คอลัมนิสต์

ค้านโครงการแสนล้าน ผันน้ำยวมเติมเขื่อนภูมิพล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ "เส้นทางสีเขียว" หนังสือพิมพ์คมชัดลึก 10-11 ส.ค.62

 

****************

 

วันที่ 7 สิงหาคม 2562 ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน กรมชลประทานได้จัดประชุมปัจฉิมนิเทศ สำหรับงานสำรวจ ออกแบบ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือที่รู้จักในชื่อ โครงการผันน้ำยวม-สาละวิน

 

มีผู้เข้าร่วมประมาณ 160 คน จากหน่วยงานรัฐ และชาวบ้านหมู่บ้านต่าง ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก และ จ.เชียงใหม่ ขณะที่ชาวบ้านอีกบางส่วนไม่สามารถเดินทางมาร่วมได้เนื่องจากเกิดฝนตกหนักและมีปัญหาเรื่องเส้นทางสัญจร

 

การประชุมเริ่มขึ้นโดยผู้แทนกรมชลประทานกล่าวแนะนำโครงการว่า ครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อสรุปการสำรวจออกแบบโครงการ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพิ่มเติม

 

โดยการศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนโครงการ ตั้งแต่ปฐมนิเทศ เวทีกลุ่มย่อย คณะทำงานได้ปรับข้อมูลให้เหมาะสม สำหรับโครงการผันน้ำประกอบด้วย 4 ส่วน

 

 

ค้านโครงการแสนล้าน  ผันน้ำยวมเติมเขื่อนภูมิพล

 

 

ได้แก่เขื่อนกั้นแม่น้ำยวม ตั้งอยู่ที่อำเภอสบเมย สถานีสูบน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำ โดยระยะทางจากเขื่อนไปถึงปลายอุโมงค์ รวม 63 กิโลเมตร

 

อุโมงค์ส่งน้ำจะอยู่ใต้ดิน ลึกลงไปจากผิวดิน ประมาณ 300-1,000 เมตร สำหรับการจัดการน้ำ จะมีการสูบน้ำขึ้นไปยังถังพักน้ำ ผ่านอุโมงค์ ไปลงที่ลำห้วยแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล

 

ซึ่งหากระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล สูงเกิน 258 เมตร ก็จะไม่ผันน้ำไป ผู้ที่อาศัยอยู่ปลายน้ำไม่ต้องกังวล

 

 

ผู้แทนกรมชลประทานกล่าวว่า สำหรับเขื่อนน้ำยวม ตั้งกั้นแม่น้ำยวม ห่างจากสบยวม ประมาณ 13.8 กม. เขื่อนสูง 69 เมตร โครงการได้จัดทำแบบเพื่อก่อสร้าง เป็นเขื่อนคอนกรีต มีอาคารระบายน้ำล้น

 

หากมีน้ำในปริมาณมากก็จะระบายออก เขื่อนน้ำยวมทำหน้าที่ยกระดับน้ำ กักเก็บในอ่าง เพื่อจะผันเข้าอุโมงค์ ระดับการกักเก็บน้ำ อยู่ที่ 142 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ที่สะพานสบเงา มีความสูง 157-147 ม.รทก.

 

น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนน้ำยวมจะไม่ทำให้น้ำท่วมมากไปกว่าสภาพเดิม หากปริมาณน้ำเยอะก็จะเปิดสปิลเวย์ ระบายน้ำออกตามการจัดการของเขื่อน

 

ผู้แทนกรมชลประทานกล่าวว่า สถานีสูบน้ำบ้านสบเงา ตั้งอยู่ห่างจากเขื่อน 22 กม. มีการปรับปรุงลำน้ำแม่น้ำยวม เป็นระยะทาง 6.4 กม. เพื่อให้ลดน้ำท่วมในน้ำเงา ระดับน้ำจะลดลง 60 ซม. สถานีสูบน้ำจะห่างออกไป 500เมตร จากทางหลวง

 

มีการปรับปรุงถนน สถานีสูบน้ำทำหน้าที่สูบน้ำจากอ่าง ขึ้นไปบนอุโมงค์ผันน้ำ ส่งน้ำลงอุโมงค์ ปีละ1,606 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีอาคารดักตะกอน ไม่ให้ตะกอนเข้าไปในสถานี ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการสูบน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำความยาว 61.79 กม.

 

 

ค้านโครงการแสนล้าน  ผันน้ำยวมเติมเขื่อนภูมิพล

 

 

ผู้แทนกรมชลประทานกล่าวว่า ด้านหน้าปากอุโมงค์ มีอาคารคนงาน และอาคารอื่นๆ เมื่อเจาะแล้วมีวัสดุออกมา ก็ต้องมีการปลูกต้นไม้ คืนสภาพเดิม คืนป่าสภาพเดิม ชาวบ้านไม่ต้องตกใจ ถนนจะมีการปรับปรุงเข้าไป ทั้งหมด 5 เส้น รวม 10 กม. เป็นถนนขนาดกว้าง 6 เมตร เพื่อนำอุปกรณ์ก่อสร้างเข้าไป

 

สำหรับท้ายน้ำที่ห้วยแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จะมีน้ำผันออกมากปริมาณ 152 ลบ.ม. รวมเป็น 200 ลบ.ม./วินาที น้ำจะไม่ท่วม เพราะมีสภาพคลองที่พร้อมรับน้ำไหลลงไปที่ อ.ดอยเต่า ซึ่งเป็น อ่างเก็บน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งได้ข้อมูลมาว่า เส้นระดับรอบๆ อ่างเก็บน้ำ มีการรังวัดไปแล้ว มีการสละสิทธิ์ จ่ายเงินค่าชดเชยกันไปแล้ว จะมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาดูแล

 

คณะวิทยากรกล่าวว่า สำหรับรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) มีการจัดทำแล้วเมื่อปี 2561 มีการส่งไปยังสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าผลกระทบที่สำคัญ เรื่องการอยู่อาศัยของประชาชน ที่ตั้งเขื่อนแม่ยวม ไม่มีบ้านเรือน มีที่ทำกินของประชาชนในเขตอ่างเก็บน้ำ จำนวน 13 ราย รวม 28 ไร่ สถานีสูบน้ำ มีที่ทำกิน จำนวน 30 ไร่ ที่ทิ้งดินจากการขุดเจาะ

 

มีประชาชนได้รับผลกระทบจำนวนน้อย เนื่องจากอยู่ในป่า เป็นที่ทำกิน จำนวน 4 ราย และถนน อีก 4 ราย รวมจำนวนผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด 25 ครัวเรือน แผนที่ซึ่งแสดงในอีไอเอ มีผลกระทบเป็นหย่อมๆ เป็นเพียงจุดสีเหลืองเล็กๆ หากเป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ จะจ่ายค่าขนย้าย และการรื้อย้ายตามเกณฑ์ของชลประทาน จะมีคณะกรรมการจ่ายค่าชดเชย โดยมีผู้แทนกรมชลประทาน และสภาท้องถิ่น เพื่อกำหนดค่าทนแทนให้เป็นธรรม

 

 

ค้านโครงการแสนล้าน  ผันน้ำยวมเติมเขื่อนภูมิพล

 

 

“การผันน้ำจากเขื่อนแม่ยวม จะผันเฉพาะฤดูฝน ปริมาณน้ำ 1.600 ล้านลบ.ม. ต่อปี ซึ่งแม่น้ำยวมมีปริมาณน้ำ 2,800 ล้าน ลบม.ต่อปี จึงจะมีน้ำเหลือเพียงพอสำหรับท้ายน้ำ สำหรับผลกระทบจากฝุ่นละอองและความสั่นสะเทือนช่วงก่อสร้าง ตัวเขื่อนตั้งอยู่ห่างจากค่ายพักพิงชั่วคราวแม่ลามาหลวง 2 กม.

 

เสียงจากการขนส่งและการก่อสร้างไม่มาก อุโมงค์และการขุดเจาะจะมีเสียงดังบ้าง แต่ไม่นาน เมื่อขุดเจาะลงไปใต้ดินลึกๆ ก็จะไม่ดัง จะมีการตรวจฝุ่นในหมู่บ้าน ควบคุมความเร็วรถบรรทุก พื้นที่ล้างล้อรถก่อนลงถนน เสียงดังจากสถานีสูบน้ำซึ่งประชาชนกังวล เป็นสถานีลึกลงไปใต้ดิน 30 เมตร เสียงน้อยมาก จะมีกองดินจากการขุดเจาะอุโมงค์ 5 แห่ง จะมีการปลูกต้นไม้คลุมดิน มีการดักตะกอน ไม่กระทบคุณภาพน้ำผิวดิน ช่วงการก่อสร้างอาจมีสิ่งปฏิกูล ขยะ น้ำเสีย จากบ้านพักคนงาน” วิทยากร กล่าว

 

คณะวิทยากรกล่าวอีกว่าสำหรับพื้นที่ป่าไม้ โครงการจะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่า ประมาณ 3,700 ไร่ จะให้กรมป่าไม้ปลูกป่าทดแทน มีมาตรการลดผลกระทบ 15 รายการ รวม 388 ล้านบาท

 

หลังจากคณะวิทยากรพูดจบได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านในที่ประชุมแสดงความคิดเห็น โดยนายสะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ชาวบ้านแม่ทะลุ อ.สบเมย กล่าวว่า ได้เข้าร่วมเวทีหลายครั้ง ได้แสดงความกังวลว่า ผลกระทบจะมาก แต่การศึกษาไม่ครอบคลุม ลุ่มน้ำยวมมีหมู่บ้านตลอดลำน้ำจำนวนมาก แต่ไม่รวมในการศึกษา

 

นอกจากนี้การศึกษาวิถีชีวิตของชาวบ้าน ชาติพันธุ์ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับแม่น้ำยวมเป็นต้นน้ำชั้น 1เอ มีป่าที่สำคัญมาก หากมีโครงการ ผลกระทบที่ชาวบ้านจะต้องเผชิญจะมีมาก

 

ขณะที่ชาวบ้านจากบ้านแม่เงา อ.สบเมย กล่าวว่า พวกตนเป็นผู้ประสบภัยโดยตรงและรู้สึกวิตกกังวลมาก เพราะเวลานี้แม่น้ำเงาน้ำท่วม การสัญจรเป็นไปไม่ได้ เข้า-ออกไม่ได้เนื่องจากน้ำท่วมถนน แต่หากกั้นเขื่อนอีกจะทำอย่างไร ชาวบ้านกินไม่ได้นอนไม่หลับ มีความทุกข์ เป็นห่วงกังวล มีความทุกข์เป็นอย่างยิ่ง

 

ปกติในฤดูฝนก็มีปัญหามากอยู่แล้ว ทุกวันนี้ชาวบ้านดื่มน้ำประปาภูเขา หากขุดอุโมงค์ ชาวบ้านจะให้ไปอยู่ที่ไหน หลายๆ เรื่องได้พูดคุยมาแล้ว การขุดเจาะ เกิดดินสไลด์ กุ้งหอยปูปลาตาย เราอยู่แบบไม่ร่ำรวย ปลูกพืชพอได้พอกิน อยากให้โครงการสำรวจให้ถ้วนถี่ บ้านที่ปากอุโมงค์สูบน้ำก็ไม่ได้มีการสำรวจ ก่อนจะเข้าไปถ่ายรูปก็ไม่บอกชาวบ้าน เดินเข้าไปกดถ่าย ชาวบ้านตกอกตกใจ ต้องมีการชี้แจงให้ชัดเจนให้เป็นธรรม

 

 

ค้านโครงการแสนล้าน  ผันน้ำยวมเติมเขื่อนภูมิพล

 

 

นายสมชาย ตระกูลพัฒนาคีรี กำนันตำบลแม่สวด อ.สบเมย กล่าวว่า ผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ติดกับน้ำแม่เงา บ้านแม่เงา ห้วยม่วง มีชาวบ้านมาร้องเรียนว่า หากมีการก่อสร้างจริงจะกระทบต่อประชาชนอย่างมาก ป่าทั้งป่า ต้นไม้ทุกต้นชาวบ้านร่วมกันรักษาไว้ แต่โครงการจะกระทบต่อป่า ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ใน ต.แม่สวด ขอให้โครงการสำรวจให้รอบคอบ หากเกิดผลกระทบจะให้ชาวบ้านไปอยู่ที่ไหน

 

นายวันไชย ศรีนาน ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อปริมาณน้ำที่จะมาเพิ่มในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล หากจะผันน้ำมาจากแม่น้ำยวม ชาวบ้านเดือดร้อนเมื่อปี 2517 เมื่อมีการสร้างเขื่อนภูมิพล ที่มีการให้ลงชื่อยินยอมค่าชดเชยที่ดินให้แก่ชาวบ้าน เพียง 400 บาท กฟผ.จ่ายให้แค่นั้นในตอนนั้น

 

แต่ตอนนี้จะเป็นไปได้หรือไม่หากมาดูแลชาวบ้าน เมื่อถามไป กฟผ.ตอบเพียงว่า มีการชดเชยไปแล้ว ต่อมาในปี 2534 ก็มีการประกาศเขตอุทยานทับซ้อนมาอีก ชาวบ้านหากลงข้างล่างโดน กฟผ. ขึ้นดอยก็เจอป่าไม้ นี่จะมาผันน้ำอีก ชาวบ้านจะอยู่อย่างไร

 

ทั้งนี้ชาวบ้านได้มีการยื่นจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านกรมชลประทาน โดยมีชาวบ้านทั้งชายหญิง ร่วมถือป้ายแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการผันน้ำ มีข้อความอาทิ เกิดที่นี่ ตายที่นี่ เงินซื้อวิถีชีวิตไม่ได้ โดยในจดหมายมีเนื้อหาระบุว่า รู้สึกกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อโครงการผันน้ำ

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการผันน้ำ ประกอบด้วยโครงสร้าง ได้แก่ เขื่อนแม่น้ำยวม ถังพักน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำ ฯลฯ จะส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมรุนแรง โดยเฉพาะเขื่อนกั้นแม่น้ำยวม ขนาดความสูง 68.50 เมตร ความยาวสันเขื่อน 180 เมตร จะทำลายระบบนิเวศแม่น้ำยวม และแม่น้ำเงา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีการรบกวนจากมนุษย์น้อยมาก แม่น้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความเปราะบางและมีคุณค่าเช่นนี้ ควรได้รับการอนุรักษ์มากกว่าการทำลาย

 

 

ค้านโครงการแสนล้าน  ผันน้ำยวมเติมเขื่อนภูมิพล

 

 

ในหนังสือถึง รมว.เกษตรฯ ระบุด้วยว่า องค์ประกอบสำคัญของโครงการ คืออุโมงค์ส่งน้ำคอนกรีต เส้นผ่าศูนย์กลาง 8.30 เมตร จะมีความยาว 61.79 กิโลเมตร ถูกออกแบบให้เจาะทะลุภูเขาและผืนป่า จากบ้านสบเงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ถึงลำห้วยแม่งูด ต.นาคอเรือ จ.เชียงใหม่ ต้องมีการขุดเจาะผ่านป่าสมบูรณ์ผืนท้ายๆ ของภาคเหนือและประเทศไทย เป็นป่าต้นน้ำชั้น 1เอ ที่เป็นป่าสมบูรณ์บริเวณรอยต่อ 3 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก

 

นอกจากนี้ การขุดอุโมงค์ขนาดใหญ่จะต้องมีจุดทิ้งกองวัสดุ ซึ่งโครงการออกแบบไว้ 6 แห่ง ประชาชนมีความกังวลว่า จะเกิดกองดิน หิน และวัสดุต่างๆ จากการขุดเจาะ เป็นปริมาณถึง 8,759,870 ลูกบาศก์เมตร ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อป่าลุ่มน้ำชั้น 1เอ ตลอดระยะทางอุโมงค์

 

“ข้อสำคัญคือ เป็นที่ชัดเจนว่า โครงการผันน้ำ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน การให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการไม่ครอบคลุม และไม่เพียงพอ เอกสารโครงการบอกเพียงผลประโยชน์ของโครงการ แต่ไม่ระบุถึงผลกระทบด้านลบ ต่อผืนป่า ลำน้ำ สิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ปากท้องของประชาชนที่อาศัยในพื้นที่

 

ตลอดจนประชาชนไทยผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติอันล้ำค่า นอกจากนี้การนำเสนอข้อมูลและเอกสารเผยแพร่ไม่ได้ใช้ภาษาท้องถิ่นของผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ทำให้ไม่อาจเข้าใจได้อย่างแท้จริง อันเป็นอุปสรรคในการแสดงความคิดเห็น” ในหนังสือระบุ

 

*****************//*****************

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ