คอลัมนิสต์

มาเรียมกับมนุษย์...โดนเหมือนกัน พิษพลาสติกจิ๋ว เข้าท้อง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มาเรียมกับมนุษย์...โดนเหมือนกัน พิษพลาสติกจิ๋ว เข้าท้อง โดย...   ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

 

  
          ภาพเศษถุงพลาสติกเต็มท้อง “น้องมาเรียม” สร้างความสะเทือนใจให้เหล่าสาวกออนไลน์เป็นอย่างมาก มีการกระหน่ำแชร์ตีโพยตีพายถึงอันตรายขยะพลาสติกในท้องทะเลไทยมากมาย...แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าอันตรายของพลาสติกไม่ได้มีแค่ในน้ำทะเล เพราะในขวดน้ำดื่มใสแจ๋วก็มีเช่นกัน เพียงแค่บิดฝาก็เจอพลาสติกจิ๋วปนเปื้อนทันที...

 

 

          ผลชันสูตร “น้องมาเรียม” พะยูนน้อยกำพร้าแม่ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมานั้น ทีมสัตวแพทย์ยืนยันว่า “น้องจากไปเพราะขยะพลาสติกเล็กๆ เข้าไปขวางลำไส้” ส่งผลให้อุดตันและอักเสบจนติดเชื้อในกระแสเลือด เหตุการณ์นี้ทำให้นึกถึงรายงานผลสำรวจขององค์กร “ออร์บ มีเดีย” (Orb Media) เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ที่นำน้ำดื่ม 250 ขวด ของ 11 ยี่ห้อ วางขายใน 9 ประเทศ คือ สหรัฐ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย บราซิล เคนยา  เลบานอน เม็กซิโก และ “ไทยแลนด์” มาสุ่มตรวจจนพบอนุภาคพลาสติกถึงร้อยละ 93 โดยเป็นยี่ห้อน้ำดื่มมีชื่อเสียงระดับโลก เช่น Evian Aqua และ Nestle Pure Life หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อเนสท์เล่ เพียวไลฟ์

 

 

มาเรียมกับมนุษย์...โดนเหมือนกัน พิษพลาสติกจิ๋ว เข้าท้อง

 


          นักวิทยาศาสตร์ใช้สีย้อม “ไนล์เรด” ฉีดเข้าไปเพื่อให้ยึดเกาะและมองเห็นพลาสติกขนาดจิ๋วที่ล่องลอยเจือปนอยู่ในน้ำ พบว่าน้ำขนาด 1 ลิตร มีอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กเฉลี่ยตั้งแต่ 100–1,000 ชิ้น หมายความว่าน้ำขวดที่เราซื้อดื่มกันทุกๆ วันนั้นมี “ไมโครพลาสติก” แอบปนเปื้อนอยู่จำนวนไม่น้อยทีเดียว
    

          “ไมโครพลาสติก” (Microplastics) คือเศษพลาสติกจิ๋วขนาดเล็กกว่า 0.5 ซม. แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มที่ 1 เม็ดพลาสติกตั้งต้น ที่ตั้งใจผลิตขึ้นมาเป็นส่วนประกอบของสินค้าต่างๆ เช่น “เม็ดสครับ” (scrub) ในสบู่ล้างหน้า หรือ “คริสตัล บีดส์” (Crystal Beads) ในผงซักฟอก ส่วนกลุ่ม 2 คือ พลาสติกที่แตกหัก เป็นเศษหลุดลอกหรือเสื่อมสลายแตกตัวมาจากพลาสติกขนาดทั่วไป เช่น เศษถุงพลาสติก หรือกล่องพลาสติกที่เปื่อยหรือแตกแล้ว

 

 

มาเรียมกับมนุษย์...โดนเหมือนกัน พิษพลาสติกจิ๋ว เข้าท้อง

 


          ก่อนหน้าที่ไม่ค่อยมีใครกังวลใจกับขยะ “พลาสติกจิ๋ว” เหล่านี้มากนัก จนกระทั่งพบว่าพวกมันปนเปื้อนในน้ำดื่มเกือบทุกขวด กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ทั้งแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ต่างพากันออกมาแสดงความคิดเห็น โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่เชื่อว่า “กลไกร่างกายมนุษย์จะขับออกไปได้เพราะเล็กจิ๋วมาก” ทำให้ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก กับอีกกลุ่มที่เห็นตรงข้ามว่า “อนุภาคขนาดเล็กจะยิ่งเข้าไปเกาะติดในเนื้อเยื่อหรือผนังทางเดินอาหาร” ถ้าสะสมจำนวนมากอาจส่งผลให้การทำงานของอวัยวะในร่างกายผิดปกติได้
 

          เช่น ดร.สเตฟานี ไรท์ จากสถาบันการศึกษาคิงส์คอลเลจ ของอังกฤษ  เตือนว่าพวกมันอาจไปซ่อนตัวอยู่ในเซลล์ภูมิคุ้มกันในผนังกระเพาะ หรือแอบไปฝังตัวสะสมอยู่ที่ต่อมน้ำเหลือง หากโชคร้ายอาจเข้าสู่กระแสเลือดไปสะสมในตับก็ได้ จากนี้ไปคงต้องศึกษาวิจัยอย่างเร่งด่วนว่าไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในน้ำและอาหารเหล่านี้เป็นอันตรายแค่ไหน นักวิทยาศาสตร์บางคนเตือนว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เป็นมะเร็งบางชนิด หรือทำให้จำนวนอสุจิลดลง
 

          ปัจจุบันไทยผลิตน้ำดื่มแบบขวดขายปีละ 4,400 ล้านขวดต่อปี หมายความว่าพวกเราก็ไม่ต่างจาก “น้องมาเรียม” ที่รับ “พิษพลาสติก” เข้าท้องทุกวัน
 

 

 

มาเรียมกับมนุษย์...โดนเหมือนกัน พิษพลาสติกจิ๋ว เข้าท้อง

 

 

          นักวิจัยในสหรัฐอเมริกาประเมินว่าคนอเมริกันรับไมโครพลาสติกเข้าร่างกายปีละประมาณ 70,000 หน่วย ถ้าใครชอบซื้อน้ำขวดกินเป็นประจำก็จะรับเพิ่มเข้าไปอีกเป็น 90,000 หน่วย
 

          ช่วงนั้น “นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์” เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกมาให้สัมภาษณ์ว่ายังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าการปนเปื้อนดังกล่าวเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ เชื่อว่าน้ำดื่มบรรจุขวดในไทยยังคงปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพราะกำหนดคุณภาพตามมาตรฐานสากล ต้องสะอาดไม่มีสารหรือสีออกมาปนเปื้อน ไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค และควบคุมปริมาณตะกั่วและแคดเมียมในพลาสติกได้ไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม
 

          ล่าสุดวันที่ 21 สิงหาคม 2562 องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกรายงานเกี่ยวกับ “ผลกระทบไมโครพลาสติกในร่างกายมนุษย์” ถือเป็นฉบับแรกที่เน้นการปนเปื้อนในน้ำดื่ม โดยสรุปเนื้อหาได้ว่า "ไมโครพลาสติกที่มีขนาดใหญ่กว่า 0.15 มิลลิเมตร จะไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ แต่ถ้าขนาดเล็กกว่านั้นโดยเฉพาะนาโนพลาสติกจะก่อให้เกิดอันตรายได้มากกว่า นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการพบพลาสติกจิ๋วในขวดน้ำดื่มว่ามีจำนวนมากกว่าน้ำประปาเล็กน้อย โดยพบจาก “ฝาปิด” และกระบวนการผลิตขวด !

 

 

 

มาเรียมกับมนุษย์...โดนเหมือนกัน พิษพลาสติกจิ๋ว เข้าท้อง

 


          ทำให้เกิดคำถามว่าพลาสติกจิ๋วเกี่ยวกับฝาปิดขวดน้ำอย่างไร?
          “ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี” นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่าการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในขวดน้ำดื่มนั้น ส่วนใหญ่มาจากขั้นตอน “การปิดฝา” และ “บิดฝาเพี่อเปิดดื่ม” ซึ่งทำให้เกิดเศษพลาสติกขนาดเล็กมากๆ แตกหักปนเปื้อนลงไปในน้ำภายในขวด พร้อมกล่าวต่อว่า


          นอกจากในน้ำดื่มแล้วยังพบส่วนที่เป็นขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อมอีกจำนวนมาก โดยวิธีการลดปริมาณขยะไมโครพลาสติกนั้นมี 2 รูปแบบคือ รูปแบบที่ 1 พลาสติกที่เกิดจากการตั้งใจผลิตขึ้นมา เช่น ส่วนผสมในโฟมล้างหน้า เครื่องสำอาง ฯลฯ ต้องมีการประกาศห้ามใช้ ซึ่งบางประเทศใช้วิธีการ “แบน” (Ban) หรือไม่ให้ผู้ผลิตใช้ไมโครพลาสติกเป็นส่วนประกอบ ส่วนรูปแบบที่ 2 ได้แก่ไมโครพลาสติกที่แตกตัวหรือย่อยสลายมาจากพลาสติกชิ้นใหญ่ต้องใช้การควบคุมหรือจัดการป้องกันไม่ให้กระจายหรือหลุดรอดลงสู่สิ่งแวดล้อม เช่น กำหนดให้บริษัทผลิตเครื่องซักผ้าคิดค้นวิธีดักกรองไมโครไฟเบอร์ หรือพวกเส้นใยขนาดเล็กๆ ที่หลุดออกมา


          “ควรห้ามหรือลดการผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น กล่องโฟม ฯลฯ เปลี่ยนมาใช้ถุงผ้า กล่องชานอ้อย หรือวัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทน รวมถึงจัดเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก ร้านค้าไม่ควรแจกถุงฟรี ต้องเก็บเงิน นอกจากนี้ควรมีมาตรการควบคุมนักท่องเที่ยวตามอุทยานแห่งชาติต่างๆ ให้รับผิดชอบนำขยะของตัวเองออกมา ไม่ทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อม เช่น บางอุทยานมีการเก็บเงินมัดจำขยะ 100 บาท เมื่อนักท่องเที่ยวนำขยะออกมาโชว์ ก็จะคืนเงินมัดจำให้” ดร.สุจิตรา กล่าวแนะนำ
 

 

 

มาเรียมกับมนุษย์...โดนเหมือนกัน พิษพลาสติกจิ๋ว เข้าท้อง

 

 

          ทั้งนี้เมื่อปี 2560 เกาหลีใต้ไม่ให้เครื่องสำอางและยาสีฟันมีส่วนผสมของไมโครพลาสติก และในปี 2561 อังกฤษสั่งยกเลิกการใช้ไมโครพลาสติกในการผลิตสินค้าเกือบทุกชนิด


          ส่วนประเทศไทยที่มีสถิติ โยนขยะทิ้งลงทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก และในแต่ละปีผลิตขยะพลาสติกมากกว่า 2 ล้านตันนั้น ก็ได้ประกาศ “โรดแม็พ” หรือ ร่างแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 เช่นกัน


          โดยกำหนดว่าภายในปี 2562 จะเลิกใช้ พลาสติกผสมไมโครบีดส์
 

          ผ่านไปจนจะหมดปี 2562 แล้ว ก็ไม่เห็นว่า “รัฐบาล” มีประกาศหรือมาตรการอะไรบังคับใช้อย่างจริงจัง...หรือเป็นไปได้ว่า “คุณลุงบิ๊กตู่” ยังไม่ค่อยเข้าใจคำว่า “ไมโครพลาสติก”?
 

          คงต้องรอผ่าท้องคนไทยแล้วเจอ “เศษพลาสติกจิ๋วเสียก่อน” หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงจะเริ่มตื่นเต้น!?!

 
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ