คอลัมนิสต์

แก้ไขรธน. 'ระเบิดเวลา' รบ.พปชร.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... กระดานความคิด โดย...   ร่มเย็น

 

 

  
          "แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560”  เพื่อพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น เป็นเงื่อนไขต่อรองสำคัญข้อหนึ่งในการเข้าร่วมรัฐบาล ที่พรรคประชาธิปัตย์มีต่อพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล  ซึ่งเมื่อได้รับการตอบสนองจากพรรคพลังประชารัฐ  พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมี 53 เสียง จึงตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล  
   

 

 

          อย่างไรก็ตามในการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้มีีข้อแม้ว่า หากภายหลังเกิดกรณีไม่ทำตามเงื่อนไขตามทีี่ได้ตกลงกันไว้  พรรคประชาธิปัตย์ขอสงวนสิทธิ์ในการที่จะทบทวนอนาคตได้ในเรื่องของการเข้าร่วมรัฐบาล
  

          สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2560  เป็น “ของรักของหวง” ของ คสช.มาโดยตลอด  เพราะมีการวางกลไกการเปลี่ยนผ่านอำนาจของคสช.ไว้เป็นอย่างดี  ดังนั้นมีหรือที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ  ซึ่งเป็นหัวหน้า คสช. จะอยากให้แก้ จับอาการของพล.อ.ประยุทธ์ในเรื่องนี้ก็จะเห็นอาการเด้งเชือก ..“เรื่องนี้ต้องแยกประเด็นกับการร่วมจัดตั้งรัฐบาล”
  

          ขณะที่นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ  บอกว่า  เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความซับซ้อน ไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่ฝ่ายนิติบัญญัติต้องหารือร่วมกัน  ซึ่งต้องหารือกันต่อไป
 

          เช่นเดียวกับแกนนำพรรคพลังประชารัฐอีกคน “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” ก็บอกว่า ...เร็วไปที่จะพูดถึงในการแก้ไข ตอนนี้ต้องมุ่งนโยบายแก้ไขปัญหาปากท้องก่อน การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาจะแก้มากแก้น้อยขนาดไหนต้องมาพูดคุยกัน คงไม่ใช่เงื่อนไขเร่งด่วน หรือจะเป็นปัญหาในการร่วมรัฐบาลในครั้งนี้ 
  

 


          และหากมองไปที่เงื่อนไขในการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ที่ว่า “เพื่อพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น” นั้น กว้างมาก เพราะว่าไปแล้วรัฐธรรมนูญปี 2560 มีกลไกหลายอย่างที่สร้างปัญหา  อาทิ  ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ทำให้เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค ขาดเสถียรภาพทางการเมือง ในบทเฉพาะกาลระยะ 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกให้ ส.ว. ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในรัฐธรรมนูญฉบับใด หรืิอกรณีที่เปิดช่องให้มี “นายกรัฐมนตรีคนนอก” 
  

          ยิ่งกว่านั้น....การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ทำได้ยากมากหรือแทบเป็นไปไม่ได้เลยเนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 60  ได้สร้างเงื่อนไขในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้อย่างซับซ้อน  โดยต้องฝ่า “ด่านหิน” แต่ละขั้นตอนไปให้ได้   
 

          เริ่มจาก  1.ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องมาจากคณะรัฐมนตรี (ไม่ต้องฝันว่าจะเกิดขึ้น) หรือ ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งก็คือ ส.ส.ประมาณ 100 คนขึ้นไป หรือจาก ส.ส. และส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือประมาณ 150 คนขึ้นไป หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน เข้าชื่อกัน
 

          2.ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องเข้าสู่ที่ประชุมของรัฐสภา ซึ่งมีส.ว.ร่วมพิจารณาด้วย และพิจารณาเป็น 3 วาระ               
  

          3.การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการจะต้องใช้เสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติม “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งก็ประมาณ 376 เสียงขึ้นไป และในจำนวนนี้ต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา คือประมาณ 84 เสียงขึ้นไป (ยากกว่าได้เป็นนายกฯเสียอีก เพราะการให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกฯ ใช้เสียงประมาณ 376 เสียงขึ้นไป ซึ่งใช้เสียง ส.ส.อย่างเดียวก็ได้ไม่ต้องพึ่งส.ว. แต่นี่กำหนดถึงขนาดที่ว่าในจำนวน 376 เสียงต้องมีเสียงส.ว.เห็นชอบด้วย แค่นั้นไม่พอต้องมีเสียงส.ว.เห็นชอบด้วยประมาณ 84 เสียงขึ้นไป)
   

          4.การพิจารณาในวาระที่ 2 ขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ในการออกเสียงให้ถือเสียงข้างมากเป็นหลัก
  

          5.ในการโหวตวาระ 3 ขั้นสุดท้าย (หินสุดๆ) ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาคือประมาณ 376 เสียงขึ้นไป โดยในจำนวนนี้จะต้องมีเสียง ส.ส.จากทุกพรรคในสภาเข้ามาร่วมโหวตแก้ไข แม้กระทั่งพรรคฝ่ายค้านก็ต้องเห็นชอบด้วย ถ้าขาดพรรคใดพรรคหนึ่งไปอาจทำให้ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญล่ม และต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองรวมกัน และมีส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา ซึ่งก็คือประมาณ 84 เสียงขึ้นไป
    

          สรุปว่า เกมแก้ไขรัฐธรรมนูญยากยิ่งกว่ายาก  เงื่อนไขแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอต่อพรรคพลังประชารัฐจะสำเร็จได้ต้องให้ ส.ว.250 ที่มาจากคสช.เปิดทาง และทุกพรรคการเมืองต้องสนับสนุนด้วย  และบางหมวดถ้าจะแก้ไขก็ต้องผ่านการออกเสียงประชามติก่อนด้วย
 

          ดังนั้นหากพรรคพลังประชารัฐไปตกปากรับคำกับพรรคประชาธิปัตย์ตามข้อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ แล้วไม่ได้ทำหรือทำไม่ได้ ก็เท่ากับว่าผิดคำพูด ซึ่งจะส่งผลต่อการร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคใหญ่อันดับสองของรัฐบาล เมื่อเวลาที่ “สุกงอม” เดินมาถึง 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ