คอลัมนิสต์

"ปวิตร มหาสารินันทน์" 'สงคราม' ไม่เคยจบ ที่หอศิลป์กทม.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงานพิเศษจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก 5-6 ต.ค.62

 

 

 

****************************

 

ไม่ใช่การลาออก ไม่ใช่การเกษียณ ไม่ใช่ด้วยความเต็มใจ หรือติดภารกิจ แต่วันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา คือวันทำงานวันสุดท้ายที่ “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” ของ ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ ในฐาะผู้อำนวยการหอศิลป์ ซึ่งคนไทยรับรู้กันแล้วจากจดหมายเปิดผนึกที่ปรากฏหน้าข่าวสารว่าเขาโดน ไล่ออก”

 

ถามทำไม ที่จริงเนื้อหาโดยสรุปของจดหมาย ที่นอกเหนือจากการเรียกร้องความเป็นธรรมและโปร่งใสในการถูกไล่ออกแล้ว คนไทยก็พอรู้ว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการที่ ผศ.ปวิตร เคยแสดงความเห็นเรื่องการสนับสนุนงบประมาณของกรุงเทพมหานครในการแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอย่างตรงไปตรงมาหลายครั้ง

 

แต่ปัญหาของปัญหา คงมิได้มีแต่เพียงเท่านี้

 

 

 

เส้นทางคนถูกเด้ง

 

ก่อนจะเท้าความไปยังเบื้องหลังคนเดินเรื่องคือบุคคลที่สำคัญที่สุด ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ มักพูดเสมอเวลาให้สัมภาษณ์สื่อว่าไม่เคยเสียดายที่ลาออกจากอาจารย์ประจำของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะนี่คือ งานในฝัน”

 

ผศ.ปวิตร หรือ ครูป้อม ของนิสิต เขาเป็น “อักษรจรัส 56” หรือศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ก่อนจะเป็นหัวหน้าภาควิชาศิลปการละคร และผอ.ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

 

 

"ปวิตร มหาสารินันทน์"  'สงคราม' ไม่เคยจบ ที่หอศิลป์กทม.

 

 

แน่นอนเส้นทางของคนรักศิลปะคงไม่จำกัดแค่ภาพเขียน ปูนปั้น ครูป้อมเติบโตมากับการเรียนภาษาอังกฤษจากการดูหนัง อ่านวรรณกรรม และบทละครเวทีทั้งของไทยและเทศ เคยเขียนวิจารณ์หนังลงนิตยสารตั้งแต่อยู่ ม.5

 

ต่อมาเข้ามาเป็นนิสิตอักษรศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ วิชาโทศิลปการละคร กระทั่งเมื่อสำเร็จการศึกษาก็ได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ในภาควิชาศิลปการละครทันที

 

ตลอดมาได้รับเชิญให้เป็นนักวิจารณ์ละครเวทีและนาฏศิลป์ของหนังสือพิมพ์ “The Nation” มาตั้งแต่ 2544 และเป็นประธานคนแรกของชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง มีงานตามเทศกาลหนังมากมายในต่างประเทศ

 

ที่ผ่านมามีผลงานการแต่งและแปลบทละครเวทีนับสิบเรื่อง นอกจากนี้ยังได้รับเชิญไปบรรยายร่วมจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านละครเวทีในต่างประเทศ

 

จนกระทั่งได้เบนเส้นทางมาสู่โลกแห่งพื้นที่ แต่มิใช่เวทีการแสดง หากเป็นพื้นที่ที่กว้างกว่านั้นนัก เพราะที่นั่นคือ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” และโดยขนาดของพื้นที่ที่ไม่ใช่แค่เชิงกายภาพแต่ยังหมายถึงการเปิดกว้างของการแสดงออกทางศิลปะ

 

ถามคนหัวใจศิลป์ อะไรจะท้าทายกว่านี้ ฝันไหนจะยิ่งใหญ่กว่านี้ ก็คงไม่มีอีกแล้ว

 

 

 

ครูศิลป์ในเงาศึก

 

ก่อนที่ครูป้อมจะย่างก้าวเข้ามารับตำแหน่งที่หอศิลป์ กทม. เจ้าตัวคงรู้ดีว่าประวัติศาสตร์การเกิดของหอศิลป์ที่ยืนตระหง่านตรงข้ามห้างยักษ์ย่านปทุมวันแห่งนี้ แทบจะเป็น สงครามกลางกรุง” ที่ผ่านมือผู้ว่าฯ กทม.ถึง 3 สมัย!

 

จากจุดตั้งต้นในปี 2537 ในการประชุมเตรียมการนิทรรศการครบรอบ 20 ปี ของ “แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย” วงนั้นมีการพูดคุยถึงการจัดนิทรรศการครั้งใหญ่เพื่อแสดงภาพรวมของศิลปะในรัชกาลที่ 9

 

ที่สุดราวกับมีใครกดปุ่ม จู่ๆ ผู้ว่าฯ กทม. “ดร.โจ” พิจิตต รัตตกุล ได้ตกลงกับคณะกรรมการโครงการศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 ที่จะจัดสร้างหอศิลปะร่วมสมัยขึ้นจนมีการเซ็นอนุมัติโครงการในวันที่ 21 กรกฎาคม 2543 จัดงบปี 2544 ไว้ 185 ล้านบาท

 

 

"ปวิตร มหาสารินันทน์"  'สงคราม' ไม่เคยจบ ที่หอศิลป์กทม.

 

 

แต่แล้วพอถึงยุคสมัยของผู้ว่าฯ สมัคร สุนทรเวช (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ราวปี 2544 มีการยกเลิกและทบทวนโครงการโดยให้เหตุผลว่า กทม.ไม่มีตังค์มากพอ ข่าวช่วงนั้นระบุว่า งบปาเข้าไปถึง 300 ล้านบาท!

 

แต่ก็ปิ๊งไอเดียว่าเพื่อความอยู่รอดก็จะทำศูนย์การค้าครึ่งหนึ่งและเป็นอาคารจัดแสดงงานศิลปะอีกครึ่งหนึ่ง ปรากฏผู้คนออกมาประท้วงกันครึกโครม เกิดเป็น ‘เครือข่ายศิลปินรณรงค์เพื่อหอศิลป์ร่วมสมัยเฉลิมพระเกียรติแห่งกรุงเทพมหานคร’ ขึ้น จนเรื่องเงียบไปเพราะมีการฟ้องร้อง และศาลปกครองกลางได้ประทับรับคำร้อง

 

ก่อนที่ปี 2547 คนกทม. มีผู้ว่าชื่อ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ก็เกิดมี ‘ปฏิญญาศิลปวัฒนธรรม’ และมี “มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” ที่จะเข้ามาดูแลหอศิลป์ของคนเมืองแห่งนี้

 

 

 

"ปวิตร มหาสารินันทน์"  'สงคราม' ไม่เคยจบ ที่หอศิลป์กทม.

 

 

สภากทม.อนุมัติงบ 504 ล้านบาท เปิดโครงการวันที่ 19 สิงหาคม 2548 กระทั่งแล้วเสร็จเปิดใช้งานเมื่อปี 2551 คนไทยสมใจได้หอศิลป์กรุงเทพฯ ที่ตั้งอยู่สี่แยกปทุมวันมาจนถึงวันนี้

 

 

 

 

สงครามยืดเยื้อ

 

“ครูป้อม" ปวิตร ไม่ใช่ ผอ.หอศิลป์คนแรก ที่ผ่านมาก็มี ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที” ผู้ที่เคยกอดคอร่วมต่อสู้กับแนวร่วมเพื่อให้ได้มาซึ่งหอศิลป์แห่งนี้จนได้นั่งในตำแหน่ง “รักษาการ ผอ.หอศิลป์กทม.” ตั้งแต่เปิดใช้งานในปี 2551 จนถึงปี 2554 และกลับมานั่งช่วงปี 2561 ก่อนที่ครูป้อมจะเข้ามารับไม้ต่อในปีเดียวกัน แล้วฉัตรวิชัยก็เขยิบไปนั่งเป็นกรรมการและเลขานุการมูลนิธิฯ

 

อย่างไรก็ดีที่จริงการบริหารในตำแหน่ง ผอ.หอศิลป์ของฉัตรวิชัยเอง เขาก็เคยแสดงบทบาทในการตอกย้ำ “ปัญหาการจัดสรรงบประมาณจาก กทม.” มาก่อนแล้ว โดยราวปี 2552 เขาเคยเสนอให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ขณะนั้น แยกหอศิลป์กรุงเทพฯ ออกจากระบบ

 

 

"ปวิตร มหาสารินันทน์"  'สงคราม' ไม่เคยจบ ที่หอศิลป์กทม.

อ.ปวิตร แจงเรื่องงบดูแลหอศิลป์ ช่วงปี 2561

 

 

ซึ่งที่สุดทางแก้ไขก็คือการจัดตั้งมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครขึ้นในปี 2554 มีสัญญาดูแลหอศิลป์ถึง 10 ปี ปัจจุบันมีกรรมการ 12 คน เป็นชุดใหม่ตามที่ครูป้อมแจงไว้ในจดหมายว่า เข้ารับตําแหน่งเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 และไล่เขาออกใน 3 เดือนถัดมาแบบที่เจ้าตัวบอกว่า "ไม่มีเค้าลาง”!

 

กรรมการชุดนี้มี  รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย เป็นประธาน นอกจากนี้ยังมี คณะกรรมการที่ปรึกษาหอศิลป์ กทม.” อีก 8 รายชื่อ โดยมี อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบันเป็นประธาน

 

ในจำนวนนี้ยังมีรองผู้ว่าฯ กทม., ปลัด และรองปลัดกทม. นั่งเป็นรองประธานกรรมการที่ปรึกษา ส่วน ผอ.สำนักงบประมาณ กทม. นั่งเป็นกรรมการที่ปรึกษาด้วย

 

สำหรับ รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เธอเป็นอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการออกแบบชุมชนเมือง จุฬาฯ และยังเป็นอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ในสมัย ดร.พิจิตต รัตตกุล และอภิรักษ์ โกษะโยธิน อีกด้วย

 

ถึงตรงนี้ถามว่าสงครามของแดนศิลป์ตอนนี้คืออะไร ก็อาจเป็นการที่ครูป้อมใช้พื้นที่ทางความคิดและทัศนติอย่างผิดที่ผิดเวลา หรือแค่ผิดในสายตาของกรรมการที่่เป็นเสมือนผู้ปกครองอีกชั้น

 

 

 

ศึกนี้รบกับใคร?

 

กลับไปที่ฉากเงาของหอศิลป์กทม. ช่วงปี 2561 ในยุคของผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง ช่วงที่ครูป้อมเพิ่งเข้ามาเป็นผอ.ได้ไม่กี่เดือน ตอนนั้น อภิรักษ์ โกษะโยธิน ยังนั่งเป็นประธานมูลนิธิมาตั้งแต่ต้นจนถึงขณะนั้น

 

ปรากฏว่าจากงานในฝันก็แปรผันเปลี่ยนไป เพราะอยู่ๆ มุมมองของหอศิลป์ถูกตีความใหม่ กทม.มีแนวคิดที่จะนำหอศิลป์กลับมาดูแลเอง

 

 

"ปวิตร มหาสารินันทน์"  'สงคราม' ไม่เคยจบ ที่หอศิลป์กทม.

 

 

ตอนนั้น “สภา กทม.” ชุดของ ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ มองว่า มูลนิธิเป็นนิติบุคคลเข้าข่ายเป็นเอกชนตามมาตรา 96 และการเข้ามาบริหารของมูลนิธิไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภา กทม. และรมว.มหาดไทย จึงอาจเป็นการกระทำผิดกฎหมาย

 

จึงเสนอ 2 แนวทาง คือ 1.ให้มูลนิธิดำเนินการให้ถูกต้อง คือให้สภา กทม.เห็นชอบ รมว.มหาดไทยลงนาม แล้วบริหารต่อไป หรือ 2.กทม.นำมาบริหารเอง

 

เวลานั้นขณะที่ยังไม่ได้ข้อสรุปปรากฏว่าคนไทยหลายคนออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างร้อนแรง ด้วยเชื่อว่านี่คือการเข้ามายึดหอศิลป์ และที่สุดพื้นที่ทางศิลปะจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และเรียกร้องให้แก้ไขอายุสัญญาต่อไปอีก

 

ช่วงนั้นครูป้อมของเราเลยออกมาแสดงบทบาทเต็มที่ มีคำพูดต่างๆ นานาเกี่ยวกับปัญหาการจัดสรรงบของกทม. (จะว่าไปเค้าลางที่จะโดนไล่ออกของครูป้อมที่บอกว่าไม่เคยรู้สึกมาก่อน ก็คงเริ่มตั้งแต่วันนั้นแหละ)

 

 

"ปวิตร มหาสารินันทน์"  'สงคราม' ไม่เคยจบ ที่หอศิลป์กทม.

 

 

แต่ยกแรกปี 2561 ประชาชนคือผู้ชนะ เมื่อพ่อเมืองกทม. โพสต์เฟซบุ๊ก “ผู้ว่าฯ อัศวิน” ว่า “Ars longa, vita brevis” “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” ตัดสินใจให้เวลาหอศิลป์เป็นแบบที่เป็นอยู่ต่อไปจนถึงวันหมดสัญญาปี 2564

 

ระหว่างที่คนไทยนึกว่ายกสองจะได้สู้กันต่อในอีก 2-3 ปีข้างหน้า แต่ก็กลับมีเซอร์ไพรส์ล่วงหน้ากับ “ครูป้อม” เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

 

วันนี้ถามเจ้าตัวแว่วมาว่านอกจากตีฆ้องร้องป่าวขอทราบเหตุผลชัดๆ ที่โดนไล่ออกแล้วก็คงทำได้เพียงการเล็งฟ้องร้องเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

 

ส่วนประเด็นอื่นๆ คงต้องรอให้สังคมช่วยกันไฮไลท์เยอะๆ อย่าลืมว่านี่ก็ใกล้จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รอบใหม่แล้ว คนไทยหัวใจศิลปะ ที่เจตนาของการเกิดหอศิลป์ต้องมาก่อนกำไร-ขาดทุน คงต้องทำอะไรสักอย่างในยกถัดไป

 

***********************

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ