คอลัมนิสต์

เมื่อเขื่อนเป็นจำเลย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันอังคารที่ 24 กันยายน 2563

 

 

 

          ลักษณะทางกายภาพของจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเป็นแอ่งกระทะ และเป็นพื้นที่ปลายน้ำมูลที่จะระบายลงสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม ยังผลให้พื้นที่เหนือเขื่อนปากมูลซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำ และพื้นที่เหนือเขื่อนกั้นลำน้ำชี ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมค่อนข้างมาก และจะวิกฤติยิ่งขึ้น หากการบริหารจัดการน้ำไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะปริมาณน้ำที่เกิดจากพายุโซนร้อนโพดุล ซึ่งมีน้ำจากลำน้ำชีจากเทือกเขาที่เพชรบูรณ์ไหลมาสมทบกับลำน้ำมูล ประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมจำนวนไม่น้อยเห็นว่า โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่อย่างโครงการโขงชีมูลซึ่งบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชีเพื่อประโยชน์ทางการเกษตรและแก้ปัญหาภัยแล้งนั้น ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ และทำให้อุทกภัยรุนแรงขึ้น

 

 


          การลงพื้นที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมอธิบดีกรมชลประทาน เมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา สำนักงานชลประทานที่ 7 ได้บรรยายสรุปพื้นที่ประสบภัยพบว่า อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำฝนสะสม 1,547.60 มิลลิเมตร น้อยกว่าปีที่แล้ว 0.26% โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนสิรินธร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 1,938 ล้านลบ.ม. จากความจุอ่าง 1,966 ล้านลบ.ม. ที่น่าสนใจก็คืออ่างเก็บน้ำขนาด 13 อ่าง ความจุรวม 130.02 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำ 132.80 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่แล้วถึง 38.35% เกษตรกรได้รับผลกระทบทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง กระนั้นก็ตาม มีรายงานข่าวว่า ชาวบ้านเทศบาลนครอุบลราชธานี ยังคงได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากบ้านเรือนเสียหายอย่างหนัก เพราะน้ำท่วมสูงมาก

 


          ขณะเดียวกัน เกษตรกรที่ อ.ทุ่งหลวง จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งมีแม่น้ำชีพาดผ่าน ครอบคลุมพื้นที่ 7,816 ตารางกิโลเมตรของจังหวัด บอกว่า หลายหมู่บ้านประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก น้ำขึ้นเร็วแต่กลับลงช้า เพราะลักษณะที่ตั้งหมู่บ้านและพื้นที่การเกษตรอยู่ในที่ลุ่ม น้ำท่วมถึง และมีเขื่อนกั้นลำน้ำชี โดยเฉพาะเขื่อนร้อยเอ็ด, เขื่อนยโสธร-พนมไพร เป็นต้น ทำให้ปริมาณน้ำไหลไม่ปกติเหมือนในอดีต ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ปลูกข้าว ที่อยู่อาศัย และทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านประสบความทุกข์ยาก เพราะน้ำท่วมขังครั้งละนานถึง 3-4เดือน อีกทั้งพื้นที่นี้ ทำนานอกเขตชลประทาน หรือนาน้ำฝน หรือทำนาปีละครั้ง จะกระทบถึงปริมาณข้าวเหนียวที่เพาะปลูกเพื่อการบริโภค โดยสรุปก็คือ ปีหน้าจะต้องซื้อข้าวกินอย่างแน่นอน

 


          สาเหตุหนึ่งที่ประชาชนในพื้นที่หยิบยกเรื่องเขื่อนกั้นน้ำ หรือเขื่อนทดน้ำ ที่สร้างขึ้นมาตามยุทธศาสตร์จัดการน้ำ อาจเป็นเพราะการบริหารจัดการประสบปัญหา โดยเฉพาะแม่น้ำมูลซึ่งปากแม่น้ำมีสภาพเป็นคอขวด ต้องรองรับน้ำจากนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ซึ่งไหลมารวมกับแม่น้ำชีจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ที่ อ.วารินชำราบ อุบลราชธานี ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงก็ขึ้นสูงเช่นกัน อันนับเป็นปัญหาประเดประดังจนทำให้เกิดน้ำท่วมสูงผิดปกติ และท่วมนาน ทำให้พื้นที่เหนือเขื่อนเป็นพื้นที่ประสบภัยอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนทุกพื้นที่ในลุ่มน้ำ ต้องทบทวนบทเรียนน้่ำท่วมเพชรบุรีเมื่อปีก่อนเพราะการระบายน้ำเขื่อนแก่งกระจานและเขื่อนเพชรบุรี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ