คอลัมนิสต์

สู้กันอีกสักครั้ง รวมพลังขจัดภัย(นักบิด)บนทางเท้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สู้กันอีกสักครั้ง รวมพลังขจัดภัย(นักบิด)บนทางเท้า

 

 

          สาวญี่ปุ่นชื่อ เมกุมิ โมริโมโตะ ได้รับคำสรรเสิญอย่างแรงในโซเชียลมีเดีย จากวีรกรรม “บนทางเท้า” 


          เหตุการณ์เกิดที่ย่านลำสาลี เขตบางกะปิ เมื่อไม่นานมานี้

 

 

          ขณะ เมกุมิ ยืนรอรถเมล์ มีมอเตอร์ไซค์ 2 คัน ขี่ตามกันมาบนทางเท้าแคบๆ ที่เธอยืนอยู่ เธอมองเห็นจึงขยับตัวขวางและพูดกับชายคนขับ ขอร้องให้กลับลงไปบนถนน ฝ่ายมอเตอร์ไซค์ดูท่าทางไม่ค่อยยินดีแต่ก็ยอมให้ความร่วมมือ


          วีรกรรมของ เมกุมิ เหมาะเจาะกับช่วงที่ กทม.พยายามบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับพวกขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้า สกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม. จึงขอมอบประกาศนียบัตรเชิดชูความดีแก่เธอ และเชิญชวนคนไทยเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

 

 

 

สู้กันอีกสักครั้ง รวมพลังขจัดภัย(นักบิด)บนทางเท้า

 


          การขี่จักรยานยนต์รวมถึงการจอดรถบนทางเท้า สร้างความเดือดร้อนและถือเป็นภยันตรายที่สร้างปัญหาให้แก่คนกรุงเทพฯ มายาวนาน และมักมีข่าวเด็กนักเรียนและผู้สูงอายุถูกเฉี่ยวชนอยู่บ่อยๆ จนระยะปีสองปีมานี้ กทม.พยายามกวดขันเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ 


          สถิติการจับกุมผู้กระทำผิดตั้งแต่ 9 กรกฎาคม 2561 ถึง 19 สิงหาคม 2562 ข้อมูล 50 สำนักงานเขต จับกุมผู้กระทำผิดได้ 21,755 ราย ปรับเป็นเงินจำนวน 12,591,700 บาท แต่รองฯ สกลธี ไม่พอใจกับตัวเลขนี้ เพราะมีหลายเขตดูดาย รายงานว่าไม่พบผู้กระทำผิด ทั้งที่มีคนแจ้งข้อมูลร้องเรียนเข้ามาตลอด


          รองฯ สกลธี ออกปากว่า การแก้ปัญหารถจักรยานยนต์บนทางเท้า เจ้าหน้าที่เทศกิจต้องเอาใจใส่มากกว่าที่เป็นอยู่ เห็นได้ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562 กทม.ได้เพิ่มอัตราโทษค่าปรับรถจักรยานยนต์บนทางเท้าสูงสุดจาก 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท ก็ยังมีผู้ฝ่าฝืนจำนวนมาก แต่สามารถจับปรับผู้กระทำผิดได้เพียงประมาณ 500 ราย ค่าปรับ 700,000 บาท 

 

 

สู้กันอีกสักครั้ง รวมพลังขจัดภัย(นักบิด)บนทางเท้า

 



          “ผลการดำเนินการยังไม่น่าพอใจ เพราะหากแยกออกมาเป็นวัน เฉลี่ยวันหนึ่งจับได้แค่เขตละ 1 คัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ การดำเนินการย้อนแย้งกับสิ่งที่ประชาชนพบเห็น หรือร้องเรียนมา” 


          รองผู้ว่าฯ กทม.ไม่พอใจผลการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่บางเขตที่ไม่เอาใจใส่แก้ปัญหา ทั้งที่ความจริงแล้วเวลาที่ตนเอง ซึ่งเป็นผู้บริหาร กทม.นั่งรถผ่านตามพื้นที่ต่างๆ ยังพบเห็นผู้ฝ่าฝืนขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าตลอดเวลา แต่กลับมีอยู่ 7 เขตที่ไม่มีข้อมูลการจับกุมเลย ดังนั้นหลังจากนี้ จะเพิ่มค่าปรับกับพวกทำผิดซ้ำซาก  จาก 2,000 บาท เป็น 3,000 บาท เพื่อให้หลาบจำ โดยข้อมูลผู้กระทำผิดจะถูกบันทึกไว้ในแอพพลิเคชั่น เป็นฐานข้อมูลให้ทุกสำนักงานเขต ใช้ในการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดซ้ำซาก 


          “ผมจะลงพื้นที่ตรวจอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง กำชับเจ้าหน้าที่พยายามไม่ตั้งจุดจับปรับเป็นจุดเด่นชัด และให้หมุนเวียนตั้งจุดจับปรับสลับไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ผู้ที่ฝ่าฝืนทราบว่าตรงไหนมีการตั้งจุด โดยจุดหนึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ประจำประมาณ 5-6 คน หากจุดใดยังพบว่ามีผู้ฝ่าฝืนอยู่ ก็จะพยายามส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำจุดเรื่อยๆ”


          *ช่วยอีกแรงแจ้งเบาะแสล่ารางวัล*
          ผู้บริหาร กทม.ยอมรับว่า นโยบายทวงคืนทางเท้าจากสิงห์มอเตอร์ไซค์ทำได้ยาก และไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง ปัญหาการจราจรเป็นเรื่องหนึ่ง แต่หนักกว่านั้นคือการ ไร้วินัย ซึ่งหมายถึง มักง่าย นั่นเอง


          ดังนั้นการกวดขันจับปรับพวกจอดรถหรือขี่จักรยานยนต์บนทางเท้า จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขอความร่วมมือจากประชาชนช่วยกันสอดส่อง แจ้งเบาะแส การแจ้งเบาะแสก็จะได้ค่าตอบแทนคล้ายรางวัลนำจับ โดยสามารถทำได้ง่ายๆหลายช่องทางบนโทรศัพท์มือถือ 

 

 

สู้กันอีกสักครั้ง รวมพลังขจัดภัย(นักบิด)บนทางเท้า

 


          ช่องทางแรก สมัครลงทะเบียนในเว็บไซต์  http://203.155.220.179/reward/default.php และโหลดเก็บไว้ในเครื่อง เมื่อใดที่พบผู้กระทำผิดให้รีบถ่ายรูปให้เห็นตัวรถคนขับและเลขทะเบียนรถ  จากนั้นกรอกวันที่ วัน เวลา รายละเอียดสถานที่ เขต แบบสั้นๆ และชัดเจน พร้อมกับอัพโหลดแนบรูปถ่ายเหตุการณ์ พร้อมระบุวันเวลา สถานที่ให้ถูกต้อง แล้วคลิก ประสงค์รับส่วนแบ่งค่าปรับที่ได้จากการเปรียบเทียบ เสร็จแล้วคลิกปุ่ม ส่งข้อมูลเบาะแส


          เมื่อแจ้งเบาะแสไปแล้ว ก็รอติดตามความคืบหน้าทางระบบนี้เลยว่า รถคันนั้นไปจ่ายค่าปรับหรือยัง ถ้าจ่ายแล้วเราก็จะได้ส่วนแบ่งค่าปรับ


          ส่วนช่องทางแอพพลิเคชั่นไลน์ ก็สามารถแจ้งเบาะแสได้เช่นกัน โดยการแอดเพื่อนตาม Line ID คือ @ebn6703w  หลังจากนั้นจะมีไลน์ออฟฟิเชียล ชื่อ “รางวัลนำจับ” ขึ้นมา โดยในนั้นจะมีการบอกรายละเอียดเกี่ยวกับการแจ้งเหตุ ซึ่งมีความผิดให้แจ้งหลายกรณี ทั้งการขับขี่รถและจอดรถบนทางเท้า การติดป้ายโฆษณาผิดกฎหมายตามพื้นที่สาธารณะ บริเวณเสาไฟฟ้า ต้นไม้ริมทาง กำแพง รวมถึงฐานความผิดของการโฆษณาด้วยการปิด ทิ้ง หรือโปรยแผ่นประกาศ หรือใบปลิวในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานความผิดของการขีดเขียน พ่นสี ข้อความ ภาพ หรือรูปใดๆ ที่กำแพงติดกับถนน บนถนน ที่ต้นไม้หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่อยู่ติดกับถนน


          นอกจากนี้ยังสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ Facebook : สำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร , E-mail :[email protected], สายด่วนสำนักเทศกิจ โทร.0-2465-6644 ,ไปรษณีย์ ส่งถึงสำนักเทศกิจ เลขที่ 1 ถนนเทศบาลสาย 1 แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี 10600 และ ฝ่ายเทศกิจ ที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต


          การแจ้งเบาะแสนำจับทุกช่องทางผู้แจ้งจะได้รับส่วนแบ่งค่าปรับจริง รองฯ สกลธี บอกว่า ตั้งแต่เพิ่มโทษค่าปรับขั้นต่ำเป็น 2,000 บาท บางวันมีคนแจ้งเบาะแสเยอะจนทำให้ระบบล่ม จึงได้สั่งการให้สำนักเทศกิจปรับปรุงระบบให้มีความเสถียรมากขึ้น ขณะเดียวกัน ข้อมูลรูปภาพ หรือคลิปวิดีโอที่ส่งเข้ามา เจ้าหน้าที่พยายามติดตามผู้กระทำความผิดมาชำระค่าปรับ 


          “จากการดำเนินโครงการจับปรับผู้ฝ่าฝืนขับหรือจอดรถบนทางเท้า 1 ปีที่ผ่านมา พบว่าในแต่ละเดือน ปริมาณผู้ฝ่าฝืนลดลง แต่ยังพบว่ามีผู้ฝ่าฝืนในจุดที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ กทม.จะเพิ่มความเข้มงวดกวดขันอย่างต่อเนื่อง เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ทางเท้าต้องเป็นทางสำหรับคนเดิน ไม่ใช่ทางขับหรือจอดรถ”

 

 

 

สู้กันอีกสักครั้ง รวมพลังขจัดภัย(นักบิด)บนทางเท้า

 


          *เมกุมิ โมริโมโตะ ชื่อนี้จำให้ขึ้นใจ*
          เมกุมิ โมริโมโตะ ตามคำบอกกล่าวจากเจ้าตัว เธอเป็นนิสิต คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร มีชื่อไทยว่า “มะลิ” แต่ในห้องเรียนเพื่อนเรียกว่า ‘คุณจันทร์’ ปัจจุบันอายุ 55 ปี 


          มะลิ หรือ เมกุมิ อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มาได้ประมาณ 4-5 ปี ทำให้สามารถสื่อสารภาษาไทยได้และด้วยปัญหาสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง จึงเลือกไปเรียนที่ จ.สกลนคร เพราะอากาศบริสุทธิ์ ไม่ต้องลำบากกับปัญหารถติด อีกทั้งลูกๆเรียนจบหมดแล้ว จึงต้องการหาประสบการณ์เพิ่มพูนทักษะวิชาความรู้


          การทวงคืนทางเท้าที่ปรากฏในคลิปนั้น เมกุมิ บอกว่า ไม่ใช่ครั้งแรก  ปกติเธอชอบตักเตือนผู้ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าอยู่แล้ว เหตุการณ์วันนั้นกำลังยืนรอรถเมล์ และมีฝนตก แต่คนขับรถจักรยานยนต์ก็ขับขึ้นมาบนทางเท้าด้วยความเร็ว ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ใช้ความระมัดระวัง หรือเคารพกฎจราจร และยังมีเด็กนั่งมาด้วย จึงบอกให้ขับช้าๆ และควรลงไปขับบนถนนซะ


          เธอบอกว่า อย่าไปกลัวที่จะว่ากล่าวตักเตือนคนประเภทนี้  เพราะสิ่งที่พวกเขาทำมันผิดกฎหมาย ทุกคนอาจมองเป็นเรื่องเล็ก แต่การสอนให้รู้จักวินัยน่าจะเป็นเรื่องสำคัญ และเธอก็ทำแบบนี้มาตลอดระยะเวลา 4-5 ปี ที่อยู่เมืองไทย


          ความประทับใจของผู้คนที่มีต่อ เมกุมิ เกิดจากการที่เธอกล้าที่จะยืนหยัดต่อสู้กับความไม่ถูกต้องในสังคม แม้สิ่งที่เธอทำนั้นอยู่ในประเทศไทยไม่ใช่ญี่ปุ่น บ้านเกิดเมืองนอนของเธอก็ตาม


          สิ่งที่ เมกุมิ ทำ ไม่ถึงกับเรียกว่าจิตอาสา แต่เรียกได้เต็มปากว่า จิตสำนึก 


          เมกุมิ ทำในสิ่งที่ไม่เกินเลยกว่าคนทั่วไปจะทำได้ แต่เราไม่ค่อยพบเห็นในสังคมไทย


          การที่ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งต้องพึ่งพาไม้เท้าพยุงเดิน เพราะขาผิดรูปไม่แข็งแรงเหมือนคนปกติ ออกมาปลุกสำนึกผู้คนอย่างน่ายกย่องถึงขนาดนี้แล้ว สังคมไทยสมควรหรือยังที่จะร่วมมือกันปกป้องสิทธิของตัวเองบ้าง?

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ