คอลัมนิสต์

อดีตพธม.หนุนปฏิรูปคุกเปิด 5 มุ้งคนดังในเรือนจำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  ล่าความจริง..พิกัดข่าว   โดย...   ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

 

 

          นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่กำลังรอการปฏิรูปจากภาครัฐอย่างเร่งด่วน สำหรับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของบ้านเรา โดยเฉพาะปัญหา “นักโทษลุ้นคุก ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ”

 

 

          จากข้อมูลการจัดอันดับผู้ต้องขังของ www.prisonstudies.org พบว่า ประเทศไทยมีผู้ต้องขังสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก ติดอันดับ 3 ของเอเชีย เป็นรองเพียงแค่จีนกับอินเดียซึ่งมีประชากรสูงกว่าไทยมาก อีกทั้งยังเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับประเทศในแถบอาเซียนด้วยกัน


          ที่น่าตกใจก็คือ เมื่อเอกซเรย์ประชากรในเรือนจำแล้ว ปรากฏว่าส่วนใหญ่ก่ออาชญากรรมไม่ร้ายแรง และไม่ว่าประเทศไทยจะเลือกใช้มาตรการลงโทษอย่างเข้มงวดเพียงใด แต่สถิติอาชญากรรมก็ไม่ได้ลดลง อัตราผู้กระทำผิดซ้ำก็ยังสูงมาก


          การแก้ปัญหานี้อย่างเป็นระบบถูกพูดถึงมานาน แต่ก็ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม ล่าสุดนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ “เสียงดัง” ในสังคม ต้องเผชิญชะตากรรมเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำช่วงหนึ่ง พวกเขาออกมาบอกเล่าประสบการณ์ พร้อมกับคำยืนยันว่า “ไม่ปฏิรูปไม่ได้แล้ว”


          เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันปฏิรูปประเทศไทย หรือ สปท. มหาวิทยาลัยรังสิต ได้จัดเสวนาหัวข้อ “ปฏิรูประบบยุติธรรม เสียงสะท้อนจากเรือนจำ” โดย นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการ สปท. สะท้อนประสบการณ์จากการถูกคุมขังในคดีบุกยึดทำเนียบรัฐบาล ช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ระบุตอนหนึ่งว่า ระบบยุติธรรมไทยยังมีปัญหา เนื่องจากมีนักโทษมากเกินไป และเกือบทั้งหมดเป็นคนยากจน ทำให้โยงไปถึงคำถามที่ว่าทำไมคนจนถึงเข้า-ออกคุกบ่อย




          บทสรุปที่ได้จากการสัมผัสเองและศึกษาเรื่องนี้ก็คือ ถ้าระบบยุติธรรมไม่เป็นธรรม มีการเรียกรับผลประโยชน์ ก็จะมีคนจนเต็มคุก คนจนในที่นี้ไม่ได้หมายความเฉพาะผู้มีรายได้น้อย แต่ยังรวมถึงคนจนที่ไม่สามารถจ่ายได้ด้วย


          นอกจากนั้น ปัจจัยที่ทำให้คนจนเข้าคุก คือไม่รู้กฎหมาย ไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว และไม่มีเงินจ้างทนายเก่งๆ มีแค่ทนายอาสา ซึ่งทนายที่ไม่ดีบางคนต้องการปิดคดีเร็ว เพื่อรับเงิน 3,000-5,000 บาทต่อคดี จะได้ไปทำคดีใหม่ ก็พยายามเกลี้ยกล่อมผู้ต้องหาให้ยอมรับสารภาพ ก็ต้องเข้าคุกอีก ขณะที่ตำรวจก็มีปัญหาตั้งข้อหาเกินจริง หรือยัดข้อหา ถ้าปฏิรูประบบสอบสวนให้ดี จะช่วยให้นักโทษหายไปจากเรือนจำถึง 40%


          คำถามต่อมาก็คือ คนที่เคยผ่านคุก ออกจากคุกแล้วไปไหนได้ เพราะสังคมตั้งแง่ แม้จะมีการล้างมลทิน แต่ก็ไม่มีความหมาย ยกตัวอย่างเวลาไปสมัครงาน หากไปเขียนในช่องที่ว่าเคยถูกจำคุก ก็ไม่มีบริษัทห้างร้านที่ไหนรับเข้าทำงาน ถือว่าไม่ได้รับโอกาสจากสังคม ก็เสี่ยงกลับไปก่ออาชญากรรมและกลับเข้าคุกอีก


          “จากทัศนคติของสังคมที่มองแบบเหมารวม เวลาเข้าไปอยู่ในคุกก็อยู่แบบรวมๆ อย่างพวกผมติดคุกในคดีการเมือง แต่ต้องไปนอนรวมกับผู้ค้ายาเสพติด หรือผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรง เพราะไม่มีคุกการเมือง ทั้งๆ ที่ควรจะแยกให้ชัด รวมไปถึงกลุ่มที่คดียังไม่ถึงที่สุดแต่ไม่ได้ประกันตัว ก็ต้องกินอยู่หลับนอนอยู่ด้วยกันกับนักโทษเด็ดขาด และไม่เห็นด้วยที่ต้องจับคนที่อายุมากๆ ไปขังในเรือนจำ เพราะบางรายป่วยหนัก นั่งรถเข็น ห้อยสายน้ำเกลือ แม้จะกระทำผิด แต่ก็อยากถามว่าเอาเข้าคุกทำไม” ผู้อำนวยการ สปท.กล่าว


          นายสุริยะใส ยังเล่าบรรยากาศตอนถูกคุมขังช่วงหนึ่งด้วยว่า “ระหว่างติดคุกได้พบคนมากมายซึ่งเป็นบุคคลสำคัญ และผมตั้งเป้าคุยกับทุกคน จนสามารถเดินไปไหนมาไหนได้แทบทุกจุด โดยในคุกจะมีบ้านอยู่ 4-5 หลัง บ้านที่ว่านี้ไม่ได้เป็นหลังๆ แต่เป็น “มุมกำแพง” โดยมุมแรกเป็นเจ้าของสโมสรเพื่อนตำรวจ มุมที่สอง คุณธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ มุมที่สาม คุณสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม มุมที่สี่ อดีตผู้อำนวยการสำนักพุทธฯ ในเรื่องเงินทอนวัด และมุมสุดท้าย คือพวกผม อยู่ตรงใจกลางนักโทษทั้งหมด และคอยเอาของฝากมาแบ่งให้นักโทษคนอื่นๆ”


          ขณะที่ นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งต้องเข้าเรือนจำในคดีเดียวกันกับนายสุริยะใส กล่าวทำนองเดียวกันว่า ปัญหาเฉพาะหน้าที่สามารถแก้ไขได้ทันที คือ ผู้ถูกคุมขังอายุมากๆ ไม่ควรต้องถูกขัง แต่ควรใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์แทน รวมถึงผู้ต้องหาหรือจำเลยที่คดียังไม่ถึงที่สุด อยู่ระหว่างระยะเวลาฝากขัง ไม่ควรให้อยู่ในเรือนจำ เพราะถือเป็นการเพิ่มปริมาณผู้ต้องขัง ทำให้คนเหล่านี้เสียสิทธิต่างๆ ถ้าสุดท้ายแล้วศาลยกฟ้อง ก็เท่ากับต้องติดคุกฟรี


          นอกจากนั้น ระบบสาธารณูปโภค เช่น สุขา ต้องได้รับการปรับปรุง หรือเรื่องเล็กๆ อย่างการดูโทรทัศน์ แม้นักโทษจะมีสิทธิได้ดู แต่ไม่เคยเปิดให้ดูสารคดีอย่างรายการเศรษฐกิจพอเพียง ให้ดูแต่ละครน้ำเน่า ซึ่งถือว่าเป็นพิษภัย แต่ยอมรับว่าสภาพในคุก โดยระบบถือว่าใช้ได้ เพราะอนุญาตให้ใช้เงินไม่เกิน 300 บาทระหว่างถูกจองจำ เหลือเท่าไรก็จะคืนตอนออก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ