คอลัมนิสต์

ถึงคิวเก็บภาษีความเค็ม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม 2562

 

 

          มาตรการหนึ่งในการควบคุมเรื่องเครื่องดื่มและอาหารมีน้ำตาลสูงเกินมาตรฐานส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค นั่นคือการปรับขึ้นภาษีน้ำตาลขั้นที่สองที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 โดยเพิ่มอัตราการเก็บภาษีมากยิ่งขึ้น น้ำตาลเกิน 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร(มล.) เสียภาษี 0.50 บาทต่อลิตร และเกิน 14 กรัม เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร ส่วนขั้นที่สามเริ่มในปี 2564 น้ำตาล 8-10 กรัมต่อ 100 มล. เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร ถ้าสูงกว่านั้นก็เสียเพิ่ม น้ำตาลเกิน 14 กรัม ต่อ 100 มล. เสียภาษี 5 บาทต่อลิตร และขั้นที่สี่ในปี 2566 น้ำตาล 6-8 กรัมต่อ 100 มล.เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร สูงสุดเกิน 10 กรัมต่อ 100 มล.เสียภาษี 5 บาทต่อลิตร เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีสาเหตุมาจากบริโภคน้ำตาลมากเกินควรจนอัตราผู้ป่วยในประเทศสูงมาก

 


          จากการสำรวจของกรมอนามัยและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) พบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลมากถึงวันละ 20 ช้อนชา ซึ่งเกินกว่าปริมาณแนะนำถึงกว่า 3 เท่า ในขณะที่สถิติผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วนก็พุ่งสูงขึ้น รวมไปถึงการบริโภคน้ำตาลมากมีความเสี่ยงเกิดโรคประจำตัวอื่นๆ ตามมาด้วย โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ชอบดื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน หรือดื่มนมก็ชอบดื่มนมรสหวาน ยังไม่นับรวมขนมหวานและไอศกรีม ซึ่งพบว่ามีเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการบริโภคน้ำตาลในแต่ละวันควรเป็นไปตามมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ ซึ่งคำนวณง่ายๆ คือในแต่ละวันไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัม ซึ่งเทียบน้ำตาล 1 ช้อนชา จะเท่ากับประมาณ 4 กรัม โดยให้คำนึงถึงสุขภาพและโรคประจำตัวของแต่ละบุคคลด้วย


          ขณะเดียวกันยังพบพฤติกรรมคนไทยจำนวนมากบริโภคโซเดียมหรือเกลือในปริมาณสูงเกินมาตรฐานหรือที่เรียกกันว่าติดรสเค็ม ซึ่งมาจากการบริโภคซอสปรุงรสและอาหารแปรรูปตลอดจนกลุ่มอาหารจำพวกบะหมี่สำเร็จรูปที่มีโซเดียมปริมาณมาก ซึ่งพบว่าถ้ากินเค็มมากเกินไปบ่อยๆ จะเกิดโรคเรื้อรังตามมาอีกมากมาย อาทิ โรคความดันสูง และไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้มีการศึกษาพบว่ารสเค็มเป็นรสที่ส่งผลต่อการกินมากที่สุด และเป็นสาเหตุให้ผู้ชอบกินเค็มเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนได้ง่าย โดยเครือข่ายลดบริโภคเค็มได้ให้ข้อมูลที่น่ากังวลว่าปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมติดเค็ม 22.05 ล้านคน และการบริโภคโซเดียมที่เกินความต้องการทำให้เสียชีวิตถึงปีละกว่า 20,000 คน เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากพฤติกรรมติดเค็มถึง 98,976 ล้านบาทต่อปี


          ล่าสุดมีการประชุมหารือร่วมกันเรื่องการจัดเก็บภาษีเกลือหรือโซเดียมเมื่อเร็วๆ นี้ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง โดยเห็นว่ามาตรการที่ได้ผลดีที่สุดคือการสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อปรับสูตรผลิตภัณฑ์อาหารให้มีปริมาณเกลือหรือโซเดียมลดลง โดยคณะกรรมการนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมแห่งชาติเลือกมาตรการด้านภาษีเพื่อให้ผู้ประกอบการปรับสูตรอาหาร แต่ในเวทีดังกล่าวตัวแทนภาคอุตสาหกรรมยังเห็นต่างในหลายมุมมองและยังไม่สนับสนุนนโยบายขึ้นภาษีโซเดียมพร้อมเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการจากทั้งภาครัฐและเอกชนทำงานร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและหาทางออก อย่างไรก็ตามปัญหาการบริโภคหวาน-เค็มเกินไปเป็นสิ่งจำเป็นต้องแก้ไข และมาตรการด้านภาษีก็เป็นเครื่องมือที่ประเทศนานาสากลใช้ในการกำกับดูแลเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ