คอลัมนิสต์

ลุงตู่ขี่พายุ สู้ปมถวายสัตย์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  รักแผ่นดิน  โดย...  ฅนไท  หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ

 

 

 

          พายุ“โพดุล”ไปแล้ว ทิ้งร่องรอยความเสียหายจากแนวที่พายุพัดผ่าน ทั้งน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก ถนน-บ้านเรือนพังไปหลายสิบจังหวัด “คาจิกิ”กำลังมาซ้ำ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า จะเข้ามาถล่ม 59 จังหวัด

 

 


          ขณะที่ประชาชนเดือดร้อนกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ฝ่ายการเมืองกำลังก่อพายุ “ปมถวายสัตย์ไม่ครบ” รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จึงต้องแก้ปัญหาพายุทั้งสองฝั่ง ทั้งพายุธรรมชาติที่ต้องบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และพายุทางการเมือง
 

          พลเอกประยุทธ์ และรัฐบาลเลือกแก้ปัญหาพายุ ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่รัฐบาลก่อน จะเห็นได้ว่า ตัวนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีกหลายคน เลือกลงพื้นที่ในจังหวัดซึ่งได้ความเดือดร้อนจากอุทกภัยและวาตภัยเป็นหลัก 


          โดยจัดลำดับพายุทางการเมืองเป็นเรื่องทีหลัง เลือกเวลาในการไปตอบอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ ในวันสุดท้ายของสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร 18 กันยายน ขอช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชนเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อสร้างคะแนนนิยม เป็นเกราะคุ้มกันพายุทางการเมือง


          ในขณะที่ฝ่ายค้าน มุ่งมั่นที่จะอภิปรายปมถวายสัตย์ให้ได้ เห็นเรื่องภัยธรรมชาติที่พี่น้องคนไทยประสบชะตากรรม เป็นเรื่องรอง ถึงขนาดที่โฆษกพรรคอนาคตใหม่ คุณช่อ พรรณิการ์ วานิช แถลงเร่งรัด ให้นายกฯ มาชี้แจงญัตติ โดยบอกว่า “น้ำท่วม เดี๋ยวคงลด คงไม่ท่วมไปจนปิดสมัยการประชุม” 


          ยังไม่เห็นพรรคอนาคตใหม่ แสดงความเห็นใจหรือช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ ขณะที่ทั้งรัฐบาลและแม้กระทั่งพรรคเพื่อไทยตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย


          ปัญหาการเมืองที่ถกกันในสภาควรจะมาทีหลัง ปัญหาของพี่น้องคนร่วมชาติไหม? 

 

 

          นักการเมืองต้องคิดให้ดี และถ้าปมถวายสัตย์ไม่ครบตามมาตรา 161 พลเอกประยุทธ์ มาตอบสั้น ๆ ว่า “เรื่องนี้อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญแล้ว พร้อมรับผลการตัดสินของศาล” พรรคอนาคตใหม่ที่คิดว่าปมนี้จะเป็น “จุดตาย” จะเดินหน้าอย่างไรต่อ? น่าคิด


          แต่เชื่อว่า พรรคฝ่ายค้านคงไม่ยอมที่จะหยุดอภิปราย 


          การที่รัฐบาลเลือกวันที่ 18 กันยายน วันประชุมสภา เป็นวันสุดท้ายที่จะพูดคุยกันเรื่องญัตตินี้ เพราะจะได้อภิปราย ไม่เกิน 1 วัน หลังเที่ยงคืนวันที่ 18 กันยายน ไม่สามารถอภิปรายต่อได้ เพราะปิดสมัยประชุมสภาแล้ว และเมื่อปิดเทอมสภา ทุกคนต้องกลับบ้านจนกว่า สภาจะเปิดเทอมใหม่ 


          ปมถวายสัตย์จึงต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่จบที่การอภิปรายในสภา

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-กรมอุตุฯประกาศเตือน"พายุโพดุล" ฉบับ2ได้รับผลกระทบหลายจังหวัด
-กรมอุตุฯชี้แจงข่าวลือ คลื่นความหนาวและพายุฤดูร้อนเข้าไทย
-นายกฯ ลั่น น้ำท่วมต้องคิดแก้ใหม่ทั้งหมด
-เขตเทศบาลเมืองยโสธรน้ำท่วมสูง

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ