คอลัมนิสต์

น้ำท่วม กทม.อย่ารอ"อัศวิน"ขี่ม้าขาว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฝนตั้งเค้าทีไร ใจคอไม่ดี!

 


          คนกรุงเทพฯ เผชิญสภาวะน้ำท่วมทุกปี แต่ยังทำใจรับสภาพไม่ได้ 


          ปี 2558 ประเทศไทยเกิดพายุฤดูร้อนมีฝนตกชุกหลายละลอก กรุงเทพฯ ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่หนักหนาสาหัสเหมือนมหาอุทกภัยปี 2554 แต่สภาพน้ำที่ท่วมขังนานหลายวันไม่ยอมแห้งได้สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คนเกินบรรยาย

 

 

          คนไทยสมัยใหม่เคยชินกับความสะดวกสบายในยุคที่ดิจิทัลบันดาลให้ทุกอย่าง เมื่อรู้สึกว่าชีวิตประจำวันเริ่มดำเนินไปอย่างติดขัดจากปัญหาน้ำท่วมขังนานเกินไป จึงพากันบ่นพรึมพรำเสียงดังไปถึงศาลาว่าการ กทม. แต่ทันใดนั้นก็มีเสียงสะท้อนกลับมาแบบนี้


          !!“ก็แค่น้ำรอการระบาย”!! 

          ชาวบ้านฟังไม่เข้าใจ คนบนหอคอยจึงสื่อสารกลับมาใหม่ 


          “เราเป็นเมืองน้ำ เป็นเมืองฝน ไม่มีจุดเสี่ยงเลยคงไม่ได้ ถ้าไม่มีน้ำท่วมต้องไปอยู่บนดอย” !?

 

 

 

น้ำท่วม กทม.อย่ารอ"อัศวิน"ขี่ม้าขาว

 


          คุณชายหมู ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พ่อเมืองในขณะนั้น คงอึดอัดกับการถูกกล่าวโทษและโยนความผิดทั้งหมดมาไว้ที่ท่านเพียงคนเดียวจึงได้พลั้งปากแสดงโวหารประชดประชันคนที่เคยลงคะแนนให้อย่างท่วมท้นกว่า 1.2 ล้านคะแนน ออกมาอย่างที่เห็น แต่ตอนหลังท่านตัดพ้อว่า ก็แค่หยอกเย้าคลายเครียด ไม่น่าหยิบไปเป็นประเด็น


          ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้ทุ่มเททำงานอย่างหนักด้วยความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะปัญหาน้ำท่วมและหวังว่าประชาชนจะเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อเขาเสียใหม่ 


          ในขณะที่ชาวบ้านเองกลับเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจมาตรา 44 ปลดเขาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. แต่พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เห็นว่าควรจะทำแบบนั้น และยังให้โอกาสผู้ว่า กทม.ทำงานตามหน้าที่ต่อไป

 

 

 

 

น้ำท่วม กทม.อย่ารอ"อัศวิน"ขี่ม้าขาว

 


          กระนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ก็สามารถรักษาสถานะของตัวเองไว้ได้ไม่ครบเทอม แม้จะเหลือระยะเวลาการดำรงตำแหน่งอีกเพียงไม่กี่เดือน   เพราะในปี 2559 เขาต้องผจญวิบากกรรมจากการถูกตรวจสอบเรื่องความไม่โปร่งใสในโครงการต่างๆ ของ กทม.ที่ผู้บริหารต้องมีส่วนรับผิดชอบ 


          งานติดตั้งอุโมงค์ไฟฟ้าที่ กทม.ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทเอกชนประดับประดาหลอดไฟแอลอีดี หน้าลานคนเมืองมูลค่า 39 ล้านบาท ก็อยู่ในข่ายนั้น และทำให้เขาถูก พล.อ.ประยุทธ์ ใช้มาตรา 44 ปลดจากตำแหน่งเข้าจนได้


          หลัง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ พ้นตำแหน่งไป พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ขยับจากรองผู้ว่าฯ กทม. ขึ้นมารับตำแหน่งแทน กรุงเทพมหานคร ก็ยังไม่รอดพ้นจากปัญหาน้ำท่วม


          14 ตุลาคม 2560 กทม.เกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้งและเป็นครั้งที่หนักหนาสาหัสมากที่สุดนับจากมหาอุทกภัยปี 2554 ถนนในกรุงเทพฯ ชั้นใน และรอบนอกหลายสายมองแทบไม่เห็นผิวจราจร โดยเฉพาะถนนวิภาวิดีรังสิตแปรสภาพกลายเป็นคลองและจมอยู่ใต้บาดาลจนถูกเรียกว่า “ทะเลกรุงเทพฯ”


          ครั้งนั้น พล.ต.อ.อัศวิน ชี้แจงว่า สาเหตุของน้ำท่วมเกิดจากฝนตกตั้งแต่คืนวันที่ 13 ต่อเนื่องถึงเช้า 14 ตุลาคม เป็นฝนหนักที่สุดในรอบ 30 ปี ทำให้เกิดน้ำท่วมขังทั้งหมด 55 จุดใน กทม. ปริมาณน้ำฝนสูงสุดที่วัดได้ 214.5 มม.ที่เขตพระนคร ขณะที่ครั้งสุดท้ายที่ฝนตกเกิน 200 มม. คือปี พ.ศ.2529 มีปริมาณน้ำฝนประมาณ 270 มม.

 

 

 

น้ำท่วม กทม.อย่ารอ"อัศวิน"ขี่ม้าขาว

 


          อย่างไรก็ดี พล.ต.อ.อัศวิน ไม่ได้แก้ตัว แต่ยืดอกรับผิดทำนองว่าน้ำท่วมครั้งนี้ไม่ต้องโทษใครนอกจากผู้ว่าฯ กทม.


          “ผมต้องขออภัยพี่น้องประชาชนที่ใช้เส้นทางนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้โทษฝน ฝนตกเยอะเป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ ให้โทษที่ผม ที่ระบายน้ำออกไปได้ช้า ผมไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ”


          แม้นฝนตกหนักและวัดปริมาณได้ถึง 214.5 มม. แต่นักวิชาการวิเคราะห์ว่า เฉลี่ยตามระยะเวลาที่ฝนตกแล้วไม่ถึง 40 มม.ต่อชั่วโมง ถือว่าไม่มาก ดังนั้นสาเหตุที่น้ำท่วมจึงเกี่ยวข้องกับปัญหาการระบายน้ำของกทม. อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


          นักวิชาการอธิบายว่าระบบระบายน้ำของกทม.ถูกสร้างไว้เกือบ 30 ปีแล้ว สภาพท่อเก่ามาก ทรุดตัว เต็มไปด้วยตะกอนและขยะมากมาย เมื่อฝนตกหนักจึงระบายน้ำได้ไม่รวดเร็ว นอกจากนี้การทรุดตัวของแผ่นดินกรุงเทพฯ ก็ยังทำให้การทำงานของระบบท่อที่ระบายน้ำไปลงคลองและออกแม่น้ำไม่สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพ จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม


          ความจริงแล้วข้อมูลจากนักวิชาการที่อ้างถึงระบบระบายน้ำและลักษณะทางกายภาพของพื้นที่กรุงเทพมหานครในลักษณะนี้เคยถูกนำมาวิเคราะห์อยู่บ่อยครั้งและทุกครั้งที่เกิดปัญหาน้ำท่วม แต่เมื่อฝนตกลงมาทีไรกรุงเทพฯ ก็ไม่เคยรอดพ้นจากปัญหาน้ำท่วมไปได้สักที

 

 

 

น้ำท่วม กทม.อย่ารอ"อัศวิน"ขี่ม้าขาว

 


          ล่าสุดแม้ว่ากทม.จะเปิดใช้งานอุโมงค์ระบายน้ำแล้วถึง 8 แห่ง แต่อิทธิพลของฝนที่ตกลงมาอย่างหนักเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ 7 มิถุยายน 2562 ก็ยังสามารถจมกรุงเทพฯ ไว้ใต้น้ำได้เกือบทั้งเมืองในชั่วพริบตา ทั้งที่ปริมาณน้ำฝนวัดได้สูงสุดแค่ 125.5 มม.ที่เขตปทุมวัน และ 122 มม.ที่เขตพระนคร และอุโมงค์ระบายน้ำขนาดยักษ์อย่างอุโมงค์บางซื่อก็เพิ่งเปิดใช้งานได้ไม่นาน  


          กทม.ได้ชี้แจงเหตุการณ์ฝนตกน้ำท่วมครั้งนี้ว่า พบปัญหาฝนตกเยอะ ปริมาณฝนตกสะสมสูงถึง 136 มม. ทำให้น้ำระบายไม่ทัน จากการคาดการณ์ปริมาณฝนสะสมตลอดเดือนมิถุนายน จะมีปริมาณฝนสะสมเฉลี่ย 200 มม. แต่ปรากฏว่าเพียงวันเดียวมีฝนตกมากถึง 136 มม. 


          ขณะที่ช่วงเวลาดังกล่าวเครื่องผลักดันน้ำภายในอุโมงค์ระบายน้ำบางซื่อเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้อง ส่วนหนึ่งเกิดเพราะฟิวส์ขาด ทำให้เครื่องผลักดันน้ำ 6 ตัวที่มีอยู่ไม่สามารถเดินเครื่องระบายน้ำออกจากอุโมงค์ได้ ขณะที่ขยะก็เป็นปัญหาใหญ่เช่นกัน


          พล.ต.อ.อัศวิน อธิบายว่า อุโมงค์บางซื่อไม่มีไฟฟ้าสำรองตั้งแต่การออกแบบก่อสร้างและไม่ทราบว่าทำไมถึงไม่ติดตั้ง ขณะที่เครื่องผลักดันน้ำ 6 เครื่องในอุโมงค์ต้องใช้กำลังไฟฟ้าสูงถึง 6,600 โวลต์ เป็นเครื่องขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณจัดซื้อค่อนข้างสูง ปัจจุบัน กทม.มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพียง 1,000 โวลต์เท่านั้น และในเมืองไทยไม่มีเครื่องสำรองไฟฟ้าขนาดใหญ่แบบนั้นขาย ส่วนต่างประเทศเท่าที่ทราบมีประเทศญี่ปุ่นที่มีเครื่องสำรองไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อรองรับภัยพิบัติ

 

 

 

น้ำท่วม กทม.อย่ารอ"อัศวิน"ขี่ม้าขาว

 


          อย่างไรก็ดีผู้ว่าฯ กทม.ให้ความมั่นใจว่า หลังจากการไฟฟ้านครหลวงจัดการเปลี่ยนฟิวส์และนำรถแก้ไฟ หรือรถฉุกเฉินเพื่อแก้ปัญหากรณีไฟฟ้าขัดข้องมาประจำบริเวณอุโมงค์บางซื่อแล้ว ต่อไปแม้ว่าจะเกิดฝนตก 130 มม. เหมือนวันศุกร์ที่ผ่านมาอีก ก็เชื่อว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมหนักแบบนั้นอีก 


          “ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นข้อแก้ตัวของผู้ว่าฯ กทม. ยอมรับสภาพความบกพร่องของกทม.ไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ และไม่โทษใคร”


          ขณะที่ สมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัด กทม. บอกว่า ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฝนตก อาทิ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมและสำรองอุปกรณ์เสริมต่างๆ เตรียมพร้อมหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เพื่อลงพื้นที่แก้ไขปัญหาต่างๆ ขณะที่ฝนตก 


          เมื่อเรดาร์ตรวจวัดสภาพอากาศตรวจพบกลุ่มเมฆฝนเคลื่อนเข้าพื้นที่ใดศูนย์จะแจ้งให้เขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประจำจุดระบายน้ำและจุดอ่อนน้ำท่วมทันที เพื่อเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมถึงประสานการไฟฟ้านครหลวงส่งเจ้าหน้าที่ประจำสถานีสูบน้ำ หรืออุโมงค์ระบายน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมหากเกิดกรณีไฟฟ้าขัดข้องฉุกเฉิน 


          นอกจากนี้จะบูรณาการทำงานเพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ อาทิ เจ้าหน้าที่ทหาร จิตอาสา โดยตั้งกลุ่มไลน์ขึ้นมา เมื่อได้รับแจ้งจากศูนย์ว่าฝนจะตกพื้นที่ใด จะมีการเตรียมความพร้อมและลงพื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือ 


          รองปลัดกทม.มั่นใจว่า หากปริมาณฝนที่ตกลงมาไม่เกิน 60 มม.คงไม่มีปัญหา  แต่หากเกินอาจมีน้ำขังบ้าง กทม.จะเร่งระบายน้ำให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน


          ส่วนอีกด้านหนึ่งหลังเกิดปรากฏการณ์ศุกร์ระทม สังคมออนไลน์ได้แตกประเด็นสนทนาว่าด้วยต้นเหตุของปัญหาน้ำท่วมอย่างกว้างขวาง 


          ถ้าไม่นับคอมเมนต์แสดงความไม่พอใจการบริหารงานของผู้ว่าฯ กทม.ปัญหาที่นำมาอันดับหนึ่งคือเรื่องขยะมูลฝอยที่เกิดจากความมักง่ายของคนกรุง ซึ่งหลายคอมเมนต์แนะนำได้ตรงจุดว่า ถ้าลดความมักง่ายของคนกรุงด้วยการไม่ทิ้งขยะปฏิกูลลงแม่น้ำลำคลองก็เท่ากับว่าทุกคนได้มีส่วนช่วยในการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างดีที่สุด โดยไม่ต้องรอพึ่ง “อัศวิน” ไร้ม้าขาว


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ