คอลัมนิสต์

รัฐธรรมนูญกินได้หรือไม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพุธที่ 11 กันยายน 2562

 

 

 

          พรรคฝ่ายค้าน 7 พรรค และพรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอญัตติขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ ได้ออกแคมเปญประสานการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองอดีตนปช.ว่า “เศรษฐกิจแย่ ต้องแก้รัฐธรรมนูญ” โดยให้เหตุผลทำนองว่า กติกาที่เขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็นการสืบทอดอำนาจ เปิดทางให้กลุ่มการเมืองอีกฝ่ายหนึ่งได้เปรียบทางการเมือง แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เช่นเดียวกับปัญหาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม หรือการเมือง ซึ่งหากปล่อยไว้เช่นนี้ ในอนาคตรัฐบาลชุดเดิมก็จะกลับเข้ามาได้อีก

 


          อย่างไรก็ตาม ลำพังพรรคฝ่ายค้าน ไม่อาจจะดำเนินการได้สำเร็จอย่างแน่นอน ซึ่งก็ต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันให้เกิดสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ขึ้นมา หรือให้สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)จำนวนอย่างน้อย 1 ใน 3 หรือ 84 คน จากทั้งหมด 250 คนร่วมสนับสนุน แต่ก็เป็นเรื่องยากทั้งสองกรณี อย่างแรก ผลสำรวจของสำนักโพลล์ระบุว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่ตอบคำถามไม่เชื่อว่า แก้รัฐธรรมนุูญแล้วเศรษฐกิจจะดีขึ้น ส่วนกรณีหลังนั้น เป็นไปได้ยากยิ่งที่ ส.ว.จะสนับสนุนให้แก้ไขกติกาเพื่อปิดประตูในประเด็นที่มาของพวกเขาเอง ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องที่ถูกตีตราว่า รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยครึ่งใบ

 


          ประเด็นหลักที่ฝ่ายเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญเน้นไปยังเรื่อง “ที่มา” ของนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง อีกทั้งยังให้อำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย พร้อมกันนี้ในระยะ 5 ปี หากนายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งและต้องเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ ก็จะเป็นไปตามกระบวนการเดิม ซึ่งเท่ากับว่าเลือกอย่างไรก็จะได้บุคคลตามที่ผู้ครองอำนาจและส.ว.ต้องการ ขณะที่ที่มาของ ส.ว.เองก็แทบจะไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน หากแต่เป็นการเลือกจากฝ่ายผู้มีอำนาจ คลาคล่ำไปด้วยนายทหาร ข้าราชการ และบุคคลในฝ่ายที่ถูกเรียกว่าสืบทอดอำนาจ ส่วนท่าทีรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กำลังตกเป็นเป้า ก็พยายามแสดงให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญกับปัญหาเศรษฐกิจไม่เกี่ยวกัน ควรแก้เรื่องปากท้องก่อน

 


          อันที่จริง รัฐธรรมนูญจะเกี่ยวไม่เกี่ยว หรือเกี่ยวมากเกี่ยวน้อยอย่างไรกับภาวะข้าวยากหมากแพงนั้น ทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งไปที่การสร้างวาทกรรมเสียมากกว่า หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต่างฝ่ายต่างก็พูดความจริงไม่หมด ฝ่ายที่เสนอแก้ไขนั้น ได้มุ่งไปที่เรื่องการเข้าสู่อำนาจเป็นเรื่องหลัก ซึ่งมองอย่างไรก็เหมือนกิจกรรมนี้แฝงไว้เพื่อตัวเองทั้งนั้น จึงไม่แปลกที่ประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นว่าไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเอง ก็ผัดผ่อนไปด้วยคำยืนยัน ต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อน ทั้งที่จริงๆ แล้ว หากจะให้ความร่วมมือหริือออกหน้าชูธงแก้ไขกติกาให้เป็นประชาธิปไตยก็ย่อมจะทำได้ แต่ก็เป็นเรื่องแปลกไม่น้อย หากพวกเขาจะแก้กติกาเพื่อปิดทางเข้าสู่อำนาจของตัวเอง
 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ