คอลัมนิสต์

เป็นกก.มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทโดยไม่รู้ตัวเพิกถอนชื่อด้วย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  เรื่องน่ารู้ว่านนี้...กับคดีปกครอง  โดย... นายปกครอง

 

 

          การลงลายมือชื่อในเอกสารต่างๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญ ... ครับ !! เพราะมีผลผูกพันเจ้าของลายมือชื่อ


          ดังนั้น ก่อนลงลายมือชื่อจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอ่านเอกสารให้เข้าใจเนื้อหาสาระให้ถ่องแท้ว่าเป็นไปตามความประสงค์ของการลงลายมือชื่อหรือไม่ หรือต้องลงลายมือชื่อเพื่อกิจการงานในเรื่องใด

 

 

          ดังเช่น ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในศาลปกครองที่นายปกครองจะนำมาเล่าให้ฟังในวันนี้


          มูลเหตุเกิดจาก นาย ก. ทำหน้าที่พ่อครัวในโรงแรมแห่งหนึ่ง ได้ลงลายมือชื่อในเอกสาร พร้อมทั้งมอบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านและลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง เพราะความเกรงใจไม่กล้าปฏิเสธ “เจ้านาย” โดยไม่อ่านรายละเอียดเนื้อความในเอกสารและไม่เห็นข้อความบนหัวกระดาษว่า “กรรมการเข้าใหม่” 


          จนกระทั่งหลายวันผ่านไป นาย ก. จึงได้ทราบว่าเอกสารที่ตนเองลงลายมือชื่อไปนั้น คือเอกสารเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทและได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทจากนายหนึ่งซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทและเป็นผู้ถือหุ้น 99.99% เป็นนาย ก. เรียบร้อย !!!


          นาย ก. จึงมีหนังสือขอให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เพิกถอนชื่อตนออกจากการเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัท เนื่องจากไม่ได้ยินยอมหรือไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัท และไม่เคยเข้าร่วมประชุมหรือดำเนินกิจการของบริษัทแต่อย่างใด แต่นายทะเบียนฯ ไม่เพิกถอน ... ครับ !! 


          เพราะไม่มีหลักฐานชัดเจนเพียงพอที่สามารถยืนยันได้ว่ามีการประชุมเพื่อมีมติเปลี่ยนแปลงกรรมการจริงหรือไม่ ... นาย ก. จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้นายทะเบียนฯ เพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการฯ


          ข้อกฎหมายสำคัญของเรื่องนี้ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1151 บัญญัติว่า อันผู้เป็นกรรมการนั้น เฉพาะแต่ที่ประชุมใหญ่เท่านั้นอาจจะตั้งหรือถอนได้ ประกอบกับมาตรา 1178 บัญญัติว่า ในการประชุมใหญ่ ถ้าไม่มีผู้ถือหุ้นเข้ามาประชุมรวมกันแทนหุ้นได้ถึงจำนวนหนึ่งในสี่แห่งทุนของบริษัทเป็นอย่างน้อยแล้ว ท่านว่าที่ประชุมอันนั้นจะปรึกษากิจการอันใดหาได้ไม่ ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่จะทำให้เกิดอำนาจออกคำสั่งจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทชอบด้วยกฎหมาย คือ การประชุมเพื่อมีมติเปลี่ยนแปลงกรรมการ ครับ

 



          คดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อนายหนึ่งซึ่งเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ของหุ้นทั้งหมด ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ไม่ทราบว่ามีการบอกกล่าวนัดประชุมและมีการประชุมกันจริงหรือไม่ ประกอบกับรายงานที่ประชุมคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองคำอุทธรณ์ฯ เกี่ยวกับการจดทะเบียนธุรกิจ ก็มีความเห็นว่ายังไม่มีหลักฐานชัดเจนเพียงพอที่จะสามารถยืนยันได้ว่ามีการประชุมจริงหรือไม่ 


          จึงย่อมหมายความว่านายหนึ่งไม่ได้เข้าร่วมประชุมกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เมื่อนายหนึ่งไม่ได้มาประชุม การประชุมวิสามัญเพื่อมีมติเปลี่ยนแปลงกรรมการจึงไม่อาจดำเนินการประชุมและมีมติใดๆ ได้ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุให้เกิดอำนาจออกคำสั่งทางปกครองไม่ได้เกิดขึ้นในเวลาที่ออกคำสั่ง ย่อมเป็นผลให้คำสั่งจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและผู้ถือหุ้น (คำสั่งทางปกครอง) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย … (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.921/2561)


          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ จึงน่าจะเป็นอุทาหรณ์ที่ดีให้กับประชาชนทั่วไปว่า จะต้องระมัดระวังในการลงลายมือชื่อในเอกสารต่างๆ โดยสมควรที่จะต้องอ่านรายละเอียดเนื้อความในเอกสารเสียก่อนแล้วค่อยลงลายมือชื่อเมื่อเห็นว่าเนื้อความในเอกสารเป็นไปตามความประสงค์ของตน 


          นอกจากนี้ คดีนี้ยังเป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดีให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะการใช้อำนาจจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทต้องปรากฏข้อเท็จจริงสำคัญว่าได้มีการประชุมกรรมการตามที่กฎหมายกำหนดและหากข้อเท็จจริงสำคัญดังกล่าวไม่เกิดขึ้น ณ เวลาที่ใช้อำนาจจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัท คำสั่งจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัท ซึ่งเป็น “คำสั่งทางปกครอง” ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงย่อมมีอำนาจเพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการนั้นได้ (ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ