คอลัมนิสต์

ขยะจิ๋ว "ไมโครพลาสติก" พิษร้ายอย่ามองข้าม!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ขยะจิ๋ว "ไมโครพลาสติก" พิษร้ายอย่ามองข้าม! โดย...   ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

 

 

          ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยแลนด์มีชื่อเสียงไม่ค่อยดีนักเรื่อง “ขยะพลาสติก” โดยเฉพาะหลังจากพบวาฬตายที่สงขลา แล้วผ่าซากออกมาเจอถุงพลาสติกดำหนัก 8 กก. เต็มกระเพาะอาหาร ภาพนี้ถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก จะส่ายหน้าปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวกับคนไทยก็พูดไม่เต็มปาก เพราะเราถูกจัดอันดับเป็นประเทศทิ้งขยะพลาสติกลงทะเล อันดับ 6 ของโลก !

 

 

          ข้อมูลเว็บไซต์ www.statista.com อ้างถึงกลุ่มประเทศปล่อยขยะลงทะเลอย่างไร้ความรับผิดชอบมากสุดคือ “กลุ่มอาเซียน” เรียงจากอันดับ 1–6 ได้ดังนี้ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ศรีลังกา และ ไทย


          ล่าสุดเมื่อวันที่ 10-12 กรกฎาคม 2562 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 30 (30th ASEAN Senior Officials Meeting on the Environment : 30th ASOEN)

 

 

 

ขยะจิ๋ว "ไมโครพลาสติก" พิษร้ายอย่ามองข้าม!

 


          แต่จบการประชุมไปแล้ว ยังไม่เห็นแผนทำงานที่เป็นรูปธรรมว่า จะแก้ปัญหาขยะในทะเลทั่วอาเซียนอย่างไร !?!


          โดยเฉพาะการกล่าวถึงขยะที่มีความอันตรายต่อท้องทะเลมากกว่าขยะพลาสติกทั่วไป นั่นคือ “พลาสติกจิ๋ว” หรือ “ไมโครพลาสติก” ที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน เนื่องจากเป็นพลาสติกที่มองแทบไม่เห็น จึงปนเปื้อนไปกับน้ำหรืออาหารจากธรรมชาติที่พวกเราดื่มกินเข้าไปในร่างกายโดยไม่รู้ตัว และยังไม่รู้ว่าจะกำจัดทิ้งโดยวิธีใด


          ที่ผ่านมาเวลาพูดถึง ปัญหาขยะพลาสติก ส่วนใหญ่มักนึกถึง ถุงพลาสติก ถุงดำใส่ขยะ กล่องโฟม ช้อน ขวด ของเล่นเด็ก ฯลฯ ที่เรียกกันย่อๆ ว่า พีวีซี (polyvinylchloride: PVC) เพ็ท (polyethylene terephthalate : PET) ฯลฯ พลาสติกขนาดใหญ่เหล่านี้มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แม้น่ากลัวแต่ไม่น่าสยองเท่าพลาสติกจิ๋วที่นักวิทยาศาสตร์และกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมกำลังกลัวว่าในอนาคตพวกมันอาจเป็นสาเหตุสำคัญในการคร่าชีวิตมนุษย์โลกเลยทีเดียว

 

 

 

ขยะจิ๋ว "ไมโครพลาสติก" พิษร้ายอย่ามองข้าม!

 


          "ไมโครพลาสติก" (Microplastics) คือเศษพลาสติกจิ๋วมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1.เม็ดพลาสติกตั้งต้น (Primary microplastics) หมายถึงเม็ดพลาสติกที่เป็นวัสดุตั้งต้นในการผลิตสินค้าพลาสติกต่างๆ โดยเฉพาะในผงซักฝอก สบู่ถูตัว สบู่ล้างหน้า ฯลฯ ที่โฆษณาว่ามีส่วนผสมของ “เม็ดสครับ” (scrub) หรือ “คริสตัล บีดส์” (Crystal Beads) พวกเราเคยได้ยินบ่อยๆ ในโฆษณาขายสินค้าว่า เป็นผงซักฟอกผสมคริสตัล บีดส์ ช่วยสลายคราบฝังลึกไม่ย้อนกลับติดเสื้อผ้า ล้างออกง่าย ทำให้เสื้อขาวเด่น ขจัดความหมองเหลืองสะสมบนเสื้อผ้าตั้งแต่ซักครั้งแรก หรือในคำอวดอ้างของผลิตภัณฑ์โฟมล้างหน้าว่ามีส่วนผสมของเม็ดสครับ ช่วยขัดและผลัดเซลล์ผิว เร่งการเกิดเซลล์ผิวใหม่ ช่วยให้ผิวนุ่มใส หรือผิวสว่างกระจ่างใสยิ่งกว่าเดิม รวมถึงในสินค้ายาสีฟันที่ชอบโฆษณาว่าช่วยให้ฟันขาว ขจัดคราบชา กาแฟ ฯลฯ


 

 

 

ขยะจิ๋ว "ไมโครพลาสติก" พิษร้ายอย่ามองข้าม!

 


          ทั้งนี้ "เม็ดพลาสติกตั้งต้น" เหล่านี้ถูกผลิตมาใช้ในสินค้าต่างๆ นานกว่า 40 ปีแล้ว “ไอยูซีเอ็น” องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature and Natural Resources : IUCN) เปิดเผยรายงานวิจัยเมื่อปี 2560 เกี่ยวกับปริมาณปนเปื้อนของ “เม็ดพลาสติกตั้งต้น” ในทะเลและแม่น้ำทั่วโลก ปรากฏว่าพบในรูปแบบของขยะประมาณ 0.8-2.5 ล้านตันต่อปี นี่คือปัญหาที่นักวิทยาศาสตร์กำลังเป็นห่วงว่า หากปล่อยให้มนุษย์ทั่วโลกผลิตและใช้จำนวนมากๆ และปล่อยให้ทิ้งปนเปื้อนในแม่น้ำและทะเลหรือแหล่งน้ำธรรมชาติจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมนุษย์นำน้ำจากธรรมชาติมาดื่มกินหรือใช้ในครัวเรือน เม็ดสครับหรือไมโครบีดส์ก็ผสมปนเปเข้าไปในร่างกายของพวกเรา หากร่างกายไม่สามารถขจัดออกไปได้ ก็จะสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นสาเหตุให้เกิดความผิดปกติในอวัยวะต่างๆ​


          โดยเฉพาะการเข้าไปขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อ และกลายเป็นสารก่อมะเร็งในร่างกายมนุษย์

 

 

 

ขยะจิ๋ว "ไมโครพลาสติก" พิษร้ายอย่ามองข้าม!

 


          พลาสติกจิ๋วกลุ่มที่ 2 คือ พลาสติกที่แตกหัก (Secondary microplastics) คือ ส่วนของโครงสร้างพลาสติกที่หลุดแตกหักออกมาจากสินค้าพลาสติกต่างๆ หรือเสื่อมสลายแตกตัวจนมีขนาดเล็กลงด้วยกระบวนการทางกายภาพหรือทางเคมี จนกลายเป็นสารแขวนลอยปะปนอยู่ในแม่น้ำและทะเล ซึ่งพลาสติกจิ๋วกลุ่มนี้ปลาหรือสัตว์น้ำมักเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาหารแล้วกินเข้าไป


          ข้อมูลจาก “นิตยสารฉลาดซื้อ” (https://chaladsue.com) ฉบับที่ 218 กล่าวถึงปัญหาจากขยะไมโครพลาสติก ว่าเป็นปัญหาใหญ่และใกล้ตัวกว่าที่คิดไว้มาก เนื่องจากพลาสติกจิ๋วที่มองไม่เห็นกำลังกลายเป็นวิกฤติขยะพลาสติก จากรายงานของ Eunomia ระบุว่า “เม็ดพลาสติกตั้งต้น” ขณะพบในท้องทะเลเกือบ 1 ล้านตันนั้น แยกขยะที่พบได้อันดับ 1 คือเม็ดพลาสติก 2.เส้นใยยางรถยนต์ที่สึกหรอ และ 3.เส้นใยสังเคราะห์จากเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มหรือสินค้าอื่นๆ โดยไหลลงไปทะเลด้วยระบบบำบัดน้ำเสีย การชะล้างถนนหรือการพัดพาของลม


          นอกจากนี้ยังมีพลาสติกจิ๋วกลุ่มที่เรียกภาษาอังกฤษว่า Degradable Plastic เป็นพลาสติกรูปแบบหนึ่งซึ่งไม่สามารถย่อยสลายได้แตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ จนกลายเป็นไมโครพลาสติกคนไทย รู้จักกันสั้นๆ ในชื่อ “ถุงออกโซ” (Oxo-degradable) มีใช้ตามห้างสรรพสินค้าและประกาศว่าเป็นถุงพลาสติกที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นอีกหนึ่งต้นตอของปัญหาไมโครพลาสติก เนื่องจากยังไม่ถูกยอมรับว่าเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ในสภาวะธรรมชาติจริง โดยกระบวนการของถุงนี้คือการเติมสารเติมแต่งประเภทแป้งลงไปในเนื้อพลาสติก มีราคาแพงกว่าพลาสติกทั่วไปประมาณร้อยละ 20 เมื่อทุกคนมาซื้อใช้ ยิ่งเร่งให้เกิดไมโครพลาสติกมากขึ้น เพราะถุงนี้แตกสลายเร็วกว่าพลาสติกทั่วไป

 

 

ขยะจิ๋ว "ไมโครพลาสติก" พิษร้ายอย่ามองข้าม!

 


          ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า “การทิ้งไมโครพลาสติกลงไปในแหล่งน้ำหรือทะเลจะไม่สามารถบำบัดได้ เพราะมีขนาดเล็กมากล่องลอยอยู่ในมหาสมุทรทั่วโลก วิธีการเก็บขึ้นมาต้องหาตะแกรงรูเล็กมากๆ มาตัก ซึ่งสัตว์ทะเลต่างๆ จะถูกตักขึ้นมาพร้อมกันด้วย จึงหาวิธีกำจัดไมโครพลาสติกในทะเลได้ยากมาก” ที่ผ่านมา นักวิจัยจากต่างประเทศเคยเก็บตัวอย่างอุจจาระของกลุ่มตัวอย่างไปทำการตรวจสอบและพบว่าตัวอย่างอุจจาระมีพลาสติกแตกต่างกันถึง 9 ชนิด ขนาดตั้งแต่ 50-500 ไมโครเมตร โดยพบ “พีพี” โพลิโพรไพลีน (Polypropylene : PP) และ "เพ็ท" (PET) มากที่สุด และยังพบด้วยว่า 3 ใน 4 ของปลาทะเลชนิดต่างๆ รวมทั้งปลาหมึกและปลากระโทงดาบที่ขายในตลาดทั่วโลกพบไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในตัวสัตว์น้ำเหล่านี้


          นั่นคือปัญหาที่นักวิจัยและนักวิชาการรู้สึกเป็นกังวลว่า “ห่วงโซ่อาหาร” ของมนุษย์เริ่มปนเปื้อนพลาสติกมากขึ้น หมายความว่าแพลงตอนหรือสัตว์ทะเลที่กินไมโครพลาสติกเข้าไปและถูกกินต่อมาเรื่อยๆ ตามห่วงโซ่อาหารเมื่อถูกจับขึ้นมาเป็นอาหารของมนุษย์ พวกเรากินปลาหมึก กินปลา ก็คือกินไมโครพลาสติกเข้าไปทางอ้อมด้วย


          องค์การอนามัยโลกกำลังทำงานวิจัยสำรวจว่าสารประกอบพลาสติกจิ๋วที่กินเข้าไปนั้น ทำให้เสี่ยงโรคอะไรบ้าง ปริมาณอันตรายคือเท่าไร ฯลฯ และพลาสติกเหล่านี้สามารถดูดซับมวลสารอื่นๆ ที่ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ เช่น โลหะหนัก สารมลพิษที่ตกค้างอื่นๆ มาผสมเข้าด้วยกันหรือไม่

 

 

ขยะจิ๋ว "ไมโครพลาสติก" พิษร้ายอย่ามองข้าม!

 


          หลายประเทศเริ่มประกาศยกเลิกการใช้อย่างเร่งด่วน เช่น อังกฤษ สั่งยกเลิกการใช้ไมโครพลาสติกในการผลิตสินค้าเกือบทุกชนิดตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 เกาหลีใต้ยกเลิกการผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพช่องปาก เช่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของไมโครพลาสติก ตั้งแต่ปี 2560


          สำหรับประเทศไทย ที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานรัฐให้ข้อมูลชัดเจนเรื่องปริมาณการทิ้งขยะหรือนโยบายกำจัด “พลาสติกจิ๋ว”


          หวังว่า “วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงคงจะมีความเข้าใจ และจะมีทิศทางชัดเจนในการจัดการปัญหานี้ให้คนไทยได้เห็นในเร็ววัน !

 


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ