คอลัมนิสต์

รัฐธรรมนูญ 2540 กำเนิด "เจ้าพ่อยุคใหม่" 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  กระดานความคิด  โดย...  บางนา บางปะกง 

 


          นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแล้วทั้งสิ้น 20 ฉบับ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

 

 

          บรรดานักวิชาการที่อ้างว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย จะยกย่องว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ดีเลิศประเสริฐศรี ประหนึ่งรัฐธรรมนูญเทวดา 


          เมื่อเร็วๆ นี้ ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่า ยุครุ่งเรืองของ “นักการเมืองแบบเจ้าพ่อ” สิ้นสุดลง หลังจากมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ถือว่าทำได้สำเร็จมากในการเปลี่ยนการเมืองและลดอิทธิพลของเจ้าพ่อลง โดยกลไกสำคัญคือการให้ประชาชนเลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และการห้ามผู้สมัคร ส.ส.ย้ายพรรคก่อนการเลือกตั้ง


          โดยภาพรวม การเลือกตั้ง 2544 มี ส.ส.เก่าสอบตกเยอะ โดยเฉพาะภาคอีสานและภาคเหนือ เพราะกระแสอัศวินควายดำ และมนต์รักประชานิยม ทำให้พรรคไทยรักไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด 


          แต่อาจารย์ประจักษ์ ลืมลงรายละเอียด ก่อนการเลือกตั้ง 2544 “ทักษิณ ชินวัตร” ได้กวาดต้อน “นักการเมืองบ้านใหญ่” เข้าไปอยู่ในสังกัดจำนวนหนึ่ง เช่น ตระกูลเทียนทอง, สะสมทรัพย์, หาญสวัสดิ์ เป็นต้น


          ระหว่างบริหารประเทศ 4 ปี “ทักษิณ” ได้ส่งทูตไปเจรจากับกลุ่มชิดชอบ, กลุ่มคุณปลื้ม และกลุ่มอัศวเหม ให้มาอยู่ใต้ร่มธงพรรคไทยรักไทย แต่กลุ่มอัศวเหม ไม่ยอมย้ายมา


          นับแต่การเลือกตั้ง 2518 นักการเมืองแบบเจ้าพ่อ ได้เข้าสู่สภาผู้แทนฯ จำนวนมาก และได้ย้ายพรรคไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์การเมืองห้วงเวลานั้น นักเลือกตั้งไทยเป็นยอดนักกลยุทธ์ รู้จักปรับตัวเองอยู่ตลอดเวลา


          สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ รัฐธรรมนูญ 2540 มีปรากฏการณ์ “เจ้าพ่อเหนือเจ้าพ่อ” เมื่อ “บ้านใหญ่” ถูกกวาดต้อนเข้าไปอยู่ใต้ร่มธง “พรรคทักษิณ” กลายสภาพเป็นซุ้มวังบัวบาน, ซุ้มวังน้ำยม, ซุ้มวังพญานาค, ซุ้มวังน้ำเย็น, ซุ้มนครปฐม, ซุ้มชลบุรี, ซุ้มเมืองหลวง, ซุ้มบุรีรัมย์, ซุ้มวังมะนาว, ซุ้มวาดะห์ ฯลฯ

 

 




          มีการเลือกตั้งท้องถิ่น “ทักษิณ” จะปล่อยซุ้มต่างๆ ส่งคนไปต่อสู้กันเอง ใครชนะเป็นนายกเทศมนตรี หรือนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 


          กระทั่งการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก ซุ้มไหนอยากส่งใครลงสนามก็ได้ บางจังหวัดเลยกลายเป็นการแข่งขันกันเอง ระหว่างผู้สมัคร ส.ว.ต่างซุ้มในพรรคไทยรักไทย 


          “นักการเมืองแบบเจ้าพ่อไม่ได้เล่นการเมืองเชิงนโยบาย เขาไม่มีนโยบาย ไม่มีอุดมการณ์ทางการเมือง ไม่มีแนวคิดเรื่องการพัฒนาประชาธิปไตย เป็นการเล่นการเมืองเพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้าจริงๆ คือ เพื่อคุ้มครองธุรกิจของตัวเองและพวกพ้อง” อาจารย์ประจักษ์วิเคราะห์ถูก


          แต่ประเด็นที่ว่า “นักการเมืองแบบเจ้าพ่อเติบโตได้ในสภาวะที่พรรคการเมืองอ่อนแอ เขาก็เลยมีอำนาจต่อรองสูง แต่ถ้าพรรคการเมืองเข้มแข็ง มีนโยบายชัดเจน และคนเลือกพรรคเพราะนโยบาย เจ้าพ่อก็จะสอบตก” เรื่องนี้ไม่จริง และแสดงว่า รู้ไม่ลึก รู้ไม่รอบด้าน


          ดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น “นักการเมืองบ้านใหญ่” ใช้กลยุทธ์ชูธงประชานิยม ชูภาพทักษิณ เข้าสภาสบายๆ แต่พวกเขาอาศัยการเป็นพรรครัฐบาล วางเครือข่ายอำนาจสู่ท้องถิ่น ยึดตั้งแต่ อบต.ยัน อบจ. เนื่องจากทักษิณไม่เข้ามายุ่งเรื่องท้องถิ่น


          นักการเมืองแบบเจ้าพ่อ ใช้ยุทธวิธีเหมือนอาจารย์ประจักษ์วิเคราะห์ “วิธีที่เจ้าพ่อชนะเลือกตั้ง คือ การใช้เงินกับใช้อิทธิพล สร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้เลือกตั้ง สร้างบุญคุณ ให้คนรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณแล้วเลือกเขา” ในการเลือกตั้งท้องถิ่น 


          เมื่อถึงการเลือกตั้งระดับชาติ นักการเมืองแบบเจ้าพ่อ ก็สวมเสื้อพรรคไทยรักไทยลงสนาม ไม่ต้องเหนื่อยแรง ไม่ต้องใช้ปัจจัยพิเศษ เพราะชาวบ้านชอบพรรค ชอบนโยบายประชานิยม และชอบผู้นำพรรค พวกเขาได้เป็น ส.ส.ผูกขาดยกจังหวัด 


          การที่อธิบายแบบตัดตอน ไม่ใช่วิถีนักประวัติศาสตร์ การพยายามสรุปว่า รัฐธรรมนูญ 2540 เจ้าพ่อหายไปเยอะ แต่รัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้นักการเมืองแบบเจ้าพ่อฟื้นคืนมาอีก นี่ก็ไม่ใช่การคิดแบบนักวิชาการ


          นักการเมืองบ้านใหญ่ที่สูญพันธุ์ เพราะไม่รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคม วันนี้ ได้เกิด “เจ้าพ่อยุค 4G” ที่ใช้การตลาดนำการเมือง ทำได้เนียนกว่าทักษิณเสียอีก นักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยรู้บ้างมั้ย ?

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ