คอลัมนิสต์

แต่งตั้งผู้ขาดคุณสมบัติ... หน่วยงานมีอำนาจให้ออกจากราชการได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  เรื่องน่ารู้ว่านนี้...กับคดีปกครอง  โดย... นายปกครอง

 

 

 

          “ข้าราชการ” จะต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี มีความซื่อสัตย์สุจริต ประวัติความประพฤติของบุคคลจึงมีผลต่อการดำรงตำแหน่งหน้าที่ราชการ ไม่ว่าจะเป็นประวัติความประพฤติในช่วงก่อนรับราชการ หรือในขณะที่รับราชการแล้วก็ตาม 

 

 

          หากพบว่า “ประพฤติตนเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี” จะถือว่าเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามของการบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการได้ เช่น ข้าราชการตำรวจ ทั้งนี้หากหน่วยงานได้บรรจุแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวเข้ารับราชการแล้ว ก็มีอำนาจออกคำสั่งให้ออกจากราชการได้ หรือในกรณีที่อยู่ในขั้นตอนพิจารณาคุณสมบัติเพื่อบรรจุแต่งตั้ง หน่วยงานก็มีอำนาจตัดสิทธิไม่บรรจุแต่งตั้งได้เช่นกัน


          เรื่องน่ารู้...วันนี้ เป็นกรณีผู้ฟ้องคดีซึ่งได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการตำรวจแล้ว แต่ต่อมามีการตรวจสอบประวัติพบว่า ผู้ฟ้องคดีเคยต้องหาคดีอาญาฐานเสพเมทแอมเฟตามีน โดยศาลจังหวัดมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก แต่ให้รอลงอาญา ผู้บัญชาการตำรวจภูธร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) จึงมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ เนื่องจากถือเป็นผู้มี “ความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี” ตาม กฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2547 ข้อ 2(2)


          ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์แต่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) มีมติยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าตนได้กระทำผิดมานานแล้วและไม่เคยกระทำผิดอีก ประกอบกับได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 ที่ให้สิทธิและโอกาสแก่ผู้เสพหรือติดยาเสพติดซึ่งพ้นจากสภาพการใช้ยาเสพติดเข้ารับราชการ โดยให้ถือว่าเป็นเพียงผู้ป่วยที่จะต้องได้รับสิทธิและโอกาสในการเข้ารับราชการเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ให้ออกจากราชการ และมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ยกอุทธรณ์




          คดีนี้มีประเด็นพิจารณาว่า... ผู้ฟ้องคดีถือเป็นผู้ประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดีหรือไม่ ? และมติคณะรัฐมนตรีมีผลผูกพันให้หน่วยงานต้องรับบุคคลซึ่งพ้นจากสภาพการใช้ยาเสพติดเข้ารับราชการหรือไม่ ? นายปกครองมีคำตอบมาฝากครับ...


          ศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยว่า ข้าราชการตำรวจเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายและปฏิบัติหน้าที่ใกล้ชิดกับประชาชนโดยตรง จึงต้องเป็นผู้ที่มีความประพฤติดี ปฏิบัติดีและอยู่ในศีลธรรม ไม่เป็นผู้ที่มีประวัติด่างพร้อย รวมทั้งต้องเป็นผู้ที่มีความเพียบพร้อมในเรื่องคุณสมบัติ เมื่อผู้ฟ้องคดีมีประวัติต้องคำพิพากษาของศาลว่ามีความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน ถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีพฤติการณ์และการกระทำที่เสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดีจากเรื่องดังกล่าว จึงขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ


          สำหรับมติคณะรัฐมนตรีที่พิพาทมิได้มีผลเป็นการแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเว้นหลักเกณฑ์ของกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ และเป็นเพียงแนวทางให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองปฏิบัติในฐานะที่เป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งการผู้ใต้บังคับบัญชาให้ทราบถึงแนวทางที่ควรจะปฏิบัติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการภายในเท่านั้น ไม่มีผลเป็นการจำกัดดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้ต้องวินิจฉัยว่าการเสพหรือติดยาเสพติดไม่ถือเป็นผู้ประพฤติเสื่อมเสียทุกกรณี 


          ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงยังคงมีอำนาจใช้ดุลพินิจวินิจฉัยเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจเป็นการเฉพาะรายให้ถูกต้องตรงตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องได้ โดยหากตรวจสอบแล้วพบว่าผู้ที่สอบแข่งขันได้และได้รับการบรรจุและแต่งตั้งไปแล้ว ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ก็ยังสามารถสั่งให้ออกจากราชการได้ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศรับสมัครสอบแข่งขันฯ ดังนั้นคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงเป็นการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 869/2561)


          จะเห็นได้ว่ากฎหมายไม่ได้ระบุถึงรายละเอียดว่าการกระทำเช่นใดถือเป็นการประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี และมิได้กำหนดช่วงเวลาของการประพฤติดังกล่าวไว้ว่าเฉพาะขณะรับราชการแล้วเท่านั้น จึงเป็นดุลพินิจของผู้มีอำนาจในการพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นรายกรณี ซึ่งกรณีนี้ผู้ที่มีประวัติเคยต้องคำพิพากษาของศาลว่ามีความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน ถือได้ว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์และการกระทำที่เสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี อันเป็นลักษณะต้องห้ามของการรับราชการตำรวจ หน่วยงานจึงมีอำนาจออกคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้ แม้จะได้รับการบรรจุแต่งตั้งไปแล้วก็ตาม ส่วนมติคณะรัฐมนตรีเป็นแนวทางในการพิจารณา มิได้มีผลเป็นการแก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือยกเว้นหลักเกณฑ์ของกฎหมายแต่อย่างใด...


          (ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ