คอลัมนิสต์

เสียงสะท้อนเวทีประชาชน ประชาธิปไตยไม่ใช่ลอกคราบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...   เกศินี แตงเขียว

 

          จากสถานการณ์การเมืองหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม จนถึงวันนี้เวลาล่วงเลยมากกว่า 3 เดือนแล้ว ประชาชนไทยยังไม่เห็นโฉมหน้ารัฐบาลประยุทธ์ 2 แม้ก่อนหน้านี้จะมีข้อมูลเปิดเผยออกมาในเรื่องการต่อรองตำแหน่งต่างๆ ของพรรคร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐบ้าง และความไม่นิ่ง ไม่แน่นอนของการร่วมรัฐบาลครั้งนี้ ภาคประชาชนในฐานะผู้ใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ก็ได้จัดเสวนาเวทีประชาชน เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ฟังเสียงประชาชนในการจัดสรรบุคคลที่เหมาะสมเป็นคณะรัฐมนตรีบริหารประเทศให้ก้าวหน้า

 

 

          เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง “คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35” และ “คณะตรวจสอบภาคประชาชน” จัดเวทีประชาชน เสนอความเห็นในหัวข้อ “ตรวจสอบรายชื่อคณะรัฐมนตรี ประยุทธ์ 2 กับเสียงสะท้อนของประชาชน” ซึ่งมี “บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์” เป็นผู้ดำเนินรายการ โดย “อดุลย์ เขียวบริบูรณ์” ในฐานะประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ได้เปิดประเด็นก่อนว่า เมื่อคสช.เข้ามายึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 ได้ประกาศพันธสัญญา 3 เรื่อง คือ 1.การสร้างความรัก ความสามัคคีในชาติ 2.การปฏิรูปประเทศและการเมืองให้ดียิ่งขึ้น 3.การปัดกวาดคอร์รัปชั่น แต่ 3 สิ่งนี้ คสช.ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้ทำตามสัญญาประชาคมเลย แต่เมื่อได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วก็ยอมรับ แต่ขณะนี้กำลังจะเฟ้นหาคนมาเป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วยบริหารงาน ก็ต้องถามก่อนว่า นายกฯ มีความชอบธรรม มีความสง่างามเป็นนายกฯ หรือไม่ ซึ่งปัญหาการเลือกตั้งก็มี ท่านก็ไม่ได้มาแบบขาวจั๊วะ ยังมีลาย ดังนั้นจะให้ ครม.มีลายพร้อยไม่ได้ เพราะจะมีผลต่อการบริหารบ้านเมืองและต่างประเทศ

 

 

เสียงสะท้อนเวทีประชาชน ประชาธิปไตยไม่ใช่ลอกคราบ

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์

 


          ตรงนี้จึงต้องตรวจสอบอย่างเข้มข้น 2 ประเด็น 1.คนที่มาเป็น ครม.ต้องไม่ลายพร้อย โดยช่วงการตรวจสอบ 3 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีบุคคลที่ปรากฏชื่อในสังคมมีสิทธิจะมีชื่อเป็น ครม. แต่ในการแต่งตั้งนั้นอย่างตำแหน่ง รมว.คลัง ถือว่าสำคัญมาก ดังนั้นคนมาเป็นต้องมีคุณธรรม จริยธรรม สะอาดสูงส่งกว่าชาวบ้าน นี่คือสิ่งที่เรากังวลว่าเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วคนที่จะมาประกอบเป็นรัฐบาล ส่วนในสภาก็ยังทะเลาะกันอีนุงตุงนัง และก็เข้าใจว่าจะสมยอมกันด้วย ดังนั้นจึงได้เวลาที่ภาคประชาชนจะยกระดับตัวเองที่จะตรวจสอบทั้งรัฐบาลและสภา คือ ส.ส. ว่าทำหน้าที่ได้ครบถ้วนหรือยัง 




          ช่วงที่ผ่านมากลุ่มญาติวีรชน ค่อนข้างจำกัดขอบเขตไม่วิจารณ์กองทัพ จากการทำเรื่องปรองดองร่วม และเชื่อว่าทหารคือทหารของในหลวง ไม่ใช่ทหารของคสช. แต่บางคนอาจเกรงใจการวิจารณ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหมไปด้วย ดังนั้นขอประกาศเลยว่าวันนี้เราจะวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประวิตร เต็มที่ ท่านไม่ควรมาวาระที่ 2 อีก ควรพอได้แล้ว โดยเราจะจัดเสวนาอีกครั้งในช่วงวันที่ 29 มิถุนายนนี้ เราจะเริ่มวิจารณ์ พล.อ.ประวิตรในเนื้อหาต่างๆ ซึ่งเราตรวจสอบโครงการต่างๆ ของรัฐบาลว่ามีโกงอย่างมโหฬาร เหมือนขายทรัพย์สินแผ่นดินหรือไม่ เช่น การทำทีโออาร์ โครงการอีอีซี ซึ่งการลงทุนกับเอกชนสามารถทำกำไรสูงสุดได้ แต่ต้องไม่ถือกำไรเกินความจริงจนโกงแผ่นดิน หรือเรื่องโฮปเวลล์ที่ไม่ยอมสู้แต่จะยอมจ่ายเขา และยังเชิญนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ผ่านสื่อเลย ให้มาร่วมงานวันที่ 29-30 มิถุนายนด้วย ร่วมตรวจการคอร์รัปชั่นช่วงที่ผ่านมา


          ขณะที่ในเวทีเสวนาตรวจสอบรายชื่อ ครม.ประยุทธ์ 2 ได้พูดถึงเสียงสะท้อนของประชาชนต่อความสง่างามและการยอมรับของรายชื่อคณะรัฐมนตรีและนายกฯ หลังการเลือกตั้ง


          “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า วันนี้จะวิพากษ์ 2 ชื่อ คือชื่อประยุทธ์ เป็นหลักก่อน ในแง่การเป็นนายกฯ ที่ถือว่าประกาศต่อชาวโลกผ่านการประชุมอาเซียนว่าบัดนี้ไทยผ่านการเลือกตั้งและมีนายกฯ หลังการเลือกตั้งแล้ว แต่หลังการเลือกตั้งมีหลายประเด็นต้องวิจารณ์

 

 

เสียงสะท้อนเวทีประชาชน ประชาธิปไตยไม่ใช่ลอกคราบ

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

 


          ปัญหาของ พล.อ.ประยุทธ์ เคยถูกตรวจสอบเรื่องการลงชื่อเป็นแคนดิเดตชิงนายกฯ ในการเลือกตั้งแล้ว ขณะนั้นมีปัญหาข้อกฎหมายว่า การเป็นนายกฯ และควบตำแหน่ง หัวหน้าคสช. จะไม่ชอบหรือไม่ ตามนิยามความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเคยร้องเรียนไปทั้ง กกต.-ผู้ตรวจการแผ่นดิน สุดท้ายแจ้งกลับมาว่าตำแหน่งหัวหน้าคสช.นั้น ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทางกฎหมาย แต่เป็นการแต่งตั้งสืบเนื่องจากการเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง กรณีดังกล่าวเป็นข้อยกเว้นในการเป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งว่าเป็นตำแหน่งชั่วคราว แต่ก็ไม่เห็นว่าการที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่นั้น ไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาต่างๆ ไว้


          ส่วนที่มีข่าวเกี่ยวกับโผครม. ว่าจะมีการแต่งตั้งนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็น รมว.คลังนั้น ตนไม่ได้มีคำถามเรื่องความสามารถ แต่กรณีของนายอุตตม เคยมีชื่อเกี่ยวกับคดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทยกับกฤษดามหานคร ซึ่งสังคมให้ความสนใจ เพราะคดีนี้กรรมการบริหารธนาคาร 5 คน ถูกดำเนินคดี 3 คน โดยนายอุตตม เป็น 1 ใน 2 ที่ไม่ถูกดำเนินคดี ซึ่งกรณีที่นายอุตตมไม่โดนคดีด้วยนั้น ข่าวเคยระบุว่าเพราะพยานซัดทอดนายทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็นตัวการใหญ่ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเกือบหมื่นล้านบาท ทั้งนี้อยากให้ดูว่าการแต่งตั้งรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 160(4) ระบุไว้ว่า รัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และใน (5) ระบุอีกว่า ต้องไม่เป็นการฝ่าฝืนหรือปฏิบัติผิดหลักจริยธรรมอย่างร้ายแรง หมายความว่า หากมีการตั้งคนแบบนี้ไปเป็นรัฐมนตรี อาจจะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ต้องถามว่ากรณีดังกล่าวเป็นความผิดร้ายแรงหรือไม่ เมื่อกรรมการบริหารธนาคาร 3 คนที่ถูกตัดสินว่าผิด ถูกจำคุก 20 ปี แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรงแน่นอน


          ขณะที่ “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ผู้ที่ติดตามการทุจริตและยื่นคำร้องเรื่องต่างๆ กล่าวว่า การเสนอแต่งตั้ง ครม.ชุดนี้ เป็นความผิดพลาด ล้มเหลว และไม่เป็นที่พอใจของประชาชน มีการออกมาแย่งเก้าอี้กัน โดยครั้งแรกอ้างประชาชน แต่เมื่อได้ยศถาบรรดาศักดิ์แล้วไม่คำนึงว่า ประชาชนเดือดร้อนแค่ไหน แล้วเมื่อมีรัฐธรรมนูญอัปลักษณ์ก็ทำให้เวลา 3 เดือน 2 วัน เราก็ยังไม่มีรัฐบาลมาดูแลทุกข์สุขเลย ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากคนทั้งประเทศ ขณะที่รัฐมนตรีบางคนไม่มีความเหมาะสม เพราะมีเรื่องค้างอยู่ในองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบต่างๆ ทั้ง ป.ป.ช. และ สตง.

 

 

เสียงสะท้อนเวทีประชาชน ประชาธิปไตยไม่ใช่ลอกคราบ

ศรีสุวรรณ จรรยา

 


          อย่างกรณีของ ส.ส.แถว จ.อุดรธานี หรือ ส.ส.แถวโคราชที่ไปบุกรุกที่ดิน ส.ป.ก. หรือนักการเมืองแถวสงขลา ที่มีพฤติการณ์เอื้อประโยชน์แก่หน่วยงานในพื้นที่ ก็ไม่เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์จะตอบอะไรกลับมา นอกจากบอกว่าเอารายชื่อต่างๆ ไปตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว แต่เมื่อไปถามที่ สตง.ว่ามีการส่งรายชื่อมาตรวจสอบหรือไม่ ปรากฏว่า สตง.บอกว่าไม่มีเลย


          ส่วนเรื่องการแต่งตั้งส.ว.ซึ่งตนแย้งมาโดยตลอด โดยเฉพาะกรณีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ ที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีผลประโยชน์ทับซ้อน ล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ ยังเพิ่งออกมาพูดเรื่อง ส.ว.ถือหุ้นสื่อ ว่าลืมตรวจสอบคุณสมบัติเรื่องนี้ แต่ก็โบ้ยว่ามีบัญชีสำรอง นั่นแสดงให้เห็นว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการแต่งตั้งหรือไม่ ซึ่งสัปดาห์หน้าจะไปร้องเรื่องนี้ต่อ ป.ป.ช.อีกรอบ แม้จะไม่ได้คาดหวังว่าองค์กรเหล่านี้จะดำเนินการใดๆ เพราะทุกคนก็รู้ที่มาของพวกเขาดี แต่ต้องการให้ประชาชนเห็นว่าผู้มีอำนาจใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ที่ยังสงสัยอีกกรณีคือกรณีการย้าย พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ผบช.สตม. ไปเป็นข้าราชการพลเรือนนั้นกลับไม่มีคำตอบออกมาให้สังคม รวมถึงเรื่องคุณสมบัติ ส.ว.ถือหุ้นสื่อ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร รวมทั้งกรรมการสรรหาฯ ท่านอื่นต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน


          ส่วนประเด็นการรวบรวมรายชื่อประชาชน 20,000 ชื่อเพื่อถอดถอนป.ป.ช.นั้น ตอนนี้ยังได้ไม่ครบ แต่ยังมีอีกทางหนึ่งคือขอให้ ส.ส.ฝ่ายค้านในสภาจำนวน 150 คน ร่วมกันเข้าชื่อเพื่อถอดถอน ป.ป.ช.ชุดนี้ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เพราะตราบใดที่มี ป.ป.ช.ชุดนี้อยู่ เชื่อว่าทุกคำร้องนั้นน่าจะถูกแช่ หรือเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์การตรวจสอบไปก็ได้


          ด้าน “พนัส ทัศนียานนท์” อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจเรียกได้ว่ามีคุณสมบัติที่ค่อนข้างด้อยคุณภาพ มีบาดแผลหลายอย่าง มีลายพร้อยซึ่งทุกคนคงเห็นอยู่แล้วปฏิเสธไม่ได้ เช่น ทักษะการพูดภาษาอังกฤษในการประชุมอาเซียน ขณะที่ผู้นำในอาเซียนเขาก็จะเตรียมคำพูดอย่างดีที่สุดแล้วจะให้แปลภาษาก็ได้ เขาจะไม่ไปพูดสุ่มสี่สุ่มห้าเพราะจะเสียหาย อย่างไรเราก็ต้องทำใจเพราะ พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นนายกฯ รอบสองแล้ว จากที่รัฐสภาลงมติไปแล้ว แต่ต่อไปสิ่งที่เราทำได้คืออยากให้พวกเราช่วยกันตำหนิติติง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อปรับเปลี่ยนตัวเองว่าฝันจะเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่เหมือนนายทหารคนสำคัญๆ ในประเทศที่เคยเป็นรัฐบุรุษอย่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หรือไม่ หาก พล.อ.ประยุทธ์มีความฝันของตัวเองเหมือนกันว่าอยากเป็นนายทหารประชาธิปไตย จากที่ขณะนี้ถูกเรียกว่าเป็นเผด็จประชาธิปไตยเหมือน ส.ว.คนหนึ่งอภิปรายในสภา 

 

 

เสียงสะท้อนเวทีประชาชน ประชาธิปไตยไม่ใช่ลอกคราบ

พนัส ทัศนียานนท์

 

 


          โดยการได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งในการเลือกตั้งนี้แม้จะลอกคราบกลับมาเป็นประชาธิปไตย แต่ก็ต้องเปลี่ยนความคิดให้เป็นประชาธิปไตยด้วย ไม่คิดว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งไม่ดี การออกมาประท้วงแสดงความเห็นไม่ใช่สร้างความวุ่นวายแต่เป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ต้องปรับความคิดนี้ก่อนจึงจะเริ่มเป็นนายทหารประชาธิปไตย แล้วถ้าฝันว่าในอนาคตอาจจะเป็นมหารัฐบุรุษคนไทยอย่างแท้จริงในการสร้างสรรค์ จรรโลงประชาธิปไตยไทยก็ได้ ซึ่งนอกจากการปรับความคิดแล้ว เมื่อจะเดินหน้าสู่การเป็นประชาธิปไตยต้องทำ


          ครม.ของท่านที่ไม่รู้ว่าวันนี้นิ่งหรือยัง หากยังไม่ได้ทูลเกล้าฯ ก็ขอให้รัฐมนตรีสำคัญอย่างกระทรวงกลาโหมและมหาดไทย ไม่ควรให้คนมีปัญหามัวหมองกลับมาอีก ไม่ควรเกรงใจว่าเป็นรุ่นพี่ ดังนั้นหากอยากให้เป็นประชาธิปไตย ก็ต้องควรตัดทิ้งเลยชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส่วน รมว.มหาดไทย ก็ต้องไม่ให้คนที่เคยเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด จีที 200 ที่มีปัญหามาเป็น รมว.มหาดไทย หากท่านทำได้แบบนี้โอกาสจะเป็นมหารัฐบุรุษ เป็นนายกฯ คนสำคัญก็จะมีคนกล่าวถึง คนยอมรับ

 

 

เสียงสะท้อนเวทีประชาชน ประชาธิปไตยไม่ใช่ลอกคราบ

 


          การใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44 เพื่อการผดุงความยุติธรรม หลังจากที่ถูกมองว่าเป็นรัฐบาลเหนือกฎหมายตามหลักนิติธรรมในระบอบประชาธิปไตย โดยเสนอให้ท่านใช้อำนาจ ม.44 มายกเลิกบรรดาคำสั่งและประกาศ คสช.ที่เคยออกมาละเมิดเสรีภาพอย่างร้ายแรง เช่น คำสั่งให้มีการรายงานตัวเพื่อปรับทัศนคติ การให้คดีพลเรือนขึ้นศาลทหาร การให้ทหารมาดูแลการรักษาความมั่นคงภายในแทนตำรวจ ก็ให้กลับกรม-กอง หรือก่อนหน้านี้ที่เคยมีคำสั่งให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนที่หมดวาระไปยังได้ทำหน้าที่ต่อไปอีก อย่างนี้ก็ควรใช้อำนาจตาม ม.44 ให้ยกเลิกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกลุ่มนั้นให้พ้นวาระ เพื่อให้มีคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ตามกระบวนการรัฐธรรมนูญใหม่มาทำตามหน้าที่ รวมทั้ง ป.ป.ช.ก็สั่งยุบไปเลย


          ถ้าจะเป็นนายกฯ ที่ยิ่งใหญ่ทำตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี หากจะปฏิรูปจริงในส่วนขององค์กรอิสระถ้ายุบได้ก็ทำทั้งหมดเลย ถ้าทำได้ตามนั้นเชื่อว่าจะสร้างมรดกคุณงามความดี จะทำให้อนุชนรุ่นหลังจดจำท่านได้ตลอดไป


          ส่วนเรื่องการตรวจสอบต่างๆ เห็นว่าเรื่องการตรวจสอบคงเหมือนเอาหัวชนกำแพง เหมือนที่นายศรีสุวรรณเคยร้องเรื่องต่างๆ โต้แย้งรัฐบาล ดังนั้นต้องหาทางแก้รัฐธรรมนูญให้ได้เพื่อสร้างช่องทาง ดังนั้นถ้าเราโน้มน้าวให้พล.อ.ประยุทธ์ เห็นดีเห็นงามด้วยริเริ่มแก้รัฐธรรมนูญ โอกาสแก้รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกลไกและองค์กรตรวจสอบที่จะให้ประชาชนพึ่งพาก็จะเป็นไปได้ เราจึงจะแก้ปัญหาแบบสันติวิธีได้ ไม่เช่นนั้นสุดท้ายต้องเป็น people power แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนความรุนแรง


          ขณะที่ “ยุทธพร อิสรชัย” อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า ที่ผ่านมาพยายามบอกว่าต้องแก้ปัญหาการเมือง และทำให้การเมืองมีคุณภาพ แต่ปรากฏว่า 5 ปีผ่านไปก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งมองว่าปัญหาอยู่ที่ภาพใหญ่คือการพัฒนาประชาธิปไตยไทย โดยเฉพาะกติกาที่ถูกร่างขึ้นที่ถูกวิจารณ์เยอะในเรื่องที่มาตั้งแต่กระบวนการร่าง การลงประชามติ ซึ่งในช่วงนั้นมีกฎอัยการศึกอยู่เกือบครึ่งประเทศ และไม่มีการเปิดพื้นที่ให้คนที่เห็นต่างแสดงความเห็น ขณะที่การแย่งโควตารัฐมนตรีก็แสดงให้เห็นว่าบรรดาพรรคการเมืองไทยส่วนมากยังทำงานการเมืองแบบล้าหลัง มองถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับ นอกจากนี้พรรคการเมืองยังผูกติดกับการตัดสินใจของคนเพียงไม่กี่คน ทำให้เห็นเรื่องการต่อรอง ความน้อยเนื้อต่ำใจ รวมทั้งการเกิดของกลุ่มย่อยต่างๆ ซึ่งขอเรียกว่าเป็นโรคติดต่อทางการเมือง


          การที่เราจะคาดหวังให้ ครม.ชุดนี้ออกมาถูกใจประชาชนนั้น เป็นไปได้น้อยมาก แม้จะมีกลไกต่างๆ ที่ร่างไว้ในรัฐธรรมนูญเรื่องการกำกับและการพยายามพูดถึงจริยธรรมนักการเมืองมากขึ้น แต่สุดท้ายกลไกเหล่านี้เป็นเพียงกลไกในกระดาษ เพราะการตรวจสอบอย่างแท้จริงคงทำไม่ได้ เพราะเรายังขาดเรื่องธรรมาภิบาลทางการเมือง แม้เราจะมีการเลือกตั้งแต่ก็ยังพูดได้ไม่เต็มปากว่าเรามีประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว เพราะกระบวนการต่างๆ ของการเลือกตั้งยังคงถูกตั้งคำถามมากมาย ขณะที่ คสช.เองก็ไม่ได้หายไปไหน แต่ยังอยู่ในรูปแบบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เป็น 250 ส.ว. หรือการพยายามถ่ายโอนอำนาจของคสช.ไปยัง กอ.รมน.อยู่ดี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ