คอลัมนิสต์

ฝุ่นพิษข้ามพรมแดน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันจันทร์ที่ 23 กันยายน 2562

 

 

          หมอกควันในภาคใต้ที่เกิดการเผาป่าบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ระลอกใหม่พัดปกคลุมต่อเนื่องมานับสัปดาห์ ทำให้ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือพีเอ็ม 2.5 ปกคลุมพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างในหลายจังหวัด ทำให้แสงแดดไม่สามารถส่องลงมาถึงพื้นดินได้ ประชาชนส่วนใหญ่สัมผัสได้ถึงความผิดปกติของอากาศ ทำให้ต้องเผชิญกับวิกฤติฝุ่นควันและฝุ่นละอองพิษ ได้รับผลกระทบด้านปัญหาสุขภาพ ทั้ง ไอ หายใจลำบาก หรือระคายเคืองตา ฝุ่นพิษที่สะสมในร่างกายก่อให้เกิดผลกระทบในด้านต่างๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงมีครรภ์ รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว นอกจากนี้ยังกระทบไปถึงการดำรงชีวิต กิจกรรมประจำวันต้องถูกปรับเปลี่ยนไปด้วย โดยค่าพีเอ็ม 2.5 เริ่มเกินค่ามาตรฐานในระดับที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพและดูจะรุนแรงที่สุดในรอบ 3 ปี

 

 

          ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าวันที่ 20 กันยายน ประชาชนใน จ.สงขลา ทั้งในพื้นที่ อ.เมืองสงขลา และ อ.หาดใหญ่ ได้นัดรวมตัวชุมนุมกันอย่างสันติที่หน้าสถานกงสุลอินโดนีเซีย อ.เมืองสงขลา ชูป้ายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซียเร่งแก้ปัญหาหมอกควัน สะท้อนให้เห็นถึงความเดือดร้อนของชาวสงขลาจากผลกระทบของหมอกควันที่พัดมาจากอินโดนีเซียทุกปี ตัวแทนผู้ชุมนุมอ่านแถลงการณ์ในนามของผู้ที่ได้รับความทุกข์ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคมของทุกปี จ.สงขลา ต้องเผชิญกับหมอกควันจากไฟไหม้ป่าประเทศอินโดนีเซียมาตลอดและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเมื่อปี 2558 ชาว จ.สงขลา ก็เคยมารวมตัวที่หน้าสถานกงสุลอินโดนีเซียประจำ จ.สงขลา มาแล้วครั้งหนึ่ง


          ปัญหาควันพิษนี้ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และกระทบการท่องเที่ยวของประเทศ แม้กระทรวงสาธารณสุขจะตื่นตัวติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเปิดช่องทางโซเชียลเพื่อให้ประชาชนติดตามข่าวสาร และป้องกันตัวเองจากฝุ่นละออง พีเอ็ม 2.5 ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะปัญหาฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 กำลังกลายเป็นปัญหาถาวรในหลายพื้นที่ ซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ขณะที่รัฐบาลตามแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หลังวิกฤติจบลงก็เลิกไปเหมือนไฟไหม้ฟาง จึงมีเสียงเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังเป็นระบบ โดยเปิดการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีการเผาป่ามาก เช่น อินโดนีเซีย พม่า ลาว เพราะอีกไม่นานก็จะวนเข้าสู่ปัญหาหมอกควันภาคเหนือที่เกิดขึ้นทุกปี 

 


          ถึงเวลาแล้วที่สมาชิกประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน จำเป็นต้องร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนอย่างจริงจัง เพราะเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพอากาศในภูมิภาคแย่ลง ก่อมลพิษ นอกจากนี้ยังเป็นปัญหาแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจกซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประเทศในอาเซียน ในฐานะที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียนในปลายปีนี้จึงเป็นเรื่องเหมาะสมหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะยกเรื่องนี้เป็นหัวข้อหารือกับสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียนถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อกำจัดมลภาวะ หันหน้าหาทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังให้ตกผลึกเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์อาเซียนไร้หมอกควันด้วยความยั่งยืน 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ