คอลัมนิสต์

ยกพวกตะลุมบอน..สะท้อนมาตรการรักษาความสงบที่ต้องแก้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ทีมข่าวอาชญากรรม

 


          วันเสาร์ซึ่งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ของผู้คนส่วนใหญ่ หลายครอบครัวใช้ช่วงเวลาวันหยุดเดินทางไปทำกิจกรรมร่วมกัน บ้างก็ไปจับจ่ายซื้อของตามตลาดเพื่อมาปรุงอาหารกินกัน พ่อค้าแม่ขายก็เปิดร้านทำมาหากินปกติ และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องไปทำงานหาเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะคนที่ทำงานอยู่ในห้างสรรพสินค้า จึงทำให้ถนนหนทางในกรุงเทพฯ ยังคงคราคร่ำไปด้วยผู้คนที่สัญจรไปมา บางเส้นทางการจราจรอาจคึกคักมากว่าวันทำงานในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ที่ ถนนอุดมสุข หรือ สุขุมวิท 103 เกิดเหตุการณ์ที่มากกว่าการจราจรคึกคัก เพราะก่อนถึงแยกอุดมสุขถนนตรงนี้ถูกเปลี่ยนให้เป็น “พื้นที่เสี่ยงภัย” ไม่ต่างอะไรกับ “สมรภูมิรบ” 

 

 

 

 

          ช่วงสายของวันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา เกิดเหตุความรุนแรงน่าหวาดกลัว สร้างความตื่นตระหนกตกใจให้ผู้คนจำนวนมาก เพราะวินรถจักรยานยนต์รับจ้างย่านอุดมสุข “เปิดศึก” ปิดถนนยกพวกเข้าตะลุมบอนกัน เพราะขัดแย้งผลประโยชน์ “ตั้งวินเถื่อน” แย่งลูกค้า ต่างฝ่ายต่างมีอาวุธเข้าห้ำหั่น ทั้งท่อนไม้ ท่อนเหล็ก มีด สลับกับการขว้างปาสิ่งของเป็นก้อนอิฐและหมวกกันน็อก โดยมีเสียงปืนดังสอดแทรก ประหนึ่งบ้านเมืองไม่มีกฎหมาย เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ภาพที่ปรากฏต่อสายตาผู้คนเหมือนกับ “แก๊งมาเฟีย” ในหนังแอ็กชั่นที่ยกพวกถล่มกันยึดพื้นที่ขยายอำนาจครอบครองกิจการ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริง ไม่มีตัวแสดงแทน มีคนตายจริง และมีคนเจ็บจริงๆ

 

 

ยกพวกตะลุมบอน..สะท้อนมาตรการรักษาความสงบที่ต้องแก้

 


          ไม่เพียงแค่เหตุการณ์สองวินรถจักรยานยนต์ปิดศึกตะลุมบอนกันกลางถนนสาธารณะที่เกิดขึ้นล่าสุด แต่บ่อยครั้งที่มีข่าวปรากฏตามสื่อต่างๆ ทั้งสื่อกระแสหลักและโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับพฤติกรรม “อุกอาจ” ยกพวกเข้าทำร้ายกันแบบไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นการยกพวกเข้าไปทำร้ายคู่อริในโรงพยาบาล การทะเลาะวิวาทของเหล่า “นักเรียนนักเลง” ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้สะท้อนถึงมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ที่มีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการแก้ไข เพราะหลายคดีที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความไม่เกรงกลัวอำนาจรัฐ

 



          หลังเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ซึ่งก็ว่ากันไปตามขั้นตอนตัวบทกฎหมาย แต่คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือจะมีมาตรการป้องกันเหตุอย่างไรและใช้ยุทธวิธีระงับเหตุแบบไหนเพื่อยับยังไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหาแบบนี้ขึ้นอีก เพราะเรื่องแบบนี้ไม่ใช่แค่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นแล้วหลายครั้งหลายครา ก็ควรเอามาเป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาปรุงปรุงมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนในสังคม


          เกี่ยวกับเรื่องนี้ นักอาชญาวิทยา ได้วิเคราะห์สถานการณ์และเสนอแนะแนวทางเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบังคับใช้กฎหมายรวมทั้งแก้ไขสถานการณ์ความรุนแรงยกพวกตะลุมบอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย “อาจารย์โต้ง” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต มองแนวทางแก้ปัญหาไว้ 5 ประเด็น ได้แก่ ครอบครัว มาตรการการป้องกันอาชญากรรม การมีกฎหมายผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ยุทธวิธีตำรวจ และระบบการติดตามตรวจสอบ


          ประเด็นแรก รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ อธิบายว่า เริ่มที่ครอบครัว การเลี้ยงดู การอบรมบ่มเพาะเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะเห็นได้ชัดเจนว่าทุกวันนี้สังคมไทยมีการใช้ความรุนแรงมากขึ้น มักยุติปัญหาด้วยความรุนแรง ก็ต้องมองว่าเริ่มจากสาเหตุอะไร ซึ่งตามหลักอาชญาวิทยาได้ศึกษาการเลี้ยงดูในครอบครัว การอบรมเรียนรู้ในโรงเรียนเป็นรากฐานลักษณะนิสัยและอารมณ์ โดยครอบครัวมีส่วนสำคัญในการอบรมด้วยการใช้เหตุผลให้รู้ผิด ชอบ ชั่ว ดี หากไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ต้องขัดเกลาจิตใจบุตรหลานตั้งแต่ยังเล็ก สอนให้รู้จักการเคารพสิทธิของผู้อื่น ไม่ไปละเมิด ตลอดจนควบคุมการดูหนังดูละควร เนื่องจากมีบางฉากบางตอน หรือตัวละครบางตัวจะเป็นแบบอย่างในการใช้ความรุนแรงได้ เด็กเยาวชนจะเอาเป็นเยี่ยงอย่างในชีวิตจริงได้ ผู้ปกครองจึงควรอยู่ใกล้ชิดปลูกฝังเหตุผลว่าหากทำแบบนี้แล้วผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร ขณะเดียวกันตัวดารานักแสดงที่ถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะก็ต้องวางตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี 

 

ยกพวกตะลุมบอน..สะท้อนมาตรการรักษาความสงบที่ต้องแก้

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ พูตระกูล

 


          สำหรับมาตรการการป้องกันอาชญากรรมต้องยอมรับว่าในบ้านเรายังมีน้อยมากๆ ถ้าดูจากที่มีรัฐบาล คสช. ในช่วงแรกๆ โดยเอาทหารมาจัดระเบียบสังคมกวาดล้างผู้มีอิทธิพลมากมาย ซึ่งดูเหมือนจะเป็นระบบมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องวินรถจักรยานยนต์รับจ้าง แต่หลังจากนั้นก็เงียบหายไปและเหมือนจะวนเข้ารูปแบบเดิม ดังนั้นควรมีเจ้าภาพที่ชัดเจนเข้ามากำกับดูแล เช่นในกรุงเทพฯ ก็ให้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เนื่องจากมีบ่อยครั้งที่คนขับวินรถจักรยานยนต์รับจ้าง หรือแม้คนที่ให้บริการขนส่งสาธารณะอื่นๆ เป็นคนร้ายที่ก่อเหตุอาชญากรรมเสียเอง หลายคนพกมีด พกปืน ส่งผลให้ผู้โดยสารตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตราย ถ้ามีเรื่องไม่โปร่งใสทั้งสองหน่วยงานนี้ต้องช่วยกันดู และที่เห็นบ่อยของบรรดาวินรถจักรยานยนต์รับจ้างคือการละเมิดฝ่าฝืนกฎจราจร เช่น ขับรถย้อนศร ขับขี่บนทางเท้า จนเกิดการละเมิดประชาชนและผู้โดยสาร หากมีเจ้าภาพที่ชัดเจนและเอาจริงเอาจังก็จะช่วยป้องกันความห่ามที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมของวินรถจักรยานยนต์รับจ้างได้มากขึ้น

 

 

ยกพวกตะลุมบอน..สะท้อนมาตรการรักษาความสงบที่ต้องแก้

 


          ประเด็นต่อมา รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ มองว่าการมีกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ช่วยเจ้าพนักงานตำรวจจะช่วยลดความ “กร่าง” ของบรรดาวินรถจักรยานยนต์บางคนบางกลุ่มได้ ซึ่งผู้ช่วยเจ้าพนักงานตำรวจในบ้านเรายังไม่มี ตำแหน่งหน้าที่นี้จะมีค่าตอบแทน มีเงินเดือน โดยที่ประเทศอังกฤษมีแล้ว ประเทศในยุโรปก็มี และที่ประเทศสิงคโปร์ก็มีแล้วเช่นเดียวกัน มีหน้าที่ช่วยงานสนับสนุนภารกิจต่างๆ ของตำรวจ ต้องผ่านการทดสอบ การคัดเลือกคัดกรอง ฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ต่างกับบ้านเราที่ยังใช้กู้ภัย อาสาสมัคร ซึ่งไม่ได้มีค่าตอบแทน โดยส่วนใหญ่ก็เป็นวินรถจักรยานยนต์รับจ้าง หรือบรรดาโชเฟอร์รถแท็กซี่เข้ามาร่วมโครงการเป็นอาสาสมัครช่วยงานตำรวจ เช่น โครงการตาสับปะรด ไม่ใช่ว่าโครงการเหล่านี้ไม่ดี เป็นเรื่องดีที่ให้ประชาชนมามีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานตำรวจ แต่ยังมีอาสาสมัครบางคนที่ถือว่าเป็นส่วนน้อยกระทำผิด ขาดการฝึกอบรม เมื่อเคยทำงานกับตำรวจก็ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิพิเศษ ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจจึงเป็นสาเหตุของความกร่างไม่เกรงกลัวหรือเกรงใจใครหน้าไหน


          สมรภูมิรบระหว่างสองวินรถจักรยานยนต์รับจ้างที่เกิดขึ้นหมาดๆ ในย่านอุดมสุข เรื่องยุทธวิธีตำรวจในการเข้าระงับเหตุเป็นสิ่งที่ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์กันหนาหู เพราะบานปลายปล่อยให้มีการยกพวกตะลุมบอนต่อหน้าต่อตาจนมีคนบาดเจ็บล้มตาย แต่ลึกๆ แล้วการบังคับใช้กฎหมายในยุคโซเชียลมีเดียตำรวจในระดับปฏิบัติการทำงานยากมาก มาตรการตามยุทธวิธี การควบคุมฝูงชน การระงับเหตุ หากตำรวจแอ็กชั่นเหมือนที่ร่ำเรียนฝึกอบรมมา หากผลลัพธ์ไปกระทบจุดเปราะบางของสังคม ถูกกระแสโซเชียลมีเดียกระหน่ำ ส่งผลเสียต่อองค์กร และถ้าหากผู้บริหารไม่เอาด้วยกับผู้ปฏิบัติ ก็ย่อมทำให้ผู้ปฏิบัติลำบาก

 

 

ยกพวกตะลุมบอน..สะท้อนมาตรการรักษาความสงบที่ต้องแก้

 


          ในส่วนเรื่องยุทธวิธีตำรวจ นักอาชญาวิทยา บอกว่า อาจเกิดการประเมินสถานการที่ผิดพลาดได้ เนื่องจากขาดการอบรมทบทวนยุทธวิธีที่ต่อเนื่องจนส่งผลต่อการตัดสินใจ ฉะนั้นต้องมีความเป็นตำรวจมิอาชีพ เพราะตำรวจ 5-6 นายไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่มีการทะเลาะวิวาทที่มีจำนวนคนนับสิบได้แน่นอน ฉะนั้นต้องมีหลักสูตรเฉพาะ ฝึกทบทวนอยู่เป็นประจำให้เท่าทันกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้น เมื่อเผชิญเหตุจะทำอะไรได้บ้างเป็นขั้นตอน 1 2 3 4 ... เช่นเบื้องต้นเปิดเสียงจากโทรโข่งนอกจากเปิดไฟวับวาบเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเสียงจะทำให้คนที่จะทะเลาะวิวาทกันเกิดการชะงัก ซึ่งจากข้อมูลงานวิจัยที่เก็บมานั้น บ่งชี้ว่าส่วนใหญ่ตำรวจที่อบรมจบมาไม่เคยนำไปใช้ และยุทธวิธีต้องมีการอัพเดทอยู่ตลอด ขณะเดียวกันตำรวจบ้านเราเวลาปฏิบัติงานไม่มีอุปกรณ์อย่างอื่นนอกจากปืน ถ้าใช้อาวุธปืนก็จะกลายเป็นรุนแรงกว่าเหตุ ยิงปืนขึ้นฟ้าก็ไม่รู้ว่าหัวกระสุนจะไปตกใส่ประชาชนคนไหน เมื่อเจอสถานการณ์จึงเกิดความลังเลใจ ไม่กล้าบังคับใช้กฎหมาย ต้องคอยรายงานเหตุให้ผู้บังคับบัญชาต่อเป็นทอดๆ กว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจเหตุการณ์ก็เลยเถิดไปเกินจะควบคุมแล้วกระทั่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นไว้วางใจของประชาชนต่อตำรวจ


          “ควรมีหลักสูตรยุทธวิธีเหล่านี้ไปสอนในโรงเรียนตำรวจ และฝึกทบทวนอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ อัพเดทสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการตัดสินใจ เนื่องจากการใช้ดุลพินิจของตำรวจมีความสำคัญ” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ ระบุ


          ขณะที่เรื่องระบบติดตามตรวจสอบจะต้องเป็นการเฝ้ราระวังเชิงนโยบาย โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนกลุ่มเสี่ยง อาทิ แท็กซี่ จักรยานยนต์รับจ้าง รวมถึงรถตู้ รถบัสที่เกี่ยวกับระบบขนส่งมวลชน เพราะกลุ่มอาชีพนี้ต้องดูแลชีวิตประชาชนจำนวนมาก มีหน่วยงานคอยตรวจสอบควบคุมการทุจริต เช่น ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. เพราะแม้จะเป็นอาชีพที่สุจริตแต่ก็เป็นธุรกิจของกลุ่มที่มีอิทธิพลที่มีผลประโยชน์มากมาย ตลอดจนมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม เห็นได้ชัดเจนจากการจัดระเบียบของรัฐบาล คสช. ในตอนแรกก็เข้าที่เข้าทาง แต่หลังจากนั้นก็เงียบและกลับสู่รูปแบบเดิม 

 

 

ยกพวกตะลุมบอน..สะท้อนมาตรการรักษาความสงบที่ต้องแก้

 

 


          เหตุการณ์ยกพวกตะลุมบอนกันที่เกิดขึ้นในย่านอุดมสุขอาจเป็นเพียงหนึ่งในหลายจุดที่รอวันปะทุ มาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองจึงต้องเร่งแก้ให้เป็นรูปธรรมและยั่งยืน..!! 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ