คอลัมนิสต์

น้ำลดตอผุด ขุดรากเหง้า ก่อสร้างการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  กระดานความคิด   โดย...  บางนา บางปะกง 

 

 

 

          อิทธิฤทธิ์ของพายุโพดุล ทำให้หลายพื้นที่มีน้ำท่วมเกือบครึ่งค่อนภาคอีสาน ทรัพย์สินและที่อาศัยของชาวบ้านจมหายไปกับสายน้ำ นอกจากนี้ กระแสน้ำสร้างความเสียหายให้แก่โครงสร้างพื้นฐานในเขตชนบท ไม่ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำ ถนน สะพาน สถานที่ราชการ ฯลฯ

 

 

          ที่ฮือฮาในโลกโซเชียล มีการโพสต์ภาพของถนนลาดยางสายหนึ่ง ที่ถูกน้ำซัดจนผิวหน้าหลุดล่อนเป็นแผ่นๆ จึงมีเสียงวิจารณ์ว่า การก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน


          จะว่าไปแล้ว เรื่องถนนไม่ได้มาตรฐาน ก็เหมือนนิยายเรื่องเก่าที่เล่าซ้ำซาก โดยเฉพาะทางหลวงแถวบ้านนอกบ้านนา ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


          ลองไปส่องดูเบื้องหลังของนายก อบจ., นายกเทศมนตรี และนายก อบต. กว่าร้อยละ 90 เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างในท้องถิ่น และเชื่อมโยงกับนักการเมืองระดับชาติ

 

 

น้ำลดตอผุด ขุดรากเหง้า ก่อสร้างการเมือง

 


          แม้แต่ ส.ส.ชุดนี้ที่อยู่ในสภาผู้แทนฯ กว่าร้อยละ 70 เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน


          นับแต่ปี 2518 การก่อสร้างถนน อาคาร สะพาน เขื่อน อ่างเก็บน้ำของรัฐได้เป็นฐานทุนให้แก่กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง ก่อนที่จะผันตัวเองเข้าสู่วงการเมือง จึงเป็นที่มาของงานวิจัยเรื่อง “การเมืองก่อสร้าง ก่อสร้างการเมือง” โดยนพนันท์ วรรณเทพสกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่ทำงานวิจัยชิ้นนี้ให้กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

 

          จากงานวิจัยเรื่องก่อสร้างการเมือง-การเมืองก่อสร้าง ที่ทำการศึกษาช่วงก่อนเศรษฐกิจฟองสบู่แตก มาจนถึงยุคไทยรักไทยเฟื่องฟู พบสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นมากขึ้น ระหว่าง “ทุนก่อสร้าง” กับ “การเมือง” โดยเฉพาะ “ผลจากการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง ตั้งแต่ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจจนถึงยุคทักษิณ มีนักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเข้ามาอยู่ในพรรคการเมืองไทยถึง 75 ตระกูล”




          งานวิจัยชิ้นนี้ ได้สังเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจรายชื่อ ส.ส. รัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี และเลขานุการรัฐมนตรีใน ครม.ทักษิณ 1 (พ.ศ.2544-2547) เพื่อตรวจสอบบุคคล ที่มีนามสกุลเดียวกับผู้เป็นเจ้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในปัจจุบัน 

 

 

 

น้ำลดตอผุด ขุดรากเหง้า ก่อสร้างการเมือง

 


          โดยเทียบกับรายชื่อ “ผู้รับเหมาก่อสร้าง” ที่เป็นสมาชิกในสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ปี 2544-2546 และผู้รับเหมาก่อสร้างที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ปี 2546 พบว่า 75 ตระกูลกลุ่มทุนรับเหมาก่อสร้าง ที่ฝังตัวอยู่ในพรรคการเมือง


          แยกเป็นพรรคไทยรักไทย 36 ตระกูล, พรรคชาติไทย 13 ตระกูล, พรรคชาติพัฒนา 6 ตระกูล, พรรคความหวังใหม่ก่อนรวมกับไทยรักไทยมีอยู่ 5 ตระกูล, พรรคเสรีธรรมก่อนรวมกับไทยรักไทย มี 3 ตระกูล และพรรคประชาธิปัตย์ มี 13 ตระกูล


          ปัจจุบัน ข้อมูลข้างต้นนี้ ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก เนื่องจาก “นักเลือกตั้ง” หรือทุนรับเหมาก่อสร้างยังเป็นคนหน้าเดิม เพียงแต่ย้ายจาก “ค่ายทักษิณ” ไปอยู่ค่ายอื่นแทน 


          กว่าสองทศวรรษมานี้ นักเลือกตั้งบ้านเรา โดยเฉพาะกลุ่มการเมืองท้องถิ่นส่วนใหญ่ ยังเป็นตระกูลเดิมที่ผูกขาดการบริหารงาน อบจ. หรือเทศบาล ชนิดรุ่นต่อรุ่น 


          หนังสือ “รัฐ ทุน เจ้าพ่อท้องถิ่นกับสังคมไทย” ที่มี ผาสุก พงษ์ไพจิตร และสังศิต พิริยะรังสรรค์เป็นบรรณาธิการ จึงไม่ล้าสมัย อ่านยามใด ก็เห็นภาพจริงที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตา


          ความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์ของ “ทุนท้องถิ่น” กับนักการเมืองระดับชาติ ก็คือ “ระบอบประชาธิปไตยแบบสืบทอดอำนาจ” นั่นเอง อันเป็นเงื่อนไขที่ทำให้รัฐไทยยังเต็มไปด้วยการเล่นพรรคเล่นพวก และระบบเครือญาติ


          เฉพาะอำนาจรัฐท้องถิ่น ยังคงถูกควบคุมโดยความสัมพันธ์ส่วนบุคคล แม้ว่ารูปแบบการแข่งขันจะกระทำในนามระบอบประชาธิปไตย แต่เนื้อหาก็ยังเป็นการแย่งชิงผลประโยชน์


          ใครจะคิดว่า มาถึง พ.ศ.นี้แล้ว “กลุ่มทุนหวยเถื่อน” ยังเบ่งบารมีเหนือองค์กรปกครองท้องถิ่นหลายแห่ง แถมสนับสนุนนักเลือกตั้งในสังกัดให้เป็น ส.ส.ในสภาได้


          ผิวแผ่นพื้นถนนลาดยางที่หลุดล่อนเป็นกระแสร้อนในโซเชียล ก็แค่เปลือกหรือกระพี้ แต่แก่นแกนนั้นคือ “การเมืองก่อสร้าง ก่อสร้างการเมือง” ผู้กุมอำนาจรัฐ ไม่ว่ายุคประชาธิปไตยจ๋าหรือประชาธิปไตยในเงาปืน

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ