คอลัมนิสต์

ก้าวแรก"ภาษีเกลือ"-ตั้งกก.ร่วมศึกษา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ก้าวแรก"ภาษีเกลือ"-ตั้งกก.ร่วมศึกษา

 

 

          การประชุมขึ้นภาษีเกลือเมื่อเร็วๆ นี้ ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้หลังจากกลุ่มผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมทราบแผนยุทธศาสตร์ต้องการลดโซเดียม 30 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2568 โดยไม่ปฏิเสธว่าจะไม่ทำตามแผนยุทธศาสตร์ฯ แต่ไม่เห็นด้วยและอยากให้ยกเลิกแนวคิดการเก็บภาษีเกลือ ซึ่งที่ผ่านมาทางภาคอุตสาหกรรมได้ให้ความร่วมมือ แต่ควรได้พูดคุยและหาทางออกร่วมกันก่อนกำหนดกำแพงภาษีเพื่อจัดเก็บ

 

 

          การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และกลุ่มผู้ประกอบการอาหารสำเร็จรูปในภาคอุตสาหกรรม โดยมี นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษีกรมสรรพสามิต เป็นประธาน และ ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม อาจารย์สาขาววิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และ พญ.ศศิธร ตั้งสวัสดิ์ ผอ.กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ร่วมให้ข้อมูล


          พญ.ศศิธร กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลพบว่าผู้บริโภคในประเทศไทยบริโภคเกลือและโซเดียมในอัตราสูง บริโภคเกลือสูง 10.8 กรัมต่อวัน และบริโภคโซเดียม 4,351.7 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งการบริโภคโซเดียมเกินกว่ามาตรฐานที่ร่างกายต้องการถึง 2 เท่า จึงเกิดผู้ป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะโรคไตและโรคหัวใจ ดังนั้นเป้าหมายหนึ่งของการดำเนินงานในระดับโลกเพื่อลดปัญหาโรคไม่ติดต่อในประเทศไทย คือลดการบริโภคโซเดียมให้ได้ 30 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2568 โดยได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทยปี 2559-2568 มาแล้ว แต่ปัจจุบันตัวเลขการลดบริโภคโซเดียมก็ยังไม่คืบหน้า


          ด้าน ผศ.นพ.สุรศักดิ์ ระบุว่า มาตรการที่ได้ผลดีที่สุดคือมาตรการสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อปรับสูตรผลิตภัณฑ์อาหารให้มีปริมาณเกลือและโซเดียมลดลง สามารถลดอัตราการตายได้สูงสุด 32,000 คน และช่วยให้คนมีภาวะสุขภาพที่ดีต่อปีเพิ่มขึ้น 145,068 คน ส่วนมาตรการรองลงมาคือ มาตรการติดฉลากโภชนาการหน้าบรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้ผลจากการสำรวจพบว่าแหล่งของโซเดียมที่ประชากรไทยได้รับจากผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคมากที่สุดมาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูป มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,272 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และกลุ่มผลิตภัณฑ์โจ๊ก-ข้าวต้มสำเร็จรูป มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,259 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ในขณะที่ข้อแนะนำปริมาณโซเดียมในอาหารมื้อหลักไม่ควรเกิน 600 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และอาหารว่างไม่ควรเกิน 100 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค




          ดังนั้นที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมแห่งชาติเลือกมาตรการด้านภาษีกับภาคอุตสาหกรรมเพราะความเค็มส่วนหนึ่งมาจากการผลิตที่ปรุงมาเรียบร้อยแล้ว เมื่อถึงผู้บริโภคก็รับประทานตามที่ปรุงสำเร็จมาจึงส่งผลให้เกิดความเคยชินกับลิ้น เมื่อรับประทานเค็มในอาหารสำเร็จรูปจนเคยชินแล้วนั้น ครั้นจะรับประทานอาหารอื่นก็ต้องเค็มตามไปด้วย ดังนั้นการการปรับสูตรอาหารก็เหมือนกับเป็นการให้คนไทยกินเค็มลดลงหรือเป็นการปรับลิ้นให้รับประทานอาหารอื่นเค็มลดลงด้วย ถือเป็นการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น


          ในมุมมองของตัวแทนภาคเอกชนยอมรับในประเด็นที่มีหลายประเทศดำเนินการเรื่องภาษีแก่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะที่ประเทศฮังการี พบว่าประเทศนี้จะใช้มาตรการปรับภาษีแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยให้ผู้บริโภคบริโภคเกลือน้อยลง เพราะจากการสำรวจนักเรียนที่มาซื้อของเมื่อเห็นของราคาแพงขึ้นก็เปลี่ยนไปซื้ออย่างอื่นที่ถูกลง แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นเพราะเกลือลดลง ส่วนเรื่องที่ความเค็มได้ถูกปรุงรสมาจากภาคอุตสาหกรรม และในต่างประเทศได้เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคด้วยการแยกซองเครื่องปรุงมาให้นั้น บอกได้เลยว่าเรื่องนี้ประเทศไทยนำสมัย เพราะทำมานานแล้ว ดูได้จากในซองบะหมี่สำเร็จรูปได้มีการแยกเครื่องปรุงมานานแล้ว หรือประเทศญี่ปุ่นมีราเมงขาย แต่มีคำแนะนำว่ากรุณากินแต่บะหมี่อย่ากินน้ำซุป หากเทียบกับเมืองไทยซึ่งก้าวหน้ามาถึงขนาดแยกเครื่องปรุงให้ผู้บริโภคแล้ว แล้วทำไมต้องถอยหลังกลับไปจุดนั้นอีก


          ตัวแทนภาคเอกชน ระบุว่า แม้จะลดความเค็มถึง 30 เปอร์เซ็นต์ในบะหมี่สำเร็จรูป ก็ช่วยลดการกบริโภคเกลือลงได้แค่ 1-1.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น การลดเกลือทำได้เต็มที่คือ 5-10 เปอร์เซ็นต์ แต่การที่จะลดได้มากขนาดนั้นก็ต้องใช้สารทดแทนเกลือ ซึ่งสารทดแทนเกลือมีหลายตัวและราคาค่อนข้างแพง จะให้ขายราคาเท่าเดิมคงไม่ได้อีก จึงอยากให้ยกเลิกการใช้มาตรการขึ้นภาษีไปเลย


          “ส่วนตัวเชื่อว่ามาตรการภาษีไม่ช่วยลดโซเดียมในการบริโภค ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่ทำตาม ที่ผ่านมาเราก็ทำมาตลอด ยังไม่พออีกเหรอ แล้วเราก็ไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนเลย พอมาเจอกันครั้งแรก บอกว่าจะเก็บภาษี เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ แต่ถ้ายังยืนยันว่าจะทำ ก็ต้องมานั่งคุยกัน หาทางออกร่วมกัน ไม่ว่าจะออกทางไหนต้องมีประโยชน์ต่อประเทศชาติแน่นอน” ตัวแทนภาคเอกชนสรุปในตอนท้ายของการหารือร่วมกัน


          อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาการประชุมได้มีตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมหลายคนตั้งประเด็นสอบถามและมีข้อซักถามพร้อมกับไม่เห็นด้วยกับนโยบายการขึ้นภาษี ทำให้การประชุมครั้งนี้ไม่สามารถก้าวผ่านไปถึงการร่วมกันกำหนดกำแพงภาษีเพื่อจัดเก็บได้ พร้อมกับมีการเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการจากทั้งภาคส่วนของรัฐและภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อทำงานร่วมกันนำข้อมูลต่างๆ มาแลกเปลี่ยนกันและร่วมกันหาทางออกในเรื่องนี้ โดยมติที่ประชุมก็เห็นด้วยจึงได้ให้แต่ละฝ่ายส่งรายชื่อเพื่อตั้งคณะกรรมการการทำงานร่วมกันขึ้นมา และกำหนดกรอบการทำงานของคณะกรรมการดังกล่าวไว้ 3 เดือน


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ