คอลัมนิสต์

กระตุ้นศก.ต้องโปร่งใส

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2562

 

 

          ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจนัดแรก ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะ ได้เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนโดยแบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านภัยแล้ง 2.การกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน และ 3.มาตรการด้านค่าครองชีพ ด้วยวงเงินรวมอยู่ที่ 3.16 แสนล้านบาท แบ่งเป็นจากธนาคารรัฐ 2.07 แสนล้านบาท ส่วนอีกประมาณ 1 แสนล้านบาทจะมาจากงบประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินของกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนเอสเอ็มอี กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสร้างความมั่นใจและให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากที่สุด และจะมีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 20 สิงหาคมนี้ และเมื่อได้รับความเห็นชอบก็จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 3

 


          ต้องยอมรับว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกส่งผลให้เศรษฐกิจของหลายประเทศตกอยู่ในภาวะชะงักงัน จึงต้องเร่งปรับเปลี่ยนและหามาตรการมารองรับ ซึ่งรัฐบาลและเอกชนไทยต่างทราบดีถึงความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยกำลังเผชิญเช่นกัน เพราะแม้แต่ประเทศสิงคโปร์ กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมได้ประกาศลดการคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำปี 2019 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0-1 จากเดิมที่เคยประกาศว่าจะสามารถโตได้ราวร้อยละ 1.5-2.5 โดยเป็นการปรับลดคาดการณ์ครั้งที่ 2 ของปีนี้ หลังจากที่เศรษฐกิจสิงคโปร์เคยเติบโตถึงร้อยละ 3.2 ในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ จีดีพีในช่วงไตรมาสสองยังมีการขยายตัวจากปีที่แล้วเพียงร้อยละ 0.1 ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 10 ปีของสิงคโปร์


          ขณะที่สัญญาณเศรษฐกิจของบ้านเราภาพรวมขณะนี้ต้องยอมรับว่าตัวเลขดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจต่างๆ มีสัญญาณชะลอตัวเช่นกัน แม้จะมีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่ยังสามารถขยายตัวได้แต่ก็ยังแปรผันได้จากสถานการณ์โลก โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจความเชื่อมั่นเศรษฐกิจของผู้ประกอบการไทย ประจำเดือนกรกฎาคม 2562 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 46.7 ลดจากเดือนมิถุนายน 2562 ที่ระดับ 47.1 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 5 เดือน หรือตั้งแต่มีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่ ซูเปอร์โพล ได้สำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวไทยต่อเศรษฐกิจของประเทศ พบว่า กลุ่มตัวอย่างครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50.1 เชื่อมั่นว่า แย่ลงต่อในอีก 12 เดือนข้างหน้า มีเพียงร้อยละ 6.5 เชื่อมั่นว่าดีขึ้นเล็กน้อย


          ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยรุนแรงและมีปัจจัยเสี่ยงที่จะถาโถมเข้าสั่นคลอนสถานะของประเทศ รัฐบาลเร่งหามาตรการมากอบกู้ทั้งการลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% หวังจะช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลงเป็นผลดีต่อการส่งออกที่คาดการณ์กันว่ามีโอกาสติดลบสูงจากเงินบาทแข็งค่า รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดล่าสุดที่เป็นยาแรงโดยมีการใช้เม็ดเงินมหาศาลทั้งงบประมาณแผ่นดินและมาตรการที่ไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน เราหวังว่าการใช้จ่ายควรก่อให้เกิดประโยชน์ตกสู่ประเทศชาติและประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะคนระดับล่างที่มีกำลังซื้อน้อย ไม่ใช่เป็นช่องการทำมาหากินให้แก่นักการเมือง พวกพ้องหรือกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง สร้างเงินหมุนเวียนในระบบไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ตามเป้าหมายสามารถกระตุ้นการบริโภคและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้และคงจะเห็นผลได้ในไตรมาส 3, 4 อย่างทันตา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ