คอลัมนิสต์

คำกล่าว"ประยุทธ์"คือสัญญาประชาคม-เตือนพรรคร่วมรัฐบาล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  โอภาส บุญล้อม

 

 

   

          คำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในพิธีรับพระบรมราชการโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  ที่ว่าจะทุ่มเททำงานตามมาตรฐานจริยธรรมด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกกลุ่มทุกฝ่ายในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศในทุกด้าน ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม การต่างประเทศ กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม  ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้ สร้างสรรค์สังคมให้มีความรักความสามัคคีปรองดอง สมานฉันท์ และเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงโลกยุคดิจิทัลและเทคโนโลยีนั้น จะถือเป็นนโยบายของรัฐบาลและสัญญาประชาคมต่อประชาชนที่พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดต้องยึดปฏิบัติตามหรือไม่

 

 

          “เป็นปณิธาณ ความตั้งใจดีของพล.อ.ประยุทธ์  แต่ความตั้งใจดีนั้นจะต้องนำไปปฏิบัติด้วยซึ่งการปฏิบัตินั้นไม่ใช่ของง่าย เพราะมันเป็นเรื่องขององค์รวม ไม่ได้ขึ้นกับพล.อ.ประยุทธ์ คนเดียว ก็ต้องดูว่าในระหว่างที่ปฏิบัตินั้น หากเกิดเรื่องขึ้น พล.อ. ประยุทธ์ได้มีการจัดการหรือเล่นงานอย่างไรบ้าง”  รศ. ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์  นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง เริ่มเปิดมุมมอง และว่า..  สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์  พูดจึงสำคัญมากในแง่เป็นลักษณะบอกกับประชาชนว่ามีความมุ่งมั่น ดังนั้นก็ต้องรอให้พิสูจน์ออกมาก่อน ถือว่าเป็น "สัญญาประชาคม" เป็นการเตือนพรรคร่วมรัฐบาลให้ระวังว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้บอกสัญญาประชาคมต่อประชาชนเอาไว้ เพราะแม้ว่ารัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง แต่การบริหารต้องชอบธรรมด้วยด้วย ซึ่งการชอบธรรมหรือไม่ขึ้นอยู่กับการรับผิดชอบต่อข้อครหาต่างๆ ที่มีต่อรัฐบาล ซึ่งเป็นการพิสูจน์ตัวนายกรัฐมนตรีในอนาคตว่านายกรัฐมนตรีรับผิดชอบในสิ่งที่พูดไว้หรือไม่ หากในอนาคตเกิดสิ่งที่ผิดแปลกขึ้น ต้องให้เวลา พล.อ.ประยุทธ์ และดูผลงานของพล.อ.ประยุทธ์ ที่จะทำในอนาคต

 

 

คำกล่าว"ประยุทธ์"คือสัญญาประชาคม-เตือนพรรคร่วมรัฐบาล

รศ. ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

 


          “สมชาย” ยังกล่าวถึงพรรคร่วมรัฐบาลว่า  ต้องให้พรรคร่วมรัฐบาลพิสูจน์ตนเอง   พรรคร่วมรัฐบาลต้องรู้ว่าตอนนี้กำลังบริหารประเทศให้ประชาชน  ต้องตระหนักว่าประชาชนกำลังจ้องเราอยู่ และต้องรู้ว่านายกรัฐมนตรีกำลังผูุกพันกับประชาชนในสิ่งที่กล่าวไว้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะพิสูจน์ตรงนี้ได้ต้องได้รับความร่วมมืออย่างเหนียวแน่นจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วย 
   

 
          “ถ้าไม่มีการร่วมมืออย่างเหนียวแน่นจากพรรคร่วมรัฐบาลก็เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีต้องพิสูจน์ตัวเองแล้วว่าทำได้ขนาดไหน" นอกจากนี้ "สมชาย" ยังชี้ว่าความชอบธรรมของรัฐบาล ยังหมายถึงกระบวนการบริหารที่มีประสิทธิภาพ มีคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของการที่จะมีรัฐบาลทีี่ประชาชนไว้ใจ”
    

          ส่วนประเด็นที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์  กล่าวว่า เปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกกลุ่มทุกฝ่ายในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศนั้น  “สมชาย” มองว่า  การที่บอกว่าเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกกลุ่มทุกฝ่าย ไม่ได้หมายความว่าจะทำตามทุกฝ่าย นายกรัฐมนตรีคงจะรับฟังทุกฝ่ายแต่จะทำตามหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
 

          “แต่การที่พล.อ.ประยุทธ์พูดอย่างนั้นดีแล้ว  เพราะว่าประชาชนส่วนหนึ่งก็มีความรู้สึกว่านายกรัฐมนตรีในอดีตก็ขี้โมโหเหมือนกับไม่ยอมฟัง การที่นายกรัฐมนตรีพูดอย่างนี้จึงถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ว่าในแง่ประชาธิปไตยว่าอดทนฟัง แต่เมื่อฟังแล้วในแง่ปฏิิบัติจะเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  อย่างเช่นเรื่องเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญที่พูดกันยังขัดกันเองเลย ดังนั้นจึงขึ้นกับดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีว่าจะฟังฝ่ายไหน และฟังแล้วจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าจะแก้ไข จะแก้ไขตามข้อเรียกร้องของฝ่ายไหน   สมมุติว่ามีข้อเรียกของ 2 ฝ่าย บางทีอาจไม่แก้ไขตามข้อเรียกร้องของ 2 ฝ่ายเลย เพราะข้อเรียกร้องของทั้ง 2 ฝ่ายนั้นไม่ดี  แก้ตามที่เราเห็นว่าดี  ดังนั้นในการฟังเมื่อฟังเสร็จ ก็มาดูว่าทางออกทีี่เสนอนั้นเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือไม่ สร้างความเจริญให้ประเทศหรือไม่  สร้างความสมานสามัคคีหรือไม่ ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงมีสิทธิที่จะเลือกดำเนินการ โดยในการเลือกดำเนินการนั้น นายกรัฐมนตรีต้องคิดถึง 3 เรื่อง หนึ่ง ความชอบธรรมของรัฐบาล  สองประสิทธิภาพและประสิทธิผล และสาม จริยธรรม ซึ่งทั้งสามสิ่งนี้เป็นสิ่งที่นายรัฐมนตรีจะนำมาประกอบการพิจารณาว่าจะดำเนินการหรือไม่ดำเนินการ”
 

 

 

คำกล่าว"ประยุทธ์"คือสัญญาประชาคม-เตือนพรรคร่วมรัฐบาล

 

 

          **การที่นายกรัฐมนตรีบอกว่า เปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกกลุ่มทุกฝ่าย ซึ่งอาจารย์สมชายมองว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีว่านายกรัฐมนตรี อาจอดทนฟังมากขึ้นนั้น  ซึ่งไปสอดคล้องกับข่าวก่อนหน้านี้ที่ว่า นายกรัฐมนตรีบอกกับพรรคร่วมรัฐบาลที่เตือนว่า ต่อไปนี้ให้นายกรัฐมนตรีใจเย็นๆ รู้อยู่แล้วว่าต้องใจเย็น แสดงว่าต่อไปนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะใจเย็นลงในการทำงานใช่หรือไม่


          ประเด็นนี้ “สมชาย” มองว่า นายกรัฐมนตรีคงตั้งใจไว้อย่างนั้น ซึ่งก็หวังจะเป็นอย่างนั้น ซึ่งหากทำได้เป็นเรื่องที่ดีมากเลย แต่ต้องยอมรับว่าเป็นห่วงนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้ เพราะบางทีเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกตั้งคำถามหนักๆ อาจเผลอ 


          ดังนั้นฝากนายกรัฐมนตรีว่าอย่าเผลอก็แล้วกัน เพราะมิเช่นนั้นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีบอกไว้กับประชาชนว่าพร้อมรับฟังจะถูกกระทบทันที บางครั้งไม่ทันรู้ตัว เพราะเป็นนักการเมือง เจอปัญหาหนักหนักๆ เยอะมาก ดังนั้นต้องระวัง บางครั้งโดยไม่ได้ตั้งใจ เกิดจากอารมณ์ที่ถูกตั้งคำถาม ดังนั้นนายกรัฐมนตรีต้องระวังในสิ่งนี้ด้วย


          **แล้วที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะสร้างสรรค์สังคมให้มีความรักความสามัคคีปรองดอง สมานฉันท์ แสดงว่าที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 5 ปี ทำไม่สำเร็จ จึงต้องมาทำต่อใช่หรือไม่


          อาจารย์สมชาย มองว่าการที่นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ ขึ้นมาอีกนั้น เป็นความตั้งใจของนายกรัฐมนตรี  แต่ในทางการเมืองทำได้ยากมาก เพราะต้องบริหารความแตกต่าง  ปรองดองที่นายกรัฐมนตรีพูดถึงจึงต้องตีความว่า ยอมรับความแตกต่าง โดยความแตกต่างที่ว่านี้ ต้องไม่นำไปซึ่งการเผชิญหน้ากัน ความแตกต่างนั้นเราจะต้องยอมรับการให้ความชอบธรรมในการแตกต่าง แต่ถ้าปรองดองนั้นหมายถึงมาดีกัน ไม่มีทางทีี่ประเทศไทยจะทำได้ เพราะการปฏิวัติรัฐประหารที่ผ่านมาก็เกิดจากการที่ประเทศไทยเกือบจะเกิดสงครามกลางเมือง ระยะเวลา 5 ปี  แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้สำเร็จได้ ในหลายประเทศเป็นร้อยปีก็ยังทำไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นปรองดองในที่นี้หมายถึงมีความแตกต่างได้ เห็นด้วยได้ แต่ขณะเดียวกันความแตกต่างนี้จะต้องไม่นำไปสู่การเผชิญหน้า การใช้กำลัง  และหมายถึงการอดทนยอมรับฟังในสิ่งที่ไม่อยากฟัง


          ขณะที่ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า มองว่าเป็นคำดีๆ ที่ปกติทั่วไปที่ผู้นำในระบอบประชาธิปไตยเขาพูดกัน ซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์สุขประชาชน กระจายการพัฒนาเศรษฐกิจ

 

 

คำกล่าว"ประยุทธ์"คือสัญญาประชาคม-เตือนพรรคร่วมรัฐบาล

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

 


          “แต่มีสิ่งที่สะดุดคือเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกกลุ่มทุกฝ่ายในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศในทุกด้าน อาจมีนัยว่ามีแนวโน้มว่ารัฐบาลพร้อมจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะว่าจะต้องมีการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วไปรับฟังความเห็นประชาชน”


          ส่วนที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงโลกยุคดิจิทัลและเทคโนโลยีนั้น ดร.สติธร มองว่า เนื่องจากที่ผ่านมาคนที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ ต่อไปจึงจะให้ความสำคัญกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นการสะท้อนบางอย่างในใจของนายกรัฐมนตรี


          ขณะที่ประเด็นที่ว่าสร้างสรรค์สังคมให้มีความรักความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ ดร.สติธร เห็นว่าเป็นการสร้างความสงบเรียบร้อยซึ่งเป็นจุดขายอันหนึ่งของนายกรัฐมนตรี


          แต่ที่สำคัญที่ทั้งอาจารย์สมชายและดร.สติธร มองเหมือนกัน คือสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวออกมานั้น เป็นสิ่งที่พรรคร่วมต้องปฏิบัติตามเพราะเป็นสิ่งที่รับทราบร่วมกัน เป็นกติการ่วมที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องยึดปฏิบัติตามตามแนวคิดของพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และถือเป็น “สัญญาประชาคม” ต่อประชาชนอย่างชัดเจน เพราะนายกรัฐมนตรีพูดต่อหน้าพรรคร่วมรัฐบาล และพูดต่อสาธารณะผ่านสื่ออีกด้วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ