่ออธิบดีศาลอยู่แล้ว ไม่ใช่อธิบดีลงมาแทรกแซงขอดูสำนวนเอง
    19. ประเด็น คือ เมื่ออธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจสำนวนแล้ว (โดยต้องมีระยะเวลาตรวจไม่น้อยกว่า 15 วัน เพื่อให้อ่านให้ละเอียด และถ้าตรวจไม่ทันก็สามารถให้รองอธิบดีผู้พิพากษาภาคช่วยตรวจได้) ในกรณีที่ผู้พิพากษากับอธิบดีผู้พิพากษาภาคมีความเห็นไม่ตรงกันจะต้องทำอย่างไร?
    20. ในระเบียบฯข้อ 14 กำหนดว่า
     "...การตรวจร่างคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้ดำเนินการเพื่อรักษาแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่ง และให้การใช้ดุลพินิจของศาลเป็นไปโดยถูกต้องในแนวทางเดียวกัน ในกรณีที่แตกต่างไปจากแนวบรรทัดฐาน ควรมีเหตุผลพิเศษ และแสดงเหตุผลไว้ในร่างคำพิพากษานั้นด้วย..."
   ตรงนี้ต้องขยายความ
     21. การตรวจคดีนั้นเพื่อ "...ให้ดำเนินการเพื่อรักษาแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่ง และให้การใช้ดุลพินิจของศาลเป็นไปโดยถูกต้องในแนวทางเดียวกัน..." (แปลว่า ให้แนวทางคำพิพากษาและดุลพินิจของศาลในคดีแบบเดียวกันไม่ขัดแย้งกันเอง ไม่ใช่คดีลักษณะเดียวกันแต่ตัดสินกันไปคนละแบบ)
    22. "...ในกรณีที่แตกต่างไปจากแนวบรรทัดฐาน ควรมีเหตุผลพิเศษ และแสดงเหตุผลไว้ในร่างคำพิพากษานั้นด้วย..." กล่าวคือ ถ้าอธิบดีผู้พิพากษาภาคมีความเห็นในคำตัดสิน 1)ต่างไปจากผู้พิพากษา หรือ 2)ต่างไปจากบรรทัดฐาน ในทางปฏิบัติก็จะมีการสอบถามพูดคุยกัน ซึ่งในที่สุดถ้ายังไม่สามารถเห็นไปในทางเดียวกันได้ อธิบดีผู้พิพากษาภาคก็ต้องเขียนสำนวนแย้งหรือระบุความเห็น(แย้ง)ของตนไว้ในคำพิพากษานั้น
    23. แปลว่า
...ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนยังมีสิทธิ์ในการยืนตามสำนวนเดิมของตน ผู้พิพากษาสามารถไม่ทำตามคำโต้แย้งหรือคำทักท้วงของอธิบดีได้อยู่แล้ว
   การยกประเด็นว่า "ผมไม่ยอมทำตาม" มาเป็นประเด็นจึงไม่เป็นประเด็น  เพราะจริงๆก็ทำแบบนั้นได้อยู่แล้ว
    24. ในระเบียบฯข้อต่อมาคือ ข้อ 16 กำหนดว่า
    "...เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาแล้ว ให้ส่งสำเนาคำพิพากษาพร้อมคำแนะนำ ข้อทักท้วง ไปยังสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาคภายในเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่อ่าน..."
    25. แปลว่า การไม่ทำตามคำแนะนำ คำโต้แย้ง หรือ คำทักท้วง ของอธิบดี ไม่มีผลในทางความผิดใดๆต่อตัวผู้พิพากษาเลย ผู้พิพากษาสามารถ "อ่าน" คำพิพากษาเดิมของตนได้ เพียงแต่ในสำนวนต้องรายงานคำโต้แย้งด้วยเท่านั้น
    26. กรณีตัวอย่าง คือ คดีที่อดีตอธิบดีกรมสรรพากรถูกฟ้องคดี 157 ท่านชีพ จุลมนต์ อดีตประธานศาลฏีกา ซึ่งเป็นอธิบดีศาลอาญาในขณะนั้นเคยมีความเห็นแตกต่างจากองค์คณะว่าควรลงโทษ แต่องค์คณะเห็นว่าควรยกฟ้อง อธิบดีจึงมีความเห็นว่าให้เอาไปทบทวน ทางองค์คณะยืนยันเหมือนเดิม ท่านชีพจึงทำความเห็นแย้งไป (อ้างโดย นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม. 05.ต.ค.2562)
   27. ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนที่ไม่เชื่อฟังตามคำแนะนำของอธิบดีผู้พิพากษาภาค กฎหมายก็ไม่ได้กำหนดให้เป็นความผิดหรือมีโทษ (แต่ ในทางอ้อมอธิบดีผู้พิพากษาภาคเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งจ่ายสำนวน การเรียกสำนวนคืน หรือสั่งย้ายชั่วคราวได้)
 28 สรุปคือ ตามระเบียบฯ
   28.1 อธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือประธานศาลฎีกา ไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมายโดยตรงที่จะสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือสั่งให้ผลคดีออกมาเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง
    28.2 อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีเพียงหน้าที่ต้องรักษาบรรทัดฐานแนวทางการทำคำพิพากษาให้สอดคล้องกันในแต่ละคดีเท่านั้น
     28.3 อธิบดีฯ มีอำนาจขอดูหรือตรวจสอบสำนวนคำพิพากษาได้" แต่ "ไม่สามารถสั่งให้แก้คำพิพากษาหรือสั่งให้ลงโทษตามอำเภอใจได้"
     28.4 เป็นไปได้ที่ อธิบดีจะมีความเห็นแย้งกับ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน แต่ ผู้พิพากษา(เจ้าของสำนวนเดิม) ก็สามารถที่จะยืนยันตามสำนวนเดิมของตนได้
     28.5 อธิบดีที่มีความเห็นแย้งทำได้เพียงเสนอความเห็นแย้งไว้ในสำนวนเท่านั้น
    28.6 หรือ กรณี Worst Case ถ้าอธิบดีจะบังคับ หรือ สั่งการ โดยมิชอบ(เช่น อาจมีอธิบดีที่ทำเกินอำนาจหน้าที่) แต่ ผู้พิพากษา(เจ้าของสำนวนเดิม) ก็ยังสามารถที่จะยืนยันตามสำนวนเดิมของตนได้อยู่ดี
   29. จะเห็นว่าในกระบวนการตุลาการนั้นไม่ใช่การสั่งการตามลำดับชั้นของการบังคับบัญชา แต่มีการวางระบบระเบียบเพื่อมาตรฐานความเป็นธรรม และมีการ "ถ่วงดุล" กันอยู่ ระหว่างฝ่ายต่างๆเช่น "องค์คณะ" กับ "อธิบดี" (หรือผู้มีอำนาจในระดับสูง) แต่ที่สำคัญก็ตามที่นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมกล่าวว่า
      "ผมขอบอกไว้เลยในศาลใครจะมาสั่งผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะในการตัดสินคดี มันสั่งไม่ได้ นี่ไม่ใช่เรื่องอำนาจบังคับบัญชาตามลำดับชั้น ดุลพินิจของเจ้าของสำนวนจะมีความเป็นอิสระ เรื่องนี้เป็นมานานแล้ว และไม่ใช่เฉพาะเรื่องภายในเท่านั้น ในทางภายนอกไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตำรวจ ทหาร หรือฝ่ายบริหารยิ่งสั่งเราไม่ได้ “
     30. นั่นคือหลักสำคัญที่ว่า "ดุลพินิจของเจ้าของสำนวนมีความเป็นอิสระ"
    จึงทำให้เกิดคำถามว่าที่กล่าวว่า "อธิบดีผู้พิพากษาเขต 9 แทรกแซงการพิจารณาคดี สั่งให้ลงโทษจำเลย" และการ "ทวงคืนความยุติธรรมให้ผู้พิพากษา" หมายความว่าอย่างไร?
      31. ในเมื่อผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในกรณีนี้เองก็ปฏิบัติตามระเบียบฯเหล่านี้ คือ มีอิสระในดุลพินิจและยืนยันสำนวนเดิม (ไม่ว่าจะถูกบังคับ หรือใช้อำนาจใดๆข่มขู่แค่ไหนก็ตาม)
    (มีต่อ)

      #ผู้พิพากษายิงตัว(ไม่)ตาย #สถาบันทิศทางไทย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ