คอลัมนิสต์

ไม่เอา '66/23'ยึดโมเดล'ไอซ์แลนด์เหนือ'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  ถอดรหัสลายพราง  โดย...  พลซุ่มยิง 

 

 

          หากจะพูดถึง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี 66/23 ของ พล.อ.เปรม ตินสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ยกเป็นตัวอย่าง เพื่อใช้เป็นแนวทางช่วยเหลือผู้ต้องหาหนีคดีไปต่างประเทศในห้วงรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยรัฐบาลต้องมีหลักประกันให้ทุกคดีเป็นคดีการเมือง เพื่อสร้างความปรองดอง

 

 

          การประกาศคำสั่ง 66/23 ทั่วประเทศโดยไม่กำหนดกรอบเวลาของ ‘พล.อ.เปรม’ มีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) โดยใช้การเมืองนำการทหาร หวังยุติสงครามประชาชน พร้อมเปิดทางให้แนวร่วมที่จับอาวุธต่อสู้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษา ปัญญาชนหัวก้าวหน้า ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองและหนีการกวาดล้างจากรัฐบาลในสมัยนั้น ภายหลังเกิดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ คือ 14 ตุลาคม 2516 และ 6.ตุลาคม 2519 ให้กลับออกจากป่ามาร่วมพัฒนาชาติไทยโดยไม่ต้องรับโทษใดๆ 


          ทั้งสองเหตุการณ์แม้จะเกิดคนละยุคแต่มีความเหมือนและแตกต่างกันอยู่ ตรงที่เป็นการเรียกร้อง ‘ประชาธิปไตย’ ในสมัยรัฐบาลทหารเรืองอำนาจ แต่เปลี่ยนจากหนีเข้าป่าไปเคลื่อนไหวนอกประเทศ แต่แนวร่วม พคท.ไม่เคยถูกกล่าวหาหรือพบการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เหมือนกับ นักการเมือง และนักกิจกรรม ในห้วง คสช.


          หากย้อนกลับไปดูข้อมูลคสช. พบว่ามีนักการเมือง นักกิจกรรม นักวิชาการ หลบหนีออกไปเคลื่อนไหวนอกประเทศหลายคน มีทั้งจัดตั้งเป็นกลุ่มองค์กร หรือส่วนบุคคล ผ่านโซเชียลมีเดีย อย่าง นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ  อดีต รมว.มหาดไทยและแกนนำพรรคเพื่อไทยในฐานะหัวหน้าองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ถูกแจ้งข้อหาความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หมิ่นประมาทผ่านสื่อ และขัดคำสั่งคสช. รวม 3 ข้อหา


          หรือบุคคลที่ผิดตามมาตรา 112 เช่น นายนิธิวัต วรรณศิริ หรือ ‘ป๋าจอม’ นักกิจกรรมคนเสื้อแดง  นายศรัณย์ ฉุยฉาย หรือ ‘อั้ม เนโกะ’ อดีตนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์  นางสุดา รังกุพันธ์ อดีตอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 



          ในห้วงคสช.มีความพยายามสร้างความปรองดอง ตั้งแต่คณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร


          (ศปป.กอ.รมน.) คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) 


          โดยแต่ละคณะกรรมการได้เสนอแนวทางหลากหลายในการช่วยเหลือผู้ต้องคดี ไม่เพียงแต่ในห้วงคสช.เท่านั้น รวมถึงเหตุการณ์วิกฤติการเมืองตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ในรูปแบบ ‘นิรโทษกรรม’ โดยงดเว้นบุคคลต้องคดี 3 ประเภท คือ การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ความผิดอาญา, การทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ทุกอย่างยังอยู่ในแผ่นกระดาษ ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาไม่เป็นรูปธรรมได้


          แต่ในรัฐบาลปัจจุบันของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะผลักดันเรื่องสร้างความปรองดองอีกครั้ง โดยไม่ใช้แนวทางคำสั่ง 66/23 ของพล.อ.เปรม หรือการนิรโทษกรรม แบบเดียวกับสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ทำเกิดวิฤติการเมืองนำไปสู่รัฐประหาร แต่จะใช้โมเดล ไอร์แลนด์เหนือ ที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งมาแล้ว


          พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนัก สันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ให้ความเห็นที่น่าสนใจ ไม่สามารถบอกได้ว่าคนที่ต้องคดีในห้วงวิกฤติการเมืองแต่ละยุคจะเปลี่ยนวิธีคิด หากรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือ


          แต่มองว่าหากคู่ขัดแย้งได้มีโอกาสปรับทัศนคติก็จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และที่เห็นได้ชัดพฤติกรรมของแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) แกนนำกลุ่ม นปช.และแกนนำกลุ่ม กปปส.


          “หลังที่นายจตุพร ติดคุก ได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองและหาทางออกให้แก่ประเทศ  ระหว่าง นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำ พธม. นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ พระพุทธะอิสระ แกนนำ กปปส. นำไปสู่การขออโหสิกรรม และให้อภัยซึ่งกันและกัน”


          หลังลองผิดลองถูกมาหลายครั้งจึงเป็นไปได้สูงนโยบายสร้างความปรองดองของพล.อ.ประยุทธ์ น่าจบลงที่โมเดล ไอร์แลนด์เหนือ โดยจะเริ่มต้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2454 ไปจนถึงปัจจุบัน คือทุกฝ่ายจะต้องติดคุกทั้งหมดเพื่อให้ไปคุยทำความเข้าใจกัน เมื่อถึงห้วงเวลาหนึ่งจะได้รับการอภัยโทษ เช่นเดียวกับแกนนำกลุ่ม พธม. หรือ นายพันทิวา ภูมิประเทศ หรือ นายธานัท ธนวัชรนนท์ หรือ ทอม ดันดี อดีตนักร้องเพลงเพื่อชีวิตชื่อดัง แกนนำนปช.ผู้ต้องหาคดี ม.112

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ