คอลัมนิสต์

1 แลก 50 ใครว่า...ไม่จริง  

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เลิกพรรคของไพบูลย์ นิติตะวัน ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่ พร้อมจุดประเด็น 1 แลก 50 แม้ภายหลังจะออกมาว่าแค่ตีปลาหน้าไซ แต่อย่าเพิ่งมองข้าม

    โอภาส บุญล้อม   

    ปริศนาที่ “ดาวสภา” เพื่อไทยอย่าง “สุทิน คลังแสง” จากพรรคเพื่อไทย  ทิ้งบอมบ์  กับคำว่า “วันนี้สิ่งที่เราเห็นอาจไม่ใช่ สิ่งที่ใช่เราอาจยังไม่เห็น ขอฝากให้จับตาดูหลังจากนี้”

       เป็นการกล่าวถึงการเคลื่อนไหวของนายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฎิรูป ที่ขอเลิกพรรคการเมือง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) ก็มีมติให้พรรคประชาชาชนปฎิรูป สิ้นสภาพ  ซึ่งก็มีผลเท่ากับพรรคประชาชนปฏิรูปถูกยุบพรรคไปว่า มีกลเกมทางการเมือง ที่มีอะไรมากกว่า การขอเลิกพรรคการเมืองตามปกติ  โดยอาจมีบางพรรคการเมืองได้ประโยชน์ และบางพรรคการเมืองเสียประโยชน์ จากการยุบพรรคประชาชนปฏิรูป ในครั้งนี้    

       แม้ว่าในเวลาต่อมา นายสุทิน  จะออกมาบอกว่า สิ่งที่ได้พูดไป เพียงเพื่อดักคอฝ่ายตรงข้าม หวังเพียงแค่ตีปลาหน้าไซ คิดว่า ควรพูดไปเพื่อสังคมจะได้รู้ จะได้ดักคอเอาไว้

         แต่เรื่องที่ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกต เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม และจะเป็นจริงหรือไม่ ต้องรอเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์  ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งแต่ไม่นาน   

          อย่างไรก็ตามในประเด็น “เลิกพรรค” และ ส.ส. ย้ายสังกัดไปพรรคอื่น ในทางกฎหมายถูกตั้งคำถาม ว่า ทำได้หรือไม่? และสิทธิของการเป็น “ส.ส.” นั้นจะคงอยู่หรือไม่ เพราะ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” คือส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่มาโดยคะแนนของพรรค และเมื่อย้ายไปสังกัดพรรคอื่น คะแนนที่ได้มานั้นจะต้องเกลี่ยให้พรรคใหม่ เพื่อคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือไม่?

      กับประเด็นแรกว่าด้วยการเลิกพรรค “ไพบูลย์ ” อธิบายว่า ตามบทบัญญัติของ “พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง” มาตรา 91 เขียนไว้ 7 กรณี คือ ไม่แก้ไขข้อบังคับให้ถูกต้อง, สมาชิกมีไม่ถึงเกณฑ์กำหนด, สาขาพรรคไม่ครบตามกำหนด, ไม่มีการประชุมใหญ่พรรคหรือไม่ทำกิจกรรมทางการเมือง 1 ปี ติดต่อกัน, ไม่ส่งสมาชิกลงเลือกตั้ง 2 ครั้งติดต่อกันหรือ8 ปีติดต่อกัน, มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย และ พรรคการเมืองเลิกตามข้อบังคับ ซึ่งกรณีของพรรคประชาชนปฏิรูปเป็นการขอเลิกตามข้อบังคับ 

    และในวรรคท้ายของมาตราดังกล่าว ระบุชัดว่า  การสิ้นสภาพพรรคตาม 7 กรณีนั้น ให้ถือว่า “เป็นการยุบพรรค”

      “เมื่อกฎหมายถือว่า การเลิกพรรคถือเป็นการยุบพรรค ผมฐานะ ส.ส. ได้รับความคุ้มครอง จากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10) ให้ ส.ส.หาสังกัดใหม่ได้ภายในเวลา 60วัน ซึ่งทั้งหมดผมได้พิจารณาในข้อกฎหมายอย่างละเอียดแล้ว”ไพบูลย์ ขยายความ

      และตอบคำถามต่อประเด็น “คะแนนเลือกตั้ง”ในนามพรรคประชาชนปฏิรูป ต่อว่า“กรณีหาสังกัดใหม่ กฎหมายไม่ได้บอกว่า ต้องเป็น ส.ส.เขต หรือส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะฐานะคือ ส.ส.เหมือนกัน 

        “ดังนั้นผมจึงมีสิทธิเป็น ส.ส.ต่อไปในนามพรรคพลังประชารัฐ ไม่ต้องต่อคิวนับลำดับกัน แต่คะแนนของพรรคพลังประชาชนปฏิรูปที่มีจะไม่สามารถนำไปรวมกับพลังประชารัฐ เพื่อเลื่อนบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐเป็นส.ส.ได้”

        “ ไพบูลย์ ” ยังบอกถึงสาเหตุสำคัญ​ที่กลายเป็น“ต้นเหตุ”​ให้เลิกพรรคประชาชนปฏิรูป ว่า ขาดบุคลากรทำงาน ซึ่งตามกฎหมายแล้วหลังจากตั้งพรรคการเมือง มีกติกาที่กำหนดให้ทำ ทั้งการตั้งสาขาพรรคให้ครบ 4 ภาค, มีตัวแทนประจำจังหวัด และการหาสมาชิกพรรค ที่หลังจากการเลือกตั้งครั้งแรกแล้ว “คำสั่งมาตรา 44” ที่งดเว้นการใช้ เกณฑ์สมาชิกขั้นต่ำเพื่อได้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ถือว่า สิ้นสุดลง และหากมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตใดได้ ต้องใช้เกณฑ์สมาชิกพรรค เกิน 100 คนขึ้นไปเป็นเกณฑ์ และต้องทำไพรมารี่โหวต หรือ การเลือกตั้งขั้นต้นในพรรคก่อนส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

        ดังนั้นขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด แม้เป็นมาตรฐานกำกับที่ดี แต่สร้างปัญหาให้ พรรคการเมืองขนาดเล็กซึ่งพรรคประชาชนปฏิรูป เดินต่อไปไม่ไหว

         แม้ว่า ฟังจาก “ไพบูลย์”  อธิบาย ดูแล้วก็เป็นเรื่องปกติ  เพราะที่เลิกพรรคเนื่องจากทำต่อไปไม่ไหวจากกติกาเลือกตั้งที่เข้มข้น และ การเลิกพรรคประชาปฏิรูป ก็ไม่มีผลต่อพรรคการเมืองใดในทางบวกหรือลบมากมาย เนื่องจาก ไพบูลย์ สามารถหาพรรคสังกัดใหม่ได้ภายใน 60 วัน ซึ่งพรรคการเมืองที่เขาจะไปอยู่ด้วยก็คือ  พรรคพลังประชารัฐ  และทำให้เขาไม่สิ้นสภาพ ส.ส. แต่ก็มีเขาแค่ 1 ที่นั่งเท่านั้นที่พรรคพลังประชารัฐได้เพิ่มขึ้น  ส่วนคะแนนบัญชีรายชื่อของพรรคประชาชนปฏิรูปที่ได้จากการเลือกตั้ง  พรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้ไปด้วย ไม่มีการยกให้แต่อย่างใด พรรคพลังประชารัฐ จึงไม่ได้คะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น

     แต่เมื่อตรวจสอบไปยังแหล่งข่าวที่ กกต. ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน  ความเห็นหนึ่งไปในทิศทางเดียวกับนายไพบูลย์

       โดยบอกว่า กรณี ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ ก็เหมือน ส.ส. เขต  เมื่อพรรคการเมืองที่ ส.ส. คนนั้น สังกัดอยู่ถูกยุบ  ส.ส. คนนั้นก็หาพรรคการเมืองอื่นสังกัดได้ภายใน 60 วัน และไม่มีผลต่อคะแนนบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่ ส.ส. ของพรรคการเมืองที่ถูกยุบย้ายเข้าสังกัด 

       "สมมุติว่าต่อไปเกิดกรณีพรรคอนาคตใหม่ ถูกยุบพรรค  ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของพรรคอนาคตใหม่ที่มี 50 คน ( ที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหาร หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค) ก็สามารถหาพรรคการเมืองอื่นสังกัดได้ภายใน 60 วัน  เพียงแต่ว่าอาจมีผลเปิดโอกาสให้ดูด "งูเห่า" จากพรรครัฐบาลเท่านั้น "

       แต่อีกความเห็นหนึ่ง บอกว่า อย่ามองข้ามเรื่องนายไพบูลย์ เลิกพรรคการเมือง ซึ่งมีการจุดประเด็นเรื่อง 1 แลก 50 ขึ้นมา  เพราะอาจมีปัญหาขึ้นมาว่า เมื่อ กกต.มีมติให้ยุบพรรคประชาชนปฏิรูปแล้ว

        ตามกฎหมายเปิดช่องให้นายไพบูลย์ ซึ่งเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ ให้สามารถหาพรรคสังกัดใหม่ได้หรือไม่เพราะนายไพบูลย์ไม่ใช่ ส.ส. เขต  เนื่องจากในส่วน  ส.ส. บัญชีรายชื่อ ยังไม่มีบรรทัดฐานในเรื่องนี้ และอาจมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ และหากศาลรัฐธรรมนูญ เกิดวินิจฉัยว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องสิ้นสมาชิกภาพ เมื่อพรรคการเมืองที่สังกัดอยู่ถูกยุบ ไม่สามารถหาพรรคการเมืองอื่นสังกัดได้  ที่ฝ่ายค้าน ห่วงว่าอาจส่งผลกระทบต่อพรรคอนาคตใหม่ หากเกิดถูกยุบ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรค 50 คน ต้องสิ้นสภาพไป  ก็อาจเป็นไปได้

      “ รออีกประมาณ1 เดือน จะได้คำตอบเรื่องนี้ ” แหล่งข่าวพูดให้คิด  

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ