คอลัมนิสต์

บานปลาย? ถวายสัตย์ฯไม่ครบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ต้องรีบแก้ไขเกี่ยวกับเรื่องถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน เพราะหากปล่อยเนิ่นนานไป อาจจะมีปัญหาตามมาเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ

      กรณี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯนำคณะรัฐมนตรี เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ และนายกฯกล่าวคำถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา161 กำหนด โดยขาดท่อนที่ว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” แถมไปเพิ่มคำว่า “ตลอดกาล”  ขึ้นมาเองอีก แม้ว่าตอนนี้จะชัดเจนแล้วว่านายกรัฐมนตรีคงไม่ลาออกหลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการตีความ คำพูดนายกฯ ที่ขอโทษคณะรัฐมนตรี และ“ผมขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” ไปต่างๆนานา รวมทั้งการลาออก  แต่เมื่อนายกฯกล่าวภายหลังการเป็นประธานในพิธีเปิดทดลองให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยืนยันว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ตรงนี้ไม่ไปไหน  ก็สยบข่าวลือลงได้  แต่เชื่อได้เลยว่าเรื่องถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วน จะไม่จบลง 

   

     เพราะว่าสิ่งซึ่งอยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 161  ซึ่งกำหนดเกีี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่่ของรัฐมนตรี มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า จะต้องกล่าวถวายสัตย์ว่าอย่างไร ดังนั้นทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครเมื่อขึ้นมาเป็นรัฐมนตรี ต้องถวายสัตย์ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 161 ระบุข้อความเกี่ยวกับการถวายสัตย์ไว้ ดังนั้นฝ่ายค้านหรือจะเป็นใครก็แล้วแต่ ก็ยังจะชี้ต่อไปว่า การถวายสัตย์ของนายกฯและคณะรัฐมนตรียังไม่ครบถ้วน และจะลามต่อไปว่า สิ่งต่างๆที่รัฐบาลทำต่อไปจะหาความชอบธรรมไม่ได้  ไม่ว่าการออกกฎหมาย และการตัดสินใจในเรื่องต่างๆของฝ่ายบริหาร

      อย่างตอนนี้นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่  ก็ออกมาบอกแล้วว่า กรณีดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์​ ไม่ควรระบุว่าจะรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวแล้วนิ่งเฉย เพราะจะกลายเป็นปัญหาต่อการบริหารราชการแผ่นดินในอนาคต  อาจมีีผู้นำเรื่องไปฟ้องต่อศาลกรณีที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ นั้น มีมติ ครม.ใดๆออกมาว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย

   และหากนายกฯยัง​ไม่แก้ไขในกรณีถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์  นายปิยบุตรเตรียมยื่นกระทู้ถามสด พล.อ.ประยุทธ์ ในกระบวนการของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ใช้กระบวนการของสภาฯ แก้ปัญหา

      ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย  ออกมาระบุว่า พฤติการณ์และการกระทำที่ไม่ยอมสำนึกในความรับผิดชอบของพล.อ.ประยุทธ์ ดังกล่าว เข้าข่ายจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้อยแรง ตาม ม.234(1) แห่ง พรป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 และ ม. 5 ประกอบ ม.160 (5) ของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตาม ม.170 (4) ของรัฐธรรมนูญ 2560

       ดังนั้นเมื่อวานนี้( 13 ส.ค.)นายศรีสุวรรณ จึงเดินทางไปยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อส่งเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัยหรือส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

    เหตุก็เพราะว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 161 ระบุชัดว่า ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ตามข้อความที่ระบุไว้ในมาตรา 161 ดังนั้น เมื่อนายกฯนำกล่าวถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน ถูกต้อง  ตามมาตรา 161 ระบุไว้  ก็มีการตีความว่า คณะรัฐมนตรีก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ สิ่งต่างๆที่รัฐบาลทำล้วนแล้วแต่โมฆะทั้งสิ้นหรือไม่ และคณะรัฐมนตรีก็จะบริหารประเทศด้วยความไม่สบายใจ เหมือนกับมีบางสิ่งที่เป็นคำถามติดอยู่กับตัวเองตลอดเวลา ดังนั้นทางแก้อาจต้องทำการถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์  การที่จะขอถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่อีกครั้งจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน 

      และนี่..อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ ยังลังเล อาจเป็นเพราะต้องการรอฟังเสียงประชาชนดูก่อนว่าจะว่าเรื่องนี้อย่างไร  และการถวายสัตย์ปฏิญาณหากมีขึ้นใหม่ ก็ไม่ใช่เฉพาะนายกฯเท่านั้นที่ต้องกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่ แต่รวมถึงรัฐมนตรีทั้งคณะด้วย

       และการแถลงนโยบายของรัฐบาลก็ต้องเริ่มใหม่เช่นกัน เพราะเมื่อคณะรัฐมนตรีเข้ารับหน้าที่หลังจากถวายสัตย์ปฏิญาณครบถ้วนตามมาตรา 161 แล้ว  มาตราต่อมาคือมาตรา 162   ระบุว่า คณะรัฐมนตรีที่เข้ารับหน้าที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินได้  ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา 

    และอาจถือได้ว่าการแถลงนโยบายรัฐบาลอีกครั้ง จะเป็นโอกาสในการที่รัฐบาลจะได้ทำการแก้ไขการแถลงนโยบายของรัฐบาลที่ยังทำไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา162 ที่ระบุว่าในการแถลงนโยบายรัฐบาล ต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายด้วย แต่การแถลงนโยบายของ“รัฐบาลประยุทธ์ 2”  ที่เพิ่งผ่านมา รัฐบาลไม่ได้บอกว่า จะนำเงินรายได้จากไหนมาดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในเรื่องต่างๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่อง 12 นโยบายหลัก  หรือ12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล  หากมีเรื่องใดต้องใช้งบประมาณ รัฐบาลต้องระบุในนโยบายที่ี่แถลงด้วย แต่การแถลงนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมาไม่มี    และขณะนี้รัฐบาลมีเป้าที่จะใช้เงินงบประมาณถึง 3.3ล้านล้านบาท ในขณะที่มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพียง 2.2 ล้านล้านบาท ดังนั้น อีก 1.1 ล้านล้านบาท รัฐบาลยังไม่มีการชี้แจงว่า จะเอามาจากไหน จะกู้จากใคร จะกู้ยาวแค่ไหน จะเป็นภาระต่อคนรุ่นหลังแค่ไหน ดังนั้นรัฐบาลต้องร่างแถลงนโยบายใหม่โดยระบุที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย

    วกกลับมาเรื่องการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน  ยังมีข้อน่าห่วงจากการตีความของบางฝ่ายถึงขนาดที่ว่า เมื่อมีการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนหรือไม่สมบูรณ์เท่ากับไม่มีการถวายสัตย์เลย  ทำให้สูญเปล่ามาตั้งแต่ต้น และเมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ยังไม่เข้ามารับหน้าที่   เท่ากับว่า“รัฐบาล คสช. ” และมาตรา 44 ก็ยังอยู่   

     แต่ยังมีบางฝ่ายที่ตีความไม่ถึงขนาดสุดโต่งอย่างพวกข้างต้น โดยเห็นว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน ไม่ถึงเท่ากับว่าไม่มีการถวายสัตย์ฯเลย  ดังนั้นก็เพียงแต่ทำให้การถวายสัตย์ปฏิญาณครบถ้วนสมบูรณ์   การตีความของฝ่ายนี้้ก็เพื่อไม่ให้ผลไปไกลถึงขนาดไปฟื้นเอา“รัฐบาล คสช.” และมาตรา 44 มา 

    สำหรับการถวายสัตย์ปฏิญาณผิดพลาดนั้น เคยมีมาแล้ว แต่เป็นระดับ“รัฐมนตรี” ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี  และไม่เคยมีในลักษณะคณะรัฐมนตรีชุดใหญ่ทั้งคณะเช่นนี้  

    ในส่วนของรัฐมนตรีที่เคยเกิดความผิดพลาดเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณนั้น จะมีการแก้ไขให้พูดใหม่ ให้ถูกต้องครบถ้วนในขณะนั้นทันที และเคยเกิดกรณีที่มีรัฐมนตรีบางคน เข้าถวายสัตย์พร้อมรัฐมนตรีคณะใหญ่ไม่ทัน นายกฯก็จะนำเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณในภายหลัง   

     ดังนั้นจากประวัติศาสตร์การเมืองไทย จะเห็นได้ว่า เรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่เป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งทั่วโลกก็มีในเรื่องกำหนดให้ผู้นำและคณะรัฐมนตรี ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่เช่นกัน  จึงเป็นเรื่องที่“ต้องทำ”  ดังนั้น จะบอกว่า จบแล้ว อย่าไปรื้อฟื้นเลย คงไม่ได้  จึงอยู่ที่ว่าจะแก้ไขอย่างไร ต้องรอดู 

    และแม้สมมุติว่า จะมีการแก้ไขเรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณ ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์  โดยทำการถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่ให้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว แต่การทวงถามความรับผิดชอบทางการเมืองต่อ พล.อ.ประยุทธ์  นายกรัฐมนตรี ยังคงมีต่อไปว่าจะรับผิดชอบอย่างไรกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะว่าการแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาดกับความรับผิดชอบทางการเมืองน่าจะเป็นคนละเรื่องกัน และเรื่องนี้อาจนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ว่า มีความบกพร่องในการบริหารราชการแผ่นดิน    

   ส่วนกระแสเรียกร้องของ“ฝ่ายการเมือง”ในขณะนี้ ส่วนใหญ่เรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์  แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งจะส่งผลให้รัฐมนตรีอีก 35 คนพ้นจากตำแหน่งไปด้วย การปฏิบัติหน้าที่ก็สิ้นสุดลงกลายเป็นรัฐบาลรักษาการ จากนั้นเริ่มต้นการเลือกนายกฯกันใหม่  

    โดยให้เหตุผลว่า หนทางนี้จะช่วยให้ข้อกังขาจากหลายฝ่ายที่อาจกลายเป็นวิกฤต คลี่คลายลงได้ เพราะว่าหากยังดื้อดึงแล้วใช้อำนาจบริหารต่อไป สั่งการต่างๆ โยกย้ายข้าราชการ ใช้จ่ายเงินงบประมาณ จะยิ่งสร้างปัญหาและบานปลายเกินกว่าจะแก้ไขเยียวยาได้ และหากมีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้นในการบริหาร พล.อ.ประยุทธ์และครม.ทั้งคณะไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ทั้งทางกฎหมายและทางการเมือง

   แต่ก็มีคนแย้งว่า ถึงแม้จะตัดสินใจลาออกตอนนี้ เรื่องก็ไม่จบ เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญ ปี 60 ในบทเฉพาะกาล ยังให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)จำนวน 250 คน ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็คงได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก และก็จะมีการโจมตีว่าที่ พล.อ. ประยุทธ์ ลาออกจากนายกฯ  เป็นไปตามแผนการที่วางไว้แล้วทั้งสิ้น   

  จึงมีการเสนออีกทางเลือกหนึ่งขึ้นมาว่า ให้นายกฯยุบสภา เพื่อให้มีการจัดเลือกตั้งใหม่ดีกว่า เป็นการโยนเรื่องนี้ถามกลับไปยังประชาชนว่า ยังจะตัดสินใจเลือก พล.อ. ประยุทธ์ กลับมาอีกหรือไม่ หากประชาชนเลือกพรรคพลังประชารัฐและพล.อ. ประยุทธ์ กลับมาอีก พล.อ. ประยุทธ์ ก็มีความสง่างามในการเป็นนายกรัฐมนตรี 

      พล.อ. ประยุทธ์ ต้องรีบแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้ออกมาในทางใดทางหนึ่ง หลังจากลั่นวาจาว่า“ขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”

      หากจะบอกว่า ขอให้รอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน เพื่อเป็นบรรทัดฐานและแนวทาง ตามที่มีผู้ยื่นเรื่องนี้ต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ว่ามา

      เพราะปล่อยเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ส่งผลดีแน่ 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ