คอลัมนิสต์

โยก"ดีเอสไอ"ขึ้นนายกฯ สกัด"สามมิตร"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  กระดานความคิด   โดย...  ร่มเย็น

 

 



  

          หลังจากชัดเจนแล้วว่า “กลุ่มสามมิตร” ได้โควตากระทรวงยุติธรรม โดย “สมศักดิ์ เทพสุทิน” นั่งเก้าอี้ รมว.ยุติธรรม  ก็มีข่าวตามมาทันควันจากทีมในทำเนียบรัฐบาล เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งโอนย้ายกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ซึ่งปัจจุบันสังกัดกระทรวงยุติธรรม มาขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี   

 

 

          โดยให้เหตุผลอย่างเป็นทางการว่า การที่ดีเอสไอย้ายมาสังกัดสำนักนายกฯ จะสามารถสนองตอบนโยบายรัฐบาลได้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากสายการบังคับบัญชาสั้นลง นายกฯ สั่งการได้โดยตรงไม่ต้องสั่งการผ่านรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง แล้วค่อยมาถึงระดับกรม ซึ่งจะทำให้ดีเอสไอ มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการปราบปรามอาชญากรรม


          อีกทั้งปัจจุบันหน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมาย ที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่บังคับใช้กฎหมายคดีแพ่ง, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่บังคับใช้กฎหมายกับการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ  แต่ที่ขาดอยู่คือหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายคดีอาญา ดังนั้นถ้าย้ายดีเอสไอซึ่งเป็นหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายคดีอาญามาสังกัดสำนักนายกฯ อีกหน่วยงานหนึ่ง ก็จะทำให้ครบถ้วนสมบูรณ์


          แต่ในทางการเมืองกลับมองว่าเป็นการกระชับอำนาจ “กลุ่มสามมิตร” ไม่ให้มีอำนาจมากเกินไป การย้ายดีเอสไอมาขึ้นกับสำนักนายกฯ ก็เพื่อรักษาอำนาจควบคุมงานสอบสวนคดีพิเศษไว้กับนายกฯ ต่อไป และไม่ให้ตกอยู่ในมือ “กลุ่มสามมิตร”

 

          เนื่องจาก ดีเอสไอ เป็นกรมใหญ่ เรียกได้ว่าเป็น “กรมตำรวจ 2" เลยก็ว่าได้ มีอำนาจในการทำคดีสำคัญระดับประเทศ  คดีผู้มีอิทธิพล  คดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน คดีที่เกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรม รวมทั้งคดีที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง คดีเกี่ยวกับความมั่นคง  




          บางยุคบางสมัย ดีเอสไอถูกมองว่า ขาดความเป็นอิสระ นักการเมืองใช้เล่นงานฝ่ายตรงข้าม


          อย่างไรก็ตาม ข่าวย้ายดีเอสไอจากกระทรวงยุติธรรมไปอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งโผล่มาในตอนนี้ ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ ว่าจริงเท็จประการใด 


          เมื่อสอบถามเรื่องนี้ไปยังนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ก็ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยระบุว่าไม่ทราบเรื่อง


          แหล่งข่าวจากกระทรวงยุติธรรม บอกว่า เรื่องการโอนย้ายดีเอสไอที่ผ่านมาไม่เคยมีการศึกษาข้อดีและข้อเสียอย่างจริงจัง  เคยมีแนวคิดในการยกสถานะดีเอสไอจากหน่วยงานระดับกรม ขึ้นเป็น “ซูเปอร์กรม” เทียบเท่ากระทรวง ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดีดีเอสไอ และเกือบทำสำเร็จแต่ถูกรัฐประหารยึดอำนาจเสียก่อน 


          จากนั้นมีการเสนอความเห็นจากฝ่ายข้าราชการประจำไปยัง “รัฐบาล คสช.” ว่าเพื่อยกสถานะสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) จึงขอให้ย้ายหน่วยงานทั้งสี่จากกระทรวงยุติธรรม ไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลว่าจะทำให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ทำงานได้อย่างคล่องตัวมากกว่า


          แต่ในที่สุด “รัฐบาล คสช.” ตัดสินใจโอนย้ายไปเพียง ป.ป.ท.และ ปปง.เท่านั้น เนื่องจากรัฐบาลต้องการเห็นผลงานในภารกิจปราบปรามและยึดอายัดทรัพย์คดีทุจริต จึงต้องการใช้อำนาจพิเศษของนายกฯ เป็นข้อสั่งการในการปฏิบัติหน้าที่


          นอกจากนี้ในช่วงที่มี สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรรมนูญ คสช. (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ก็มีแนวคิดที่จะปฏิรูปดีเอสไอเช่นกัน โดยมีรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของ สปช. สรุปออกมาว่า ให้ “ยุบ” ดีเอสไอ และ “โอน” ไปเป็น “แผนก” ชื่อว่า “สำนักงานการสอบสวนคดีพิเศษ” โดยให้ไปขึ้นกับสำนักงานอัยการสูงสุด และยังเสนอให้มี “คณะกรรมการการสอบสวนคดีพิเศษ” ชื่อย่อว่า ก.พ.ศ. โดยมีโครงสร้างคล้ายคลึงกับคณะกรรมการอัยการ หรือ ก.อ. โดยมีอัยการสูงสุด (อสส.) เป็นประธาน เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระ “ปลอดจากการเมือง” เพราะเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างจาก คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ในปัจจุบัน ที่มีนายกรัฐมนตรี  ซึ่งเป็น “ฝ่ายการเมือง” นั่งเป็นประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไป 


          ตลอด 17  ปี นับตั้งแต่ดีเอสไอก่อตั้งเมื่อปี 2545 ใน “สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร” ก็มีข่าวทำนองว่าจะมีการ “สังคายนา” หรือ “ปฏิรูป” อยู่เนืืองๆ แต่ก็เป็นแค่ข่าว ส่วนแนวคิดย้ายดีเอสไอไปขึ้นกับสำนักนายกฯ ที่ผ่านมาก็มีคนค้านว่า ทำให้การแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองทำได้ง่ายยิ่งขึ้น


          มาคราวนี้ก็เป็นข่าวอีกว่าจะย้ายไปอยู่กับสำนักนายกฯ ซึ่งก็ต้องรอดูว่าจะเป็นจริงหรือไม่ หรือลงเอยเป็นแค่ข่าวเหมือนทีี่ผ่านๆ มา 

     

  

       

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ