คอลัมนิสต์

ศูนย์ข่าวปลอมของภาครัฐกับความเป็นอิสระในการตรวจสอบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... รู้ลึกกับจุฬาฯ

 

 

          ข่าวน่าสนใจสำหรับวงการสื่อสารสนเทศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  ของนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ ที่เปิดตัวพร้อมนโยบายเข้ากับยุคสมัยคือการจัดตั้งศูนย์สกัดกั้นข่าวปลอม (เฟคนิวส์ เซ็นเตอร์)

 

 

          นายพุทธิพงษ์ ระบุว่า จะหารือกับหน่วยงานในสังกัดเรื่องการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวเพื่อหาแนวทางดำเนินการกับข่าวที่มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง เช่น การแชร์ข่าวปลอมที่สร้างความตื่นตระหนกเรื่องภัยธรรมชาติ โรคติดต่อ และรวมไปถึงข่าวที่ยั่วยุและสร้างความแตกแยกในสังคม เสียหายต่อบ้านเมือง หรือเสื่อมเสียต่อองค์กรอันเป็นที่เคารพของคนไทย


          อาจารย์ ดร.เจษฎา ศาลาทอง จากภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า สถานการณ์ข่าวปลอม หรือ เฟคนิวส์ ในประเทศไทยเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากแพร่กระจายได้ไวและมักได้รับความสนใจจากประชาชน


          ผู้ที่มักจะตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงหรือข่าวปลอมก็มักจะเป็นกลุ่มผู้สูงวัยซึ่งมักไม่คุ้นชินกับเทคโนโลยีหรือสื่อชนิดใหม่ ไม่เท่าทันสื่อว่าข่าวใดเป็นข่าวจริงไม่จริง รูปใดเป็นรูปตัดต่อหรือรูปจริง ประกอบกับสังคมปัจจุบันเป็นสังคมสูงวัยที่มีคนสูงอายุจำนวนมากเริ่มใช้โทรศัพท์มือถือ ก็ทำให้ปัญหาข่าวปลอมระบาดไปทั่วโลกออนไลน์ได้โดยเร็ว


          “ผมได้ไปเก็บข้อมูลที่เวียดนามก็พบว่าเป็นเทรนด์เช่นเดียวกับประเทศไทย เด็กรุ่นใหม่ปัจจุบันมีความรู้เท่าทันสื่อ ตรงกันข้ามกับผู้สูงอายุซึ่งเป็น Digital Migrants เพิ่งอพยพมาเล่น ขณะที่เด็กเขาโตมาก็เล่นเป็นแล้ว”


          อาจารย์เจษฎาระบุว่าเจตนาของรัฐบาลที่ต้องการตั้งศูนย์สกัดกั้นข่าวปลอมนั้นเป็นเจตนาดี เพราะแสดงให้เห็นว่าภาครัฐตระหนักถึงปัญหาข่าวปลอมและไม่ได้นิ่งดูดาย อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการศูนย์ดังกล่าวควรจะต้องให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะภาคสื่อมวลชนและภาคประชาสังคมที่มีความเป็นอิสระสูง




          หากการจัดตั้งศูนย์สกัดกั้นข่าวปลอมเป็นหน้าที่เพียงแต่ภาครัฐเป็นผู้ดูแลเพียงผู้เดียวย่อมต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาการปิดกั้นข่าวสาร และการตีความของความหมายคำว่า “ข่าวปลอม” ที่ไม่ตรงกันระหว่างรัฐและประชาชน


          “เฟคนิวส์ที่ภาครัฐให้นิยามกับประชาชนให้นิยามใช้ตัวเดียวกันไหม ในสหรัฐประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บอกว่าข่าวที่เขียนโจมตีตัวเขาคือ เฟคนิวส์มันก็ไม่ถูกต้อง และถูกมองว่าเอาข้ออ้างเฟคนิวส์มาปิดปากประชาชน ยิ่งทำให้ประชาชนมองไปทางนั้นได้ว่าตนเองห้ามตั้งคำถามกับภาครัฐ”


          อาจารย์เจษฎาชี้ว่า ยิ่งหากเป็นรัฐบาลที่มีความอำนาจนิยมสูงย่อมถูกมองได้ว่าศูนย์สกัดกั้นข่าวสารจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือรัฐบาลในการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน


          ทั้งนี้ อาจารย์เจษฎากล่าวว่า ศูนย์สกัดกั้นข่าวสารปลอมในต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มีรูปแบบการทำงานในลักษณะตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล หรือที่เรียกว่า เฟคเช็ก  ซึ่งเป็นองค์กรอิสระออกมาตรวจสอบข้อมูลของรัฐบาล นักการเมือง ฯลฯ โดยตรวจสอบจากการพูด หรือแถลงการณ์ขององค์กรหรือบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนั้นๆ ว่ามีความจริงเท็จแค่ไหน


          “ผมคิดว่าถ้ารัฐบาลตั้งหน่วยงานสกัดกั้นข่าวปลอมขึ้นมาแล้วรัฐบาลจะสามารถตรวจสอบข้อมูลฝั่งตัวเองได้มากน้อยแค่ไหนว่าจริงหรือไม่จริง หากเป็นอิสระไม่มีคนควบคุมจะต้องตั้งคำถามและตรวจสอบได้ มิฉะนั้นจะเป็นที่ครหาของประชาชน”


          อย่างไรก็ตามขณะนี้การจัดตั้งศูนย์สกัดกั้นข่าวปลอมยังเป็นเพียงแนวคิดที่จะเริ่มปฏิบัติ และยังไม่มีทิศทางชัดเจน ซึ่งอาจารย์เจษฎาชี้ว่ายังมองไม่เห็นถึงลักษณะการทำงานและหน้าที่ความรับผิดชอบ ทำให้ไม่ทราบว่าบทบาทหน้าที่จะซ้ำซ้อนกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) มากน้อยแค่ไหน


          “ผมเชื่อว่าหากจะสร้างหน่วยงานที่คนยอมรับต้องทำลายความเป็นอำนาจนิยมและการรวมศูนย์ของภาครัฐ เพราะว่าเมื่อมันออกมาจากความคิดของภาครัฐฝ่ายเดียวคนก็จะมองว่าหน่วยงานนี้เป็นเพียงกระบอกเสียงของภาครัฐไม่มีความน่าเชื่อถือ คนไม่ฟัง”


          ขณะเดียวกันประชาชนคนไทยเองก็ควรมีความตระหนักและหยุดคิดก่อนเมื่ออ่านข่าว แม้จะมีความปรารถนาดีต้องการเผยแพร่ข่าวสาร แต่ก็ควรคิดให้ดีก่อนว่าข่าวนี้จริง ไม่จริง มีที่มาชัดเจนไหม อย่างไร รวมถึงตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนที่จะเผยแพร่ต่อ


          “พึ่งตัวเองก่อนดีกว่าจะไปหวังคนอื่นมาจัดการให้ พลังเล็กๆ ของประชาชนทุกคนรวมกัน ช่วยกันตรวจสอบ ย่อมดีกว่าการพึ่งภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว” อาจารย์เจษฎาทิ้งท้าย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ