คอลัมนิสต์

ผ่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ฉบับใหม่... ทำผู้ประกอบการกลัว ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ถือเป็นฤกษ์งามยามดี อีกวาระหนึ่ง ที่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว!!มีอะไร อัพเดทจากกฎหมายเก่าบ้าง ?

        เกศินี แตงเขียว

            25 ส.ค.62  ถือเป็นฤกษ์งามยามดี อีกวาระหนึ่ง ที่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว!!

          แล้ว “พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ฉบับใหม่” มีอะไร อัพเดทจากกฎหมายเก่าบ้าง ? งานนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ไม่รอช้าจัดราชดำเนินเสวนาหัวข้อ “ผ่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ บริโภคฉบับใหม่ : ได้อะไร ? ” เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับข้อปฏิบัติ และสาระสำคัญในกฎหมาย         

           โดยมี นายเทวัญ ลิปตพัลลภ  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลงานสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) , นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการ สคบ. , นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง นักวิชาการอิสระ และอดีตกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคผู้ทรงคุณวุฒิ ปฏิบัติหน้าที่ 12 ปี และอดีตคณะกรรมการด้านโฆษณาอีก 9 ปี , น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกันเปิดสาระสำคัญกฎหมาย

ผ่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ฉบับใหม่... ทำผู้ประกอบการกลัว ?

          ซึ่ง นายเทวัญ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดูแล สคบ. กล่าวถึงกฎหมายใหม่ที่ออกมานี้ว่า มีการพัฒนาแก้ไขมาหลายอย่างให้ สคบ.จะได้ทำงานเร็วขึ้น ผู้ประกอบการเอาเปรียบผู้บริโภคน้อยลง

          สิ่งแรกที่เห็นชัดเจน คือโครงสร้างคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (บอร์ด) คุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนี้ยังให้อำนาจบอร์ด สคบ. ในการพิจารณาหน่วยงานรับผิดชอบดูแล แก้ไขปัญหา และเร่งรัดดำเนินงานควบคุมดูแลการโฆษณาให้มีความถูกต้องและเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค เช่น อาหารพืช บางครั้งเขียนว่าอาหารพืช แต่จริงๆ คือปุ๋ย สคบ. ก็จะเป็นผู้ตัดสินว่าใครคือผู้ดูแล ส่วนลักษณะโฆษณา เช่น น้ำยาล้างจานบอกล้างได้ 1,000 ใบ หากเป็นกฎหมายเดิมต้องใช้เวลาพิสูจน์ว่าล้างได้หรือไม่ แต่กฎหมายใหม่ ปัจจุบันหากตรวจพบหรือมีเหตุสงสัยว่าข้อความที่ใช้โฆษณาสินค้า เกินความจริง คณะกรรมการฯ (คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา) สามารถสั่งระงับการนำเสนอโฆษณา (กรณีจำเป็นเร่งด่วนให้ระงับโฆษณาชั่วคราว) หรือสั่งแก้ไขการโฆษณาให้ถูกต้องได้ทันที หรือบัตรพลังงานที่เคยมีข่าวว่ารักษาอาการป่วยได้ อำนาจตามกฎหมายฉบับใหม่แค่สันนิษฐานว่าไม่ถูกต้องก็ระงับการโฆษณาได้

         อีกทั้งการจะฟ้องดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจ กฎหมายเดิมต้องเสนอผ่านเป็นมติบอร์ด สคบ. แต่หากพบว่าเป็นกรณีเร่งด่วนเล็งเห็นว่าจะเกิดความเสียหาย เลขาธิการ สคบ. สามารถดำเนินการฟ้องก่อนได้ แล้วนำเรื่องมาแจ้งให้บอร์ด สคบ. ทราบในภายหลัง 

        นอกจากนี้ก็ยังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในความปลอดภัยด้วยด้วย ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีมาตรการเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่ออันตราย สอดส่องดูแลความปลอดภัยของสินค้าหรือบริการของตน และการแจ้งความเป็นอันตรายของสินค้า เพราะเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจที่ป้องกันเฝ้าระวังไม่ให้สินค้าของตนเองเป็นอันตราย ต้องมีช่องทางในการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคทราบด้วยเกี่ยวกับสินค้าที่อาจจะเป็นอันตราย

             ผ่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ฉบับใหม่... ทำผู้ประกอบการกลัว ?

          ขณะที่เรื่องบทลงโทษ กฎหมายใหม่ได้เพิ่มอัตราโทษ ผู้ประกอบการที่เอารัดเอาเปรียบ ผลิตสินค้าแล้วไม่ได้คุณภาพ เช่น การโฆษณาเป็นเท็จ เดิมกำหนดโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 50,000 บาท กฎหมายใหม่ให้เพิ่มค่าปรับเป็น 100,000 บาท ก็จะทำให้ผู้ประกอบการเกิดความเกรงกลัว ทำให้เขาผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และอีกส่วนที่จะเป็นประโยชน์อย่างมากแก่ผู้บริโภคต่อไป ก็คือ “พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค พ.ศ.2562” ซึ่งเป็นกฎหมาย ให้โอกาสเอกชน และประชาชน จัดตั้งเป็นองค์กรผู้บริโภค ซึ่งต้องรวมตัวกัน 10 คนโดยต้องเป็นผู้มีประสบการณ์เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคไม่น้อยกว่า 2 ปี แล้วไปจดทะเบียนการตั้งองค์กรที่ทำเนียบรัฐบาล (นายทะเบียนกลาง คือปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่ปลัดสำนักนายกฯ มอบหมาย) หรือในจังหวัดก็ทำในจังหวัด (นายทะเบียนประจำจังหวัด คือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ที่ผู้ว่าฯ นั้นมอบหมาย) และเมื่อองค์กรเหล่านั้นรวมตัวกันแล้วได้น้อยกว่า 150 องค์กร ก็สามารถไปจดแจ้งเริ่มการจัดตั้งเป็นสภาองค์กรผู้บริโภคได้ซึ่งรัฐบาลให้เงินเริ่มต้น 350 ล้านบาท โดยสภาองค์กรฯ นี้จะเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ทำหน้าที่ทำงานเหมือนการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่ง “สภาองค์กรผู้บริโภค” สามารถไปฟ้องคดีเองก็ได้ แต่ สคบ.ก็ยังทำงานอยู่ด้วยเช่นกัน

        นี่คือความหลากหลายของกฎหมายในการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 4-5 ครั้ง ครั้งนี้ก็จะทำให้ทันยุคทันสมัยปัจจุบัน ต่อไปจะมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องออนไลน์ก็มี ก็จะทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคดีขึ้น โดยปัจจุบันมีผู้ร้องเรียนปีหนึ่งเกือบ 10,000 ราย และสถิติผู้ร้องเรียนมากขึ้นทุกปี เห็นได้ชัดว่าวันนี้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบเยอะ แต่นโยบายของเราไม่ใช่ว่าร้องเข้ามาแล้วจะฟ้องอย่างเดียว เราต้องตรวจสอบก่อนว่าข้อเท็จจริงที่ร้องมาถูกต้องหรือไม่ ซึ่งอาจกลั่นแกล้งก็มี ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการด้วยเพราะถือว่าผู้ประกอบการก็มีส่วนในการช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศชาติ แต่ถ้าเราเห็นชัดเจนว่าผู้ประกอบการทำไม่ถูกต้อง เราจะดำเนินคดี สิ่งแรกคือเรียกมาไกล่เกลี่ยก่อน อย่างเคสหมู่บ้านจัดสรร/คอนโดมิเนียม ย่านสุทธิสารที่มาร้องวันนี้ เราก็อาจจะเชิญมาคุยก่อน และไปดูสถานที่จริงว่าที่บอกจะให้ห้องลักษณะนี้ ส่วนกลางแบบนี้ ให้ทางหนีไฟ แล้วถ้าไม่ตรงจะแก้ไขอย่างไร คือถ้าสามารถแก้ไขความบกพร่องได้จนผู้บริโภคเจ้าของห้องพึงพอใจก็จบ แต่ถ้าสมมุติว่าผู้ประกอบการไม่แก้ไขเราก็ต้องเข้าไปดำเนินการตามกฎหมาย

            ผ่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ฉบับใหม่... ทำผู้ประกอบการกลัว ?

         เรากำลังแก้ไขเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค เพราะปัจจุบันโลกกว้างขึ้น มีโซเชียลมีเดีย มีสินค้าออนไลน์ เราก็กำลังดูแลเพราะการขายออนไลน์กำลังโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการขายไม่ต้องมีหน้าร้าน ไม่ต้องเสียค่าเช่า ไม่ต้องมีพนักงาน ที่สำคัญไม่ต้องมีสต็อค เรื่องนี้ก็เป็นนโยบายหลักของนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในนโยบายของรัฐบาลเช่นกัน โดยกฎหมายจะทำให้ผู้บริโภคดีขึ้น ไม่ถูกเอาเปรียบ และ สคบ.ก็จะมีกฎหมายในมือทำงานได้เต็มที่ อีกอย่างที่สำคัญทำงานด้วยความรวดเร็วที่จะดำเนินการจัดการเรื่องร้องเรียน เราจะทำให้เหมือนในต่างประเทศที่การคุ้มครองผู้บริโภคจะแข็งแรงมาก

         โดยในส่วนของ “นายพิฆเนศ ต๊ะปวง” รองเลขาธิการ สคบ. ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ ว่า สังคมจะได้อะไรจากกฎหมายใหม่นี้ คือ ได้ 3 เรื่อง ส่วนที่ 1 คือกระบวนการจัดการที่เร็วขึ้นของภาครัฐ โดยกฎหมายใหม่กำหนดสัดส่วนใหม่ในบอร์ด สคบ. โดยให้มีปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญเพราะอดีตไม่มี โดยปัจจุบันมีการซื้อขายสินค้า-บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นและเทคโนโลยีล้ำหน้าไปไกลขึ้น  ในการทำงานของ สคบ.ที่มีภาครัฐในนามบอร์ดจัดการได้รวดเร็วเพราะมีปลัดกระทรวงต่างๆ (ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี , ปลัดกระทรวงเกษตรฯ, ปลัดคมนาคม , ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม , ปลัดกระทรวงพาณิชย์ , ปลัดกระทรวงมหาดไทย , ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ) 

            2.กฎหมายใหม่ จะทำให้ผู้ประกอบการกลัวมากขึ้น คือการเพิ่มบทลงโทษปรับ สูงขึ้น 1 เท่าทุกมาตราจากกฎหมายเก่า และกลัว เรื่องที่กฎหมายกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่ไม่ปลอดภัย โดยทำให้กลัวจากเรื่องเปรียบเทียบความผิด (การคิดค่าปรับเอาเงินเข้าหลวง) ไม่ได้ ถ้าสินค้าที่ขายแล้วมีผลกระทบต่อร่างกาย อนามัยและชีวิต บอร์ด สคบ.เปรียบเทียบความผิดไม่ได้ คือให้ดำเนินคดีส่งฟ้องศาลอย่างเดียว เจรจาค่าปรับเองไม่ได้

              3.ความทั่วถึง กฎหมายใหม่ทำให้เกิดการจัดการครอบคลุมทุกพื้นที่ กระจายงานไปให้ท้องถิ่น ดูแล 4 เรื่อง คือการร้องทุกข์ , เรื่องตรวจสอบ , เรื่ององค์ความรู้สื่อสารประชาสัมพันธ์ , การผลักดันให้เกิดการรวมตัวสร้างเครือข่าย โดยเฉพาะเรื่องการตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจในพื้นที่ที่จะให้อำนาจ “คุ้มครองผู้บริโภคท้องถิ่น” พิจารณาเปรียบเทียบความผิดในการสั่งปรับได้เลย

         “นอกจากนี้ สคบ. กำลังทำ Big Data ตามแผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ เป็นการทำงานเชิงบูรณาการ เชื่อมโยงข้อมูล 28 หน่วยงานใน 6 ฐานคือฐานบัตรประชาชน , ฐานผู้ประกอบธุรกิจ , ฐานใบอนุญาต , ฐานเรื่องร้องเรียน , ฐานดำเนินคดี , ฐานองค์ความรู้ โดย 28 หน่วยจะเห็นข้อมูลเหล่านั้นเช่นเดียวกันหมด ซึ่งจะทำให้ได้ภายใน 330 วัน (ประมาณปี 2563) ตอนนี้ก็ผ่านมาเกือบ 50 วัน เราได้พบปะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันดำเนินการ ภาพการทำงานวันนี้ไม่สามารถทำงานเพียงหน่วยใดหน่วยหนึ่งได้ เพราะงานคุ้มครองผู้บริโภคกว้างขวางมาก” รองเลขาธิการ สคบ. ย้ำชัด

         ฟาก “น.ส.สารี อ๋องสมหวัง” เลขาธิการมูลนิธิผู้บริโภค ได้ชื่นชมจุดแข็งกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่เรื่องบทบัญญัติการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านความปลอดภัยว่า บ้านเรายังมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย อย่างเช่น บริการขนส่งมวลชนรถยังไม่ปลอดภัย หรือสนามเด็กเล่นในห้าง หรือการเที่ยวสวนสัตว์ หรือการกินผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจนเสียชีวิต ในอนาคตหวังว่าจะดำเนินการอะไรได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น เพราะเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยโดยตรง เช่น การเรียกเก็บสินค้า การให้ความรู้กับผู้บริโภค เพราะ สคบ.มีอำนาจสั่งได้เลยพร้อมการดำเนินคดี

          ขณะที่ตนยังรู้สึกผิดหวังในเรื่องที่กฎหมายฉบับใหม่นี้ อย่างน้อย 2 เรื่องที่ยังไม่ได้เขียนถึง คือ สิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีปลอดภัย เช่น การเกิดสภาพฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm 2.5 , สิทธิการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง ซึ่งปัจจุบันก็มี Fake news หรือข้อมูลกึ่งเท็จกึ่งจริง จะเข้าไปตรวจสอบอย่างไร อย่าง สคบ.เป็นเหมือนหน่วยกลางในการคุ้มครองผู้บริโภค การทำฐานข้อมูลให้ผู้บริโภคไปตรวจสอบได้ ตัวอย่าง ข้อมูล black list บริษัทที่มีปัญหา สคบ.ควรมีฐานข้อมูลทำให้เกิดการตรวจสอบทั้งส่วนกลางและผู้บริโภคด้วย โดยในยุคออนไลน์ควรต้องมีการคุ้มครองรับรองสิทธิด้าน Privacy และ Freedom

         “น.ส.สารี” ยังได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องการการจัดตั้ง“สภาองค์กรผู้บริโภค” ด้วยว่า การมีสภาองค์กรฯ ไม่ได้ทำให้ สคบ.หายตัว แต่ยิ่งจะทำให้ สคบ.ทำงานเข้มแข็งขึ้น เหมือนมี ก.พาณิชย์ แต่ยังมีสภาหอการค้า , สภาอุตสาหกรรม โดย สคบ. เหมือนมีสภาองค์กรฯ เป็นมือขวา เป็นพันธมิตรอย่างเหนียวแน่น ขณะที่จะเสนอแจ้งตั้งสภาองค์กรฯนั้น ให้มีการรวมตัวขององค์ผู้บริโภคเสนอมา ดังนั้นก็จะตรวจสอบให้ชัดเจนด้วยว่าไม่มีองค์กรที่กลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มราชการตั้งขึ้นมา ซึ่งปัจจุบัน องค์กรเกี่ยวกับผู้บริโภคที่จดแจ้งขึ้นทะเบียนมีประมาณ 500 กว่าแห่ง   ดังนั้นต้องตรวจสอบว่าไม่ใช่องค์กรผู้บริโภคผี หรือตัวปลอม

          สุดท้าย “นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง” ที่เคยเป็นกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มา 12 ปี ได้สะท้อนความเห็นว่า กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคใหม่นี้ถือได้ว่าดีขึ้นในการเพิ่มความคล่องตัวระดับจังหวัดด้วย แต่ก็ยังมีความไม่ครอบคลุมและไม่ชัดเจนเท่าที่ควร โดยมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ท้องถิ่นเข้าใจ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ ขณะที่เรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นดังนั้น หาก สคบ. สามารถทำให้ภาคท้องถิ่นเข้าใจและมอบอำนาจให้ท้องถิ่นระดับภูมิภาคดูแลกันเองโดยที่ไม่ต้องส่งเรื่องมายัง สคบ. กลางโดยตรงจะเป็นเรื่องที่ดีมาก และอีกประการที่รู้สึกว่าดี ก็คือ กรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิไม่ใช่การเมืองทั้งหมด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ