คอลัมนิสต์

ประชาชนไม่มั่นใจอนาคตการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... อ๊อด เทอร์โบ..ดับเครื่องชน [email protected]

 

 

          ‘ดับเครื่องชน’ วันนี้มีเรื่องที่ประชาชนคนไทยกำลังสนใจหลังจากสภาได้เลือก ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งต่อไปก็จะเป็นการแย่งเก้าอี้หรือเป็นรัฐมนตรี ซึ่งพรรคใหญ่ๆ ต่างขอยึดกระทรวงสำคัญๆ ที่เรียกกันว่ากระทรวง ‘เกรด เอ’

 

 

          นี่เป็นเรื่องเจ็บปวดมากๆ เพราะแสดงให้เห็นว่าบรรดานักการเมืองมองข้ามกระทรวงอื่นๆ ที่มีงบประมาณน้อย ซึ่งอันที่จริงแล้วทุกกระทรวงมีความสำคัญต่อประเทศชาติประชาชน ซึ่งขึ้นอยู่กับภาระหน้าที่

          จากการประชุมสภาหลายครั้งที่ผ่านมา มองเห็นได้ว่านักการเมืองไทยยังไม่พัฒนาให้ทันโลกเพราะหลายคนเล่นสำนวนโวหารและต่างเอาชนะเอาเปรียบกันแบบไม่มีใครยอมกันและต่อไปนี้จะมีการเปิดประชุมอีกหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องงบประมาณแผ่นดิน

          แน่นอนว่าฝ่ายค้านจะต้องรุมถล่มรัฐบาลของ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ แบบปูพรมและหากนายกรัฐมนตรีเกิดโมโหโทสาฟิวส์ขาดแบบที่เรียกกันว่าหัวร้อนแล้วอะไรจะเกิดขึ้น

          ที่ผ่านมารัฐบาล คสช.เหมือนไข่ในหินไม่มีใครสามารถท้วงติงหรือวิจารณ์อะไรได้ ซึ่งต่อไปนี้จะต้องเจอกับนักการเมืองที่แต่ละคนมีรังสีอำมหิตไม่ธรรมดา

          ในฐานะของประชาชนคนไทยระดับรากหญ้าเป็นมนุษย์เงินเดือนก็มีความเป็นห่วงเพราะสภาพเศรษฐกิจความเป็นอยู่เวลานี้ฝืดเคืองเดือดร้อนไปหมด
  
          แล้วมองถึงรัฐบาลผสมที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศแล้วยังไม่มั่นใจว่าจะมีฝีมือเป็นคนดีมีคุณธรรมและซื่อสัตย์สุจริตมาทำงานได้
  
          ถึงเวลานั้นอาจจะมีวิกฤติการเมืองหรือการยุบสภาและอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้แบบประวัติศาสตร์ซ้ำรอย-เป็นเรื่องจริง
อ๊อด เทอร์โบ



  


          จดหมายจากคุณ ‘บุญสม’ กทม. ต่อไปนี้เป็นเรื่องรีไซเคิลขยะ ซึ่งเวลานี้ทั่วโลกกำลังวางแผนและรณรงค์จัดการเรื่องขยะอย่างกว้างขวาง

          จึงขอนำข้อมูลที่ดีมีประโยชน์จากประเทศที่ประสบความสำเร็จเรื่องการจัดการขยะมาเพื่อเป็นต้นแบปฏิบัติตาม
อ๊อด เทอร์โบ


 


 ‘รีไซเคิลขยะ’ เรื่องระดับชาติ
 ประเทศไทยต้องทำด่วน

          ผมได้รับข้อมูลจากข่าวออนไลน์ที่เพื่อนคนหนึ่งส่งมา ซึ่งน่าสนใจมากๆ เพราะเกี่ยวกับเรื่องขยะ ซึ่งหลายๆ ประเทศรวมทั้งไทยกำลังให้ความสำคัญเพราะหากกำจัดขยะหรือสิ่งปฏิกูลไม่ดีไม่ถูกต้องแล้วจะเกิดมลภาวะเป็นพิษ ถ้าเป็นคนก็เกิดแผลเน่าเหม็นได้
  
          จึงขอเป็นสื่อกลางแจ้งให้ทราบถึง 5 ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการรีไซเคิลขยะและขอให้รัฐบาลหรือหน่วยงานท้องถิ่นถือเป็นตัวอย่างและต่อไปขยะอาจจะมีประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงสร้างพลังงานได้
  
          จึงขอยกตัวอย่าง 5 ประเทศที่มีระบบการรีไซเคิลขยะที่ได้รับรองมาตรฐานจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรป
  
          1.เยอรมนี นับตั้งแต่ปี 2559 กลายเป็นประเทศที่มีอัตราการรีไซเคิลขยะดีที่สุดในโลก โดยในปีก่อนเยอรมนีรีไซเคิลขยะไปถึง 56.1% ของขยะทั้งหมด จุดเริ่มต้นของความสำเร็จของเยอรมนีเกิดขึ้นในปี 2533 โดยการตรวจสอบบรรจุภัณฑ์เพื่อลดปัญหาการเพิ่มขึ้นของหลุมฝังขยะ โดยรัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาหลีกเลี่ยงมูลฝอยบรรจุภัณฑ์ในปีต่อมากำหนดให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบต่อขยะบรรจุภัณฑ์ของตัวเอง
  
          ผู้ผลิตจึงเริ่มติดสัญลักษณ์จุดเขียวบนบรรจุภัณฑ์ของตัวเอง โดยทำสัญญากับบริษัทเก็บขยะเพื่อรับประกันว่าบรรจุภัณฑ์นั้นๆ จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้ใหม่จนเกิดระบบเก็บขยะคู่ขนานขึ้นมาเป็นครั้งแรกควบคู่ไปกับการเก็บขยะชุมชนที่มีอยู่เดิม โดยแยกขยะที่มีจุดเขียวใส่ในถุงสีเหลืองหรือถังขยะสีเหลือง

          ประเทศที่ยอมรับการใช้ฉลากแล้วรวม 11 ประเทศ คือ เยอรมนี ออสเตรเลีย เบลเยียม ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก โปรตุเกส สเปน สวีเดน และสหราชอาณาจักร
   
          2.ออสเตรีย รีไซเคิลขยะได้ 53.8% ในปี 2561 เป็นประเทศที่มีกฎหมายห้ามนำขยะหลายประเภทไปทิ้งในหลุมกำจัดขยะ ห้ามทิ้งผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่มีอัตราปล่อยสารอินทรีย์คาร์บอนมากกว่า 5% ช่วยป้องกันไม่ให้บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ถูกทิ้งไว้ตามพื้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ออสเตรียยังมีมาตรการให้ผู้ผลิตรับผิดชอบบรรจุภัณฑ์ของตัวเองคล้ายกับเยอรมนีด้วย
  
          3.เกาหลีใต้ เป็นประเทศเดียวที่ไม่ใช่ชาติยุโรปที่ติด 5 อันดับแรกประเทศรีไซเคิลขยะดีที่สุดในโลก โดยรีไซเคิลไปราว 53.7% โดยอาศัยระบบที่บริษัทเอกชนต่างๆ ซื้อขยะแล้วนำไปขายต่อเพื่อทำกำไร แต่อีกไม่นานวิธีการนี้อาจไม่ใช่วิธีที่ดีอีกต่อไปเมื่อประเทศจีนซึ่งเป็นชาติรับซื้อขยะรายใหญ่ของโลก ประกาศเมื่อเดือนเมษายน 2561 โดยจะหยุดนำเข้าขยะพลาสติกแล้ว

          การเปลี่ยนนโยบายสิ่งแวดล้อมของจีนทำให้บริษัทเกาหลีใต้ไม่สามารถทำงานจากแผนรีไซเคิลขยะแบบเดิมได้มากเท่าเดิมอีกต่อไป ส่งผลให้เริ่มมีขยะพลาสติกกองอยู่ตามท้องถนนให้เห็นมากขึ้นแล้วจนกระทั่งรัฐบาลต้องยื่นมือให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บริษัทรีไซเคิลในประเทศ
  
          4.เวลส์ สามารถรีไซเคิลขยะได้ถึง 52.2% ในปี 2561 โดยการรีไซเคิลของเวลส์จัดการโดยรัฐบาลหรือผู้บริหารส่วนท้องถิ่น และวางระบบให้ทั้งประชาชนและธุรกิจเกือบทั่วประเทศมีกฎคล้ายกันว่าอะไรรีไซเคิลได้และอะไรรีไซเคิลไม่ได้
  
          โดยตั้งเป้าจะเพิ่มอัตราการรีไซเคิลขยะทั่วประเทศเป็น 70% ภายในปี 2568 นอกจากนี้รัฐบาลเวลส์เตรียมออกกองทุนมูลค่า 6.5 ล้านปอนด์ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ผลิตสินค้าในประเทศ ช่วยบริษัทต่างๆ ผลิตผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น
   
          5.สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีอัตรารีไซเคิลขยะ 49.7% ในปี 2561 โดยหนึ่งในนั้นเป็นกุญแจสำคัญของพวกเขาก็คือนโยบาย ‘คนก่อมลพิษจ่าย’ ซึ่งให้ทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนจ่ายค่าขยะประเภทไม่สามารถรีไซเคิลได้ที่พวกเขาผลิตขึ้นมา ทำให้ประชาชนต้องให้ความร่วมมือกับการรีไซเคิลมากขึ้น โดยตามปกติแล้วขยะครัวเรือนอย่างกระป๋อง หลอดไฟ กระดาษ และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ สามารถรีไซเคิลได้ และสามารถหาจุดทิ้งขยะรีไซเคิลได้ทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่ห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้สวิตเซอร์แลนด์ยังมีมาตรการเก็บภาษีถุงขยะที่นำไปทิ้งที่หลุมฝังขยะ

          ผมจึงแจ้งมาเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่จะได้ดำเนินการ อาจจะเปลี่ยนแบบแผนบ้างเพื่อให้เข้ากับคนไทย-ประเทศไทย และขอให้รีบทำโดยเร็ว
บุญสม (กทม.)


logoline

ข่าวที่น่าสนใจ