คอลัมนิสต์

มารดาขอเปลี่ยนชื่อตัว-ชื่อสกุลของบุตรผู้เยาว์ได้หรือไม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... เรื่องน่ารู้ว่านนี้...กับคดีปกครอง  โดย... นายปกครอง 

 

 

 

          หลายท่าน...คงเคยเปลี่ยน “ชื่อ” หรือ “นามสกุล” จากที่เคยใช้กันมาในช่วงวัยเด็ก ไม่ว่าการเปลี่ยนนั้นจะเป็นเพราะเหตุผลความเชื่อเรื่องโชคชะตา ความไพเราะเสนาะหู ความเหมาะสม หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนตามความประสงค์ของบิดามารดาก็ตามที 

 

 

          ถือเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลที่หากเป็นไปโดยชอบด้วยหลักเกณฑ์ของกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ย่อมจะต้องดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้ตามคำขอ !


          แต่ทว่า...หากมารดาที่มิได้จดทะเบียนสมรสกับบิดาโดยได้อยู่กินฉันสามีภรรยาและต่อมาได้เลิกรากันไป ประสงค์จะเปลี่ยนทั้งชื่อและนามสกุลให้แก่บุตรผู้เยาว์ของตนเอง เพราะไม่อยากให้ใช้นามสกุลของบิดา ทางมารดาจะมีสิทธิดำเนินการแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือจะต้องได้รับความยินยอมจากบิดาผู้ให้กำเนิดด้วย


          เรื่องนี้มีหลักเกณฑ์อย่างไร มาดูคำวินิจฉัยของศาลปกครองในคดีนี้ ซึ่งถือเป็นประโยชนทั้งต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐในฐานะนายทะเบียน และประชาชนทั่วไปซึ่งถือเป็นเรื่องใกล้ตัว 


          โดยเหตุของคดีเกิดจากชายหญิงคู่หนึ่งได้อยู่กินฉันสามีภรรยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสและมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กหญิงน้ำใจ ซึ่งใช้ชื่อสกุลของบิดา ต่อมาทั้งคู่ได้แยกทางกัน และมารดาได้แจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ขอเปลี่ยนชื่อตัวและชื่อสกุลของบุตรเป็นเด็กหญิงมีบุญ ซึ่งใช้ชื่อสกุลของมารดา โดยมารดาเป็นผู้ลงนามแทนบุตรผู้เยาว์ และนายทะเบียนท้องที่ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงให้ตามคำขอ โดยจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อ “เด็กหญิงน้ำใจ สกุลบิดา” เป็น “เด็กหญิงมีบุญ สกุลมารดา”


          ขณะเดียวกันนั้นบิดาได้ฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัว จนกระทั่งศาลได้มีคำพิพากษาให้บิดาจดทะเบียนรับรองเด็กหญิงน้ำใจเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายได้ และต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้บิดาและมารดาใช้อำนาจปกครองเด็กหญิงน้ำใจร่วมกัน




          ซึ่งหลังจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว บิดาจึงได้ยื่นคำขอจดทะเบียนรับรองผู้เยาว์เป็นบุตร แต่เนื่องจากชื่อตัวและชื่อสกุลของบุตรผู้เยาว์ได้ถูกเปลี่ยนไปแล้วจาก “เด็กหญิงน้ำใจ สกุลบิดา” เป็น “เด็กหญิงมีบุญ สกุลมารดา” ตั้งแต่ก่อนที่ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษา ทำให้นายทะเบียนไม่สามารถจดทะเบียนรับรองบุตรในชื่อและสกุลเดิมตามคำพิพากษาของศาลฎีกาได้ บิดาจึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนของนายทะเบียนที่เปลี่ยนชื่อตัวและชื่อสกุลของบุตรผู้เยาว์


          ปัญหาว่าการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อตัวและชื่อสกุลของบุตรผู้เยาว์ตามคำขอของมารดาถือเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่? และต้องได้รับความยินยอมจากบิดาก่อนหรือไม่?


          คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วางบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการไว้หลายเรื่อง อาทิ (1) สถานะทางกฎหมายของการสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อสกุลของนายทะเบียน ถือเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีสถานะเป็น “คำสั่งทางปกครอง” ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 


          (2) ผู้มีความสามารถกระทำการในกระบวนการพิจารณาทางปกครองจะต้องเป็นผู้ซึ่งบรรลุนิติภาวะ ดังนั้นการขอเปลี่ยนชื่อตัวและชื่อสกุลในคดีนี้จึงเป็นการพิจารณาทางปกครองที่ผู้เยาว์ไม่สามารถยื่นคำขอด้วยตนเองได้ เนื่องจากยังไม่บรรลุนิติภาวะตามนัยมาตรา 22 (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 โดยจะต้องให้มารดาซึ่งถือว่าเป็น “ผู้ใช้อำนาจปกครอง” แต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ยื่นคำขอแทน (มาตรา 1556 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ทั้งนี้เนื่องจากขณะที่มารดายื่นคำขอดังกล่าว บิดา (ผู้ฟ้องคดี) ยังไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร ผู้ฟ้องคดีจึงยังมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นนายทะเบียนจึงไม่จำเป็นต้องเรียกบิดามาสอบปากคำเพื่อให้ความยินยอม แม้ในสูติบัตรจะได้แจ้งชื่อผู้ฟ้องคดีเป็นบิดาและอยู่ในระหว่างการฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรก็ตาม ก็หาได้ทำให้ผู้ฟ้องคดีเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุตรในช่วงระยะเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด


          ดังนั้นการที่นายทะเบียนอนุญาตและให้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อตัวและชื่อสกุลของบุตรผู้เยาว์ตามที่มารดายื่นคำขอจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.672/2561)


          กล่าวโดยสรุปการพิจารณาทางปกครอง หมายความว่า การเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง โดยผู้มีความสามารถกระทำการในกระบวนการพิจารณาทางปกครองได้จะต้องเป็นผู้ซึ่งบรรลุนิติภาวะ (มาตรา 22 (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539) ดังนั้นเมื่อผู้เยาว์ยังไม่เป็นผู้ซึ่งบรรลุนิติภาวะหากจะเข้ามาเป็นคู่กรณีในกระบวนการพิจารณาทางปกครองจะต้องดำเนินการแก้ไขในเรื่องความสามารถหรือต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยความสามารถก่อน เช่น การต้องได้รับอนุญาตหรือได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้ปกครองก่อน และกรณีที่บิดาและมารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน มารดาถือเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว... 


          (ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ