คอลัมนิสต์

 ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต กับสิทธิว่าด้วยบุตร ที่ขาดหาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สังคมไทยเปิดกว้างกับการมีคู่รักเพศเดียวกันโดยกำลังยกร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ออกมารองรับ แต่ยังมีคนติดใจในประเด็นการสร้างสถาบันครอบครัว ที่ยังมีเนื้อหาไม่ครอบคลุมพอ

 ขนิษฐา เทพจร

          เมื่อยุคสมัยเปิดกว้าง.. การปิดกั้นเรื่องเพศหรือประเด็นความแตกต่างระหว่าง  "เพศ"​ ถูกมองเป็นสิ่งที่ล้าหลัง และเมื่อยุคสมัยที่สังคมเริ่มยอมรับกับการมีคู่ชีวิตของเพศเดียวกันมากขึ้น 

       การเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางด้านกฎหมายต่อคู่รักที่เป็นเพศเดียวกัน ในหลายประเทศเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น แม้ประเทศไทยยังไปไม่ถึงขั้นบุคคลเพศเดียวกันแต่งงานผ่านการจดทะเบียนสมรสกันได้ เพราะกฎหมายไทย ไม่ได้เปิดกว้างถึงขนาดนั้น  
     

     แต่ในระยะ 8 ปีที่ผ่านมา มีกลุ่มคนที่เริ่มผลักดันการบัญญัติกฎหมาย รับรองสถานะของคู่ชีวิตของ คู่รักเพศเดียวกัน ให้ถูกต้องตามกฎหมายและมีสิทธิที่กฎหมายรับรอง ผ่าน "ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คู่ชีวิต"

       กับ "ร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิต" ล่าสุดขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ  ที่มี "ประสพสุข บุญเดช" กรรมการกฤษฎีกา เป็นประธานชุดพิเศษ ในขั้นตอนสุดท้ายก่อนส่งคืน "คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเข้าขั้นตอนของฝ่ายนิติบัญญัติ

         ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต กับสิทธิว่าด้วยบุตร ที่ขาดหาย

        แต่ก่อนร่างสุดท้ายจะส่งคืน ทางกฤษฎีกาได้เผยแพร่ร่างกฎหมาย ฉบับ40 มาตรา ให้สาธารณะให้ความเห็นอีกครั้ง กับฝ่ายวิชาการที่ผลักดันร่างกฎหมายและสนับสนุนการสร้างความเท่าเทียมทางเพศของกลุ่มเพศทางเลือก โดย ศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง พ.ร.บ.คู่ชีวิตมีสิทธิแค่ไหน? เพื่อแสดงความเห็นต่อ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต 

        ก่อนเข้าสู่เนื้อหาที่เป็นตัวบทกฎหมาย  "เกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม" ท้าวความว่า การผลักดันให้บุคคลที่เป็นเพศเดียวกันมีสิทธิต่อการเป็นคู่ชีวิตร่วมกัน เกิดขั้นโดยเป็นร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต เมือปี 2555 เพื่อให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่ระบุถึงกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตไม่ตรงกับเพศกำเนิด เพื่อให้มีศัพท์ทางกฎหมายที่รองรับ เพื่อให้บุคคล 2 คนที่เป็นเพศเดียวกันตกลงจะเป็นคู่ชีวิตร่วมกัน ผ่านการจดทะเบียน จะถือว่าการมีชีวิตคู่ดังกล่าวมีผลทางกฎหมาย

       "การผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวมีการต่อต้านมากช่วงแรก ทำให้ต้องยกร่างเนื้อหาใหม่ถึง 5 ครั้ง ก่อนเสนอให้กับคณะกรรมการทำกฎหมายระดับกระทรวงยุติธรรม จากนั้นส่งให้คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณา ซึ่งในร่างเนื้อหาที่เผยแพร่ปัจจุบันและรับฟังความเห็น ผ่านการยกร่างถึง 3 รอบ ทั้งนี้บางเรื่องที่คณะกรรมการกฤษฎีกากังวลว่าเนื้อหาไม่ครอบคลุมไม่พอกับสิทธิที่พึงมีพึงได้ของผู้ต้องการใช้กฎหมาย จึงจัดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นเพื่อนำความเห็นไปปรับปรุงอีกครั้งก่อนส่งคืนให้ คณะรัฐมนตรี เพื่อส่งต่อไปยังฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป" 

 ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต กับสิทธิว่าด้วยบุตร ที่ขาดหาย

        ขณะที่ความเห็นของฝ่ายวิชาการที่ร่วมผลักดันเนื้อหา อย่าง ศาสตราจารย์ ดร. ไพโรจน์ กัมพูสิริ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งสนับสนุนให้มีกฎหมายการสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน มองเนื้อหาร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับ40 มาตรา ว่า การกำหนดนิยาม ของคำว่า คู่ชีวิต ในมาตรา 3 ที่หมายถึง บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิดและได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตามกฎหมายนี้ อาจมีปัญหากรณีที่บุคคลที่ผ่านการผ่าตัดแปลงเพศมาแล้วจะไม่สามารถใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวได้ ขณะที่เงื่อนไขการจดทะเบียนคู่ชีวิต เช่น มาตรา 6 ว่าด้วยการหมั้นก่อนจดทะเบียนคู่ชีวิต ตนมองว่าหากบุคคลที่บรรลุนิติภาวะและสมัครใจจดทะเบียนคู่ชีวิตการหมั้นหมายก่อนนั้นอาจไม่จำเป็น

          อย่างไรก็ตามมาตรา 7กำหนดอายุว่าบุคคลที่มีอายุ 17 ปีสามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ หมายถึงยังเป็นผู้เยาว์และต้องมีผู้ที่ดูแล ขณะที่การบัญญัติว่าด้วยการหมั้นหมายก่อนจดทะเบียน และสามารถเรียกค่าทดแทนได้นั้น สามารถทำได้ แต่กฎหมายของต่างประเทศไม่มีบทบัญญัติดังกล่าว เพราะหากมีการบังคับผ่านสัญญาหมั้น เท่ากับอาจเกิดการฟ้องร้อง และมีคำสั่งศาลสั่งให้มีเบี้ยปรับ หรือ สั่งให้แต่งงานกัน ซึ่งตามสิทธิศาลไม่มีสิทธิสั่งให้จดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนคู่ชีวิตได้

         ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต กับสิทธิว่าด้วยบุตร ที่ขาดหาย

         ศ.ดร.ไพโรจน์ มองด้วยว่า มาตรา 8 ระบุเงื่อนไขการจดทะเบียนทำได้เมื่อบุคคลทั้ง 2 มีสัญชาติไทยทั้งคู่ หรือ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย ทำให้บุคคลที่มีสัญชาติต่างชาติไม่สามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ตามร่างกฎหมายดังกล่าวได้

          นอกจากนั้นมาตรา 9 ว่าด้วยข้อห้ามของการจดทะเบียนคู่ชีวิต ที่กำหนดไว้ 3 กรณี คือ จดกับบุคคลไร้ความสามารถ, บุคคลที่เป็นญาติทางสายโลหิต และบุคคลที่มีคู่สมรสอยู่ก่อนแล้ว อาจไม่ครอบคลุมประเด็นที่การจดทะเบียนคู่ชีวิตกับบุตรบุญธรรมได้ หากฝ่าฝืนจะมีปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 19 ที่ให้สิทธิ สถานะ หน้าที่ ความรับผิด ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้กับคู่ชีวิตโดยอนุโลม ดังนั้นกรณีที่บุตรบุญธรรมที่จดทะเบียนคู่ชีวิตอาจมีสถานะซ้อนกัน คือ บุตร และ คู่ชีวิต ดังนั้นอาจมีปัญหาต่อกรณีการแบ่งมรดกในสิทธิของครอบครัว

​         ข้อท้วงติงที่เกิดขึ้น มีประเด็นที่เห็นตรงกันในเชิงวิชาการ ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การตรากฎหมายเพื่อส่งเสริมเพศทางเลือก ต้องคำนึงด้วยว่าร่างกฎหมายที่จัดทำต้องไม่เลือกปฏิบัติหรือสร้างความเหลื่อมล้ำ หรือ ไปจำกัดสิทธิกับบุคคลอื่น ซึ่งตนมีคำถามต่อเนื้อหาของร่างกฎหมายคู่ชีวิตฉบับ40มาตรา เช่น กรณีของบุตรที่ติดมากับคู่ชีวิต, ประเด็นของบุตรบุญธรรม หรือการรับบุตรบุญธรรม ที่ถูกตัดออกจากเนื้อหา โดย มาตรา 19 วรรคสอง มีเนื้อหาระบุ ห้ามบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่ง เป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่าย ซึ่งตนมองว่าอาจเป็นบทบัญญัติที่ห้ามไม่ให้คู่ชีวิตนั้นสร้างความเป็นครอบครัวเดียวกัน โดยส่วนตัวมองว่าเด็กที่อยู่ในครอบครัวในเพศเดียวกัน ไม่ได้หมายถึงว่าเด็กที่เติบโตจะมีเบี่ยงเบนทางเพศเสมอไป 

        ดร.มาตาลักษณ์ ให้ความเห็นด้วยว่า สำหรับบทว่าด้วยการหมั้น ตามกฎหมายคือการกลั่นกรอง ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ในเนื้อหาของร่างกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ ทำให้เป็นคำถามว่า อาจไม่มีการคัดกรองสำหรับเด็กกลุ่มที่ร่างกฎหมายกำหนด ซึ่งร่างกฎหมายกำหนดให้อายุ 17 ปีสามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ ซึ่งถือว่ายังอยู่ในภาวะผู้เยาว์ ทั้งนี้ประเด็นที่ควรพิจารณาคือการคุ้มครองเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ  

         นอกจากนั้นในมาตรา 9 ที่กำหนดเงื่อนไขการห้ามจดทะเบียนคู่ชีวิต คือ (​3) คือ คู่ชีวิตมีคู่สมรสหรือมีคู่ชีวิตอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งตามกฎหมายไม่ได้จำกัดความชัดเจนว่าด้วยการมีคู่ชีวิตนั้นหมายถึงคู่สมรส หรือ คู่สมรสไม่ได้หมายถึงคู่ชีวิต ดังนั้นอาจมีปัญหาต่อการตีความได้ในอนาคต

       "คู่ชีวิตที่จำกัดความว่าบุคคลสองคนที่เป็นเพศเดียวกันตั้งแต่กำหนดมีสิทธิจดทะเบียนคู่ชีวิต ดังนั้นกรณีที่เพศชายแปลงเพศเป็นหญิงและจดทะเบียนคู่ชีวิตกับเพศชาย หรือ เพศชายแปลงเพศเป็นผู้หญิงและแต่งงานกับผู้หญิงที่มีจิตใจเป็นชาย ถือว่าไม่กังวลเพราะเข้าประมวลกฎหมายแพ่ง แต่สิ่งที่น่ากังวลคือการไม่ครอบคลุมกับทุกเคสที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ เพศที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิด เพราะมีการแปลงเพศ เป็นต้น" ดร.มาตาลักษณ์ เสนอความเห็น

         กับประเด็นที่ถูกวิจารณ์ในร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตมากที่สุดของเวทีนี้ คือ มาตรา 19 ที่มีเนื้อหาฉบับเต็มว่า วรรคแรก "ให้นำบทบัญญํติเกี่ยวกับสถานะ สิทธิ หน้าที่ ความรับผิด หรือ การอื่นใดของคู่สมรส หรือสามีภริยา ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับกับคู่ชีวิตโดยอนุโลม เพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่กรณีซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะชายและหญิงเท่านั้น" และวรรคสอง ระบุว่า "ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งในขณะเดียวกันไม่ได้" 

           ขณะที่ภาพรวมของเนื้อหา ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับ40มาตรา ในประเด็นอื่นๆ ไม่ถูกวิจารณ์มากนัก เพราะเสียงจากฝั่งนักวิชาการเห็นว่ายอมรับได้

             แต่สิ่งที่ติดใจ คือ บทกำหนดที่ยังไม่ครอบคลุม ในประเด็นการสร้างความคุ้มครองและการสร้างหลักประกันของการสร้างสถาบันครอบครัว แม้ว่า คู่ชีวิตจะเป็นบุคคลเพศเดียวกันก็ตาม

            ทั้งนี้ในเวทีที่จัดหวังว่าข้อเสนอที่ส่งผ่าน "คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ" จะรับฟังและบัญญัติเนื้อหาให้ครอบคลุม และส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพของบุคคลหลากหลายเพศที่เท่าเทียม และส่งเสริมการสร้างสถาบันครอบครัวแบบไม่เลือกปฏิบัติ.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ