คอลัมนิสต์

ที่ดินคงถูกรุกล้ำต่อเนื่องฟ้องละเมิดศาลปกครองในอายุความใด 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  เรื่องน่ารู้ว่านนี้...กับคดีปกครอง  โดย... นายปกครอง

 

 

          นับจากนี้ต่อไป “นายปกครอง” ในนามของสำนักงานศาลปกครอง จะนำสาระน่ารู้จากข้อพิพาทในคดีปกครองมาให้ผู้อ่านได้ศึกษาทุกสัปดาห์นะครับ... 

 

          แต่เดิมนายปกครองได้เผยแพร่สาระความรู้นี้ในเว็บไซต์ของ “คม ชัด ลึก” ครับ จึงหวังว่าท่านผู้อ่านที่เคยติดตามมาบ้างแล้ว จะติดตามนายปกครองต่อไปในพื้นที่นี้นะครับ

 

 

          อุทาหรณ์จากคดีปกครองเรื่องแรกในฉบับนี้ครับ... เป็นกรณีที่กรมทางหลวงชนบทดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ แต่รุกล้ำที่ดินของเจ้าของที่ดินซึ่งไม่ได้อุทิศให้แก่ทางราชการ


          ปัญหาว่า เจ้าของที่ดินที่ถูกรุกล้ำจะฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ทางราชการชดใช้ค่าเสียหายได้หรือไม่ ? และจะต้องฟ้องภายในอายุความใด ?


          คดีนี้มีมูลเหตุเกิดจากกรมทางหลวงชนบทดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ


          ระหว่างการก่อสร้างได้ขอให้ อบต.ประสานงานกับนายสมควร (ผู้ฟ้องคดี) เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่ออุทิศที่ดินแก่ทางราชการเพื่อก่อสร้างถนนต่อเชื่อมกับสะพาน นายสมควร ไม่ได้คัดค้านครับ... แต่ได้ยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินแปลงที่ได้รับผลกระทบ ผลปรากฏว่าที่ดินถูกรุกล้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างบางส่วน


          โดยถูกถมทำเป็นถนนเชื่อมต่อคอสะพานข้ามแม่น้ำ นายสมควรทราบผลการรังวัดในปี พ.ศ.2551 (ส่วนวันที่ใดไม่แน่ชัด) และได้นำคดีมาฟ้องศาลปกครองเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2554 เพื่อขอให้กรมทางหลวงชนบท (ผู้ถูกฟ้องคดี) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

 

 

 

ที่ดินคงถูกรุกล้ำต่อเนื่องฟ้องละเมิดศาลปกครองในอายุความใด 

 


          ถือเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ต้องยื่นฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน… 


          ซึ่งหากยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด ศาลปกครองมีอำนาจไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาและจะจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ...ครับ

 

 



          คดีนี้ เมื่อผู้ฟ้องคดีรู้เหตุแห่งการฟ้องคดีอย่างช้าที่สุดในวันที่ทราบผลการรังวัดในปี พ.ศ.2551 แต่ยื่นฟ้องในวันที่ 21 มิถุนายน 2554 จึงเกินกว่ากำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี 


          แต่ทว่า...ศาลปกครองสูงสุด ท่านเห็นว่า ที่ดินยังคงถูกรุกล้ำอยู่ตลอดเวลา จึงถือเป็นการกระทำละเมิดต่อเนื่องตลอดมาจนถึงวันฟ้อง จึงยังไม่ขาดอายุความครับ…ศาลปกครองจึงรับคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป


          ประเด็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ? 


          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ระหว่างการก่อสร้าง อบต. ได้มีหนังสือขอให้ผู้ฟ้องคดีอุทิศที่ดินที่ถูกกระทบจากการก่อสร้าง ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างถนนบริเวณพิพาทไปก่อนโดยจะขอให้มีการอุทิศในภายหลัง ผู้ถูกฟ้องคดีไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าผู้ฟ้องคดีอุทิศที่ดินให้เป็นถนนต่อเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำ หรือได้อุทิศด้วยวาจาโดยมีพยานบุคคลรู้เห็นเหตุการณ์ แม้มีการก่อสร้างไปก่อนโดยผู้ฟ้องคดีไม่ได้โต้แย้งคัดค้านในขณะนั้น ก็ไม่อาจถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีอุทิศที่ดินโดยปริยายให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีแล้วได้ การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับความยินยอม 


          จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการกระทำละเมิด ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าที่ดินและค่าใช้จ่ายในการรังวัดแบ่งแยกที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 1268/2560)


          จากคำพิพากษาในคดีนี้ครับ เป็นการวางหลักเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดี “ละเมิดจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ” ต่อศาลปกครองว่า หากฟ้องเพื่อให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงวันฟ้องคดี 


          แม้ว่าจะพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ก็ถือว่ายังไม่ขาดอายุความครับ (ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ