คอลัมนิสต์

พม.นัดแกนนำคนพิการ ถกปม หักหัวคิว จ้างงาน

พม.นัดแกนนำคนพิการ ถกปม หักหัวคิว จ้างงาน

 

 

          อธิบดี พก.เชิญประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการเข้าประชุมหารือวางแนวทางการจ้างงานคนพิการให้ถูกต้องตามกฎหมาย หลังเครือข่ายคนพิการเปิดโปงข้อมูลทุจริตและการจ้างงานผิดกฎหมายมานานกว่า 1 ปี แต่ก็ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีมากมายหลายคดี จนต้องจัดกิจกรรมเดินเท้าจากกาฬสินธุ์เข้ากรุงเทพฯ ระยะทาง 600 กิโลเมตรอยู่ในขณะนี้ เพื่อทวงความยุติธรรม

 

 

          นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (กรม พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ส่งหนังสือถึง นายปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ เพื่อให้เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 35 ของกฎหมายให้ชัดเจน ถูกต้อง ในวันจันทร์ที่ 16 กันยายน เวลา 13.30 น. โดยสถานที่จัดประชุมคือห้องศูนย์ปฏิบัติการ พก. กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ถนนราชวิถี


          สำหรับการจ้างงานคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการนั้น บัญญัติเอาไว้ 3 ช่องทาง ใน 3 มาตราของกฎหมาย ประกอบด้วย


          มาตรา 33 จ้างงานโดยตรงกับคนพิการ กฎหมายกำหนดให้นายจ้าง เจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐที่มีจำนวนผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องรับคนพิการเข้าทำงานในอัตรา 100 ต่อ 1 (ผู้ปฏิบัติงานปกติ 100 คน ต้องจ้างคนพิการ 1 คน)


          มาตรา 34 กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ได้รับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 ให้ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ


          และมาตรา 35 กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่รับคนพิการเข้าทำงาน และไม่ประสงค์ส่งเงินเข้ากองทุนด้วย อาจให้สัมปทานจัดสถานที่ขายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงาน หรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีพิเศษ ฝึกงานหรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแค่คนพิการ หรือผู้ดูแลคนพิการก็ได้




          ตลอด 1 ปีเศษที่ผ่านมา ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการได้ออกมาเคลื่อนไหวยื่นหนังสือให้องค์กรตรวจสอบหลายแห่งสอบสวนการทุจริตการจ้างงานคนพิการตามช่องทางเหล่านี้ โดยให้ข้อมูลว่ามีการทุจริต หักหัวคิวทั้งค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ที่คนพิการควรจะได้รับ คิดเป็นตัวเลขกลมๆ ปีละ 1,500 ล้านบาท โดยช่องทางที่มีปัญหามากที่สุดคือช่องทางตามมาตรา 35 เพราะกฎหมายเขียนเปิดให้ใช้วิธีการจ้างงานหรือมอบสิทธิประโยชน์แก่คนพิการไว้ค่อนข้างกว้าง ไม่ระบุชัดเจน ทำให้มีการซิกแซ็กหักหัวคิวและเอาเปรียบคนพิการ


          มีรายงานว่า กรม พก. ซึ่งรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงน่าจะเชิญ นายปรีดา ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ เข้าหารือและรับฟังความคิดเห็นในเรื่องนี้


          นอกจากนั้นในช่วง 1 ปีเศษที่ออกมาเคลื่อนไหวเปิดโปงการทุจริตเงินอุดหนุนและการจ้างงานคนพิการ พบข้อมูลว่ามีการกระทำเป็นขบวนการ ทั้งข้าราชการ บริษัทเอกชน และสมาคมหรือองค์กรคนพิการบางแห่ง ซึ่งจากการตรวจสอบขององค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น ป.ป.ท. และดีเอสไอ พบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายหรือทุจริตจริง แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากลับไม่มีการดำเนินคดีหรือเอาผิดใครเลย จึงมีการจัดกิจกรรม “เดินต้านทุจริต พิทักษ์สิทธิ์คนพิการ...600 กิโลเมตร เอาผิดคนโกง”


          ในทางกลับกัน คนพิการและผู้ดูแลคนพิการที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลกลับถูกฟ้องร้องดำเนินคดีมากมาย เฉพาะนายปรีดาคนเดียวก็โดนเข้าไป 4-5 คดี อย่างเช่นเมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา นายปรีดาก็ต้องนั่งรถเข็นเดินทางไปขึ้นศาลที่ศาลจังหวัดปทุมธานี ในคดีที่ถูกเจ้าหน้าที่จากกรม พก. ยื่นฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท


          นายปรีดา บอกว่า โดนนิติกรชำนาญการของกรม พก.ฟ้องหมิ่นประมาทกรณีที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลการละเมิดสิทธิ์คนพิการอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งๆ ที่การเปิดโปงเรื่องนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 61 โดยได้ส่งหนังสือไปยังสำนักงานปปง. ป.ป.ช. ป.ป.ท. สตง. ดีเอสไอ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทุกหน่วยได้เข้ามาร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง และพบว่าสิ่งที่ร้องเรียนไปมีมูล แต่ข้าราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่มีใครต้องรับโทษ


          “ในส่วนของข้าราชการที่อาจจะประพฤติมิชอบก็ไม่ได้รับโทษอะไรเลย แม้ว่าจะมีหลักฐานชัดเจนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด ระหว่างการต่อสู้เราถูกฟ้อง รวมทั้งเครือข่าย คือ 5 คดี และอีก 2 คดีที่เป็นการฟ้องจากเจ้าพนักงานของรัฐ รวมทั้งหมด 7 คดี” นายปรีดา กล่าว


          สำหรับกิจกรรม “เดินต้านทุจริต พิทักษ์สิทธิ์คนพิการ...600 กิโลเมตร เอาผิดคนโกง” จาก จ.กาฬสินธุ์ เข้ากรุงเทพฯ ทางเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการร่วมกับกลุ่มผู้ดูแลคนพิการทางสติปัญญา จ.กาฬสินธุ์ เดินเท้าจากศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ก็ยังเดินอยู่ โดยทำระยะทางต่อวันได้ไม่มากนักเพราะเป็นชาวบ้านธรรมดา และยังมีปัญหาเรื่องฝนตก อาการป่วย และรองเท้าพัง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวยอดนิยม