คอลัมนิสต์

ผู้นำฝ่ายค้าน-หน.เพื่อไทยสะท้อน "ศึกใน" พรรคชินวัตร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงาน...

 

 

          ความเคลื่อนไหวการเมืองสัปดาห์นี้นอกจากต้องเกาะติดปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะเกลี่ยเก้าอี้รัฐมนตรีกันไม่ลงตัวแล้ว ยังมีประเด็นที่ต้องตามของฝ่ายที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลด้วย นั่นก็คือการเฟ้นหาตัวหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพื่อทำหน้าที่ “ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร"

 

 

          ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน รัฐธรรมนูญมาตรา 106 กำหนดว่าต้องเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุดที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล และตัวหัวหน้าพรรคต้องเป็น ส.ส.ด้วย เพื่อทำหน้าที่ “ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร”


          แน่นอนว่าพรรคเพื่อไทยคือพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด และไม่ได้เป็นรัฐบาล หัวหน้าพรรคเพื่อไทยจึงต้องเป็นผู้นำฝ่ายค้าน แต่ปัญหาก็คือหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนปัจจุบัน พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ไม่ได้เป็น ส.ส. เช่นเดียวกับแกนนำพรรคทุกคน ทั้งแคนดิเดตนายกฯ 3 คนที่นำโดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ไล่ไปจนถึงเลขาธิการพรรค ฯลฯ ทำให้พรรคต้องเฟ้นหาหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ภายในสัปดาห์นี้ (เดิมกำหนดไว้คร่าวๆ วันนี้ แต่มีข่าวเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด)

 

 

ผู้นำฝ่ายค้าน-หน.เพื่อไทยสะท้อน "ศึกใน" พรรคชินวัตร

 


          ความเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีชื่อ ส.ส.ในพรรคเพื่อไทยเป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคและผู้นำฝ่ายค้านถึง 3 คน ได้แก่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ ซึ่งมีอาวุโสทางการเมืองสูง อายุเกือบ 78 ปี ผ่านการเป็นรัฐมนตรีมาแล้วหลายกระทรวง หลายยุค ตั้งแต่ยุครัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร เมื่อปี 35 กันเลยทีเดียว   คนต่อมา น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. คนใกล้ชิดของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกฯ ลำดับที่ 1 ของพรรค แต่ไม่ได้รับการเสนอชื่อ นอกจากนั้นยังมี นายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร ส.ส.ลำปาง ในวัย 83 ปีด้วย   วันพฤหัสบดีที่แล้ว นักข่าวได้เจอกับ นายสมพงษ์ ที่รัฐสภาชั่วคราว และได้สอบถามถึงเรื่องนี้ นายสมพงษ์ บอกว่าพร้อมทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หากสมาชิกสนับสนุน

 

 

 

 

ผู้นำฝ่ายค้าน-หน.เพื่อไทยสะท้อน "ศึกใน" พรรคชินวัตร

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

 


          ส่วน น.อ.อนุดิษฐ์ แคนดิเดตอีกคนหนึ่งนั้น ออกตัวกับทีมข่าวเนชั่นแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า ข่าวที่ออกมายังเป็นเพียงกระแสข่าว อาจเป็นการคาดการณ์ของบางฝ่ายในพรรค เพราะเบื้องต้นพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้มีการประชุมหารือในเรื่องนี้ อาจจะต้องรอหลังการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีให้เสร็จสิ้นเสียก่อน และไม่ทราบเรื่องที่มีข่าวว่าผู้ใหญ่ของพรรควางตัวตนเอาไว้แล้ว


          ขณะที่แคนดิเดตอีกคนอย่างนายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร หนึ่งในสอง “บ้านใหญ่” แห่งเมืองรถม้า ยังใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว


          ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่า แนวคิดที่จะให้ น.อ.อนุดิษฐ์ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพื่อทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านนั้น เนื่องจากเป็นผู้ที่ทำงานเคียงข้างคุณหญิงสุดารัตน์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรคมาตลอด โดย น.อ.อนุดิษฐ์ ก็เป็นหนึ่งในทีมยุทธศาสตร์ด้วย ทำให้ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ในพื้นที่ภาคอีสาน และ กทม. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ให้การสนับสนุนคุณหญิงสุดารัตน์


          น่าสนใจตรงที่เมื่อมีข่าว น.อ.อนุดิษฐ์ เป็นหนึ่งในแคนดิเดต ก็ปรากฏภาพเจ้าตัวเดินทางลงพื้นที่โคราช ไปเยี่ยมรับฟังปัญหาเกษตรกรพร้อมกับคุณหญิงสุดารัตน์ทันที เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

 

 

 

ผู้นำฝ่ายค้าน-หน.เพื่อไทยสะท้อน "ศึกใน" พรรคชินวัตร

 


          หลายฝ่ายมองว่า การแต่งตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่เป็น ส.ส. เพื่อเตรียมรับหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรนี้ กำลังสะท้อนปัญหาความแตกแยกภายในพรรคเพื่อไทย ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตมานานตั้งแต่ช่วงก่อนเลือกตั้ง โดยเฉพาะการปรากฏชื่อ น.อ.อนุดิษฐ์ มาเป็นคู่แข่ง เนื่องจากนายสมพงษ์ ที่มีชื่อเป็นแคนดิเดตคนแรก เป็นสายตรง “กลุ่มวังบัวบาน” ใกล้ชิดกับ “เจ๊แดง” นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ฉะนั้นเมื่อมีการพูดถึงชื่อนายสมพงษ์แล้ว ก็ไม่ควรมีคู่แข่งอีก แต่ปรากฏว่ามีการสร้างกระแสสนับสนุน น.อ.อนุดิษฐ์ ขึ้นมาประกบทันที


          โดยเฉพาะการเปิดภาพลงพื้นที่โคราช ไปเยี่ยมพี่น้องประชาชนด้วยกันกับคุณหญิงสุดารัตน์ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยเป็นที่รู้กันดีว่าคุณหญิงสุดารัตน์ผิดหวังจากการไม่ได้เป็น ส.ส. และไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถมยังไม่ได้รับการเสนอชื่อชิงนายกฯ ในฐานะแคนดิเดตด้วย


          ทำให้ล่าสุดเมื่อวานนี้ นายสมพงษ์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เรียกร้องให้ขั้วพลังประชารัฐ 19 พรรคตั้งรัฐบาลให้ได้โดยเร็ว เพื่อที่ 7 พรรคขั้วเพื่อไทยจะได้ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้น


          การปรากฏตัวของนายสมพงษ์ จึงเหมือนการประกาศความพร้อมในการเป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน” อยู่กลายๆ และคล้ายๆ จะออกมาชนกับ น.อ.อนุดิษฐ์ ที่เพิ่งมีภาพลงพื้นที่กับคุณหญิงหน่อยโดยตรงด้วย


          ตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้าน” จึงกำลังสะท้อนภาพความอ่อนแอและปัญหากลุ่มมุ้งในพรรคเพื่อไทย ในวันที่ขาด “คนตระกูลชินวัตร” กุมบังเหียน เพราะการมีแคนดิเดตมากกว่า 1 คนในพรรคการเมืองที่ “คนแดนไกล” เคยทุบโต๊ะตัดสินใจได้ทุกอย่างแบบนี้ มันคล้ายๆ การเปิด “สงครามตัวแทน” ระหว่างกลุ่มมุ้งต่างๆ


          ฉะนั้นต้องจับตาดูว่าผู้ใหญ่ในพรรคจะเคลียร์ปัญหานี้ได้หรือไม่ เพราะหากปล่อยให้มีการแข่งขันชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคและผู้นำฝ่ายค้าน ย่อมมีความขัดแย้งเกิดตามมา (ดูพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวอย่าง) และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คนที่เป็นแคนดิเดตบางคนอาจไม่ใช่ “ขุนพล” ที่จะนำทัพเป็นฝ่ายค้านคุณภาพได้จริงๆ เพราะ “ตัวจริง” อยู่นอกสภาทั้งหมด


          เหตุนี้เองปัญหาภายในพรรคเพื่อไทย จึงน่าจะส่งผลถึงการทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาในอนาคตอันใกล้อีกด้วย


          และต้องไม่ลืมว่า “ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร” ถือเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ และมีความสำคัญในการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา เพราะจะเป็นผู้นำในการตรวจสอบรัฐบาล โดยเฉพาะเวลายื่นญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี โดยประเพณีมักให้ผู้นำฝ่ายค้านเป็นผู้อภิปรายสรุปญัตติทั้งหมด

 

 

ผู้นำฝ่ายค้าน-หน.เพื่อไทยสะท้อน "ศึกใน" พรรคชินวัตร

 


          นี่คือความสำคัญของตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านที่กำลังเปิดภาพให้เห็นความอ่อนแอภายในพรรคเพื่อไทย แม้งานนี้เลขาธิการพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย จะออกมาการันตีว่า การปรากฏชื่อแคนดิเดตหลายคน ไม่ได้หมายความว่าภายในพรรคขัดแย้งแบ่งขั้วกัน และกระแสข่าวแคนดิเดตก็ยังเป็นเพียงข่าวลือ


          แต่ดูเหมือนคำพูดของเลขาฯ ภูมิธรรม จะสวนทางกับความจริงของ “ศึกใน” ที่กำลังคุกรุ่นอย่างสิ้นเชิง !

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ