คอลัมนิสต์

จบที่ ศาล รธน. ถวายสัตย์ฯไม่ครบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรื่องถวายสัตย์ฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่มีท่าทีจะจบลงและคงเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆไม่เลิกราง่ายๆ ทางออกทีดีที่สุด คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาด จึงจะได้ข้อยุติ

        โอภาส บุญล้อม 

        เรื่องกล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฝ่ายค้านยังไม่ยอมเลิกราแน่

         แม้ว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี  จัดพิธีเข้ารับพระราชดำรัสพร้อมลายพระราชหัตถ์ต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์  แต่ก็ไม่ใช่การถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่ ซึ่งนายวิษณุเครืองาม รองนายกรัฐมนตรีมือกฎหมายของรัฐบาล ก็บอกเช่นนั้น  

       ดังนั้นเมื่อการเข้ารับพระราชดำรัสพร้อมลายพระราชหัตถ์ต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ไม่ใช่การถวายสัตย์ใหม่ ประเด็นที่ว่า การถวายสัตย์ฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมาสมบูรณ์หรือไม่ในข้อความต่างๆ ที่พล.อ.ประยุทธ์ได้ถวายสัตย์ฯ จึงยังเป็นปัญหาอยู่ต่อไป

      นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ประธานวิปฝ่ายค้าน  ยังยืนยันว่ากรณีเรื่องของการถวายสัตย์ปฏิญาณของรัฐบาล ฝ่ายค้านจะเดินหน้าขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ  

      ขณะที่นายชวน หลีกภัย  ประธานสภาผู้แทนราษฎร เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่อ้างเหตุผลในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันกับกรณีถวายสัตย์ปฏิญาณตน เพื่อไม่มาตอบกับสภาภายในสภาสมัยสามัญที่เหลือเวลาเปิดประชุมประมาณ 3 สัปดาห์ หรือสิ้นสุดวันที่ 18 กันยายนนี้

           (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง )..(คลิป) ชวน กรีด รัฐบาลต้องรู้หน้าที่แจงสภา

           อย่างไรก็ตามกลไกในทางสภาซึ่งเป็นเวทีการเมือง แม้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา  จะมาชี้แจง และมีการอภิปรายเสนอแนะกันอย่างกว้างขวางจากฝ่ายค้านในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่สุดท้ายก็คงหาข้อยุติเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ได้  

        แต่สิ่งที่คาดหวังได้ว่าจะนำเรื่องถวายสัตย์ไปสู่ข้อยุติได้  ก็คือ กลไกขององค์กรอิสระ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดิน เพิ่งมีมติให้ส่งคำร้องของนายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อ 20 ส.ค. ขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากรณีถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนอาจขัดรัฐธรรมนูญ  และมีผลทำให้การกระทำในเวลาต่อมาของรัฐบาล เช่น การตั้งคณะรัฐมนตรี การแถลงนโยบาย การโยกย้ายข้าราชการเป็นโมฆะไปด้วย 

         โดยผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า นายภาณุพงษ์ ผู้ร้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามมาตรา 46 พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ที่ระบุว่า บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรงและได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพนั้น ย่อมมีสิทธิยื่นคําร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยคดีตามมาตรา 7 (11)คือคดีที่ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ร้องขอว่าการกระทํานั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ โดยจะต้องยื่นคําร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเสียก่อน 

          ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงมีมติให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ   โดยขาดข้อความที่ว่า.. "ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ " เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขัดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องเรียนในฐานะประชาชนคนหนึ่งหรือไม่

        เรื่องถวายสัตย์ฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ขั้นตอนต่อไปศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาว่าจะรับหรือไม่ ซึ่งถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณาก็จะเป็นการดีต่อบ้านเมืองเพราะว่าตอนนี้สังคมต้องการรู้ว่า การถวายสัตย์ของคณะรัฐมนตรีที่มีข้อความไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ ผลทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร และมีทางออกและแนวปฏิบัติกรณีถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วนว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง

     “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐ  ”

      บรรทัดฐานในเรื่องนี้ก็จะเกิด ทำให้เรื่องนี้หาข้อยุติได้       

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ