คอลัมนิสต์

"เสือคาบดาบ" ประดับหน้าอก...กว่าจะได้เป็นนักรบจู่โจม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  อัญชลี อริยกิจเจริญ

 

 

 

          ชายชาญทหารกล้าส่วนใหญ่ มักมีเครื่องหมายประดับหน้าอกเสื้อให้เห็นเด่นชัด โดยเฉพาะคนที่ชื่นชอบการฝึกหลักสูตรต่างๆ ก็จะมีสารพัดเข็มสัญลักษณ์ของหลักสูตรนั้นๆ เต็มหน้าอกไปหมด


          แต่สำหรับทหารบก หลักสูตรสำคัญของการเป็นผู้นำหน่วยทหารขนาดเล็กที่นักเรียน จปร.ปีสุดท้าย และกำลังพลที่รักความท้าทายต้องการฝ่าด่านเพื่อพิสูจน์ความสามารถของตนเอง ทั้งเพื่อให้ได้เครื่องหมาย “เสือคาบดาบ” มาประดับหน้าอก ก็คือหลักสูตรการรบแบบจู่โจม หรือ เรนเจอร์ (Ranger)

 

 

          ปัจจุบันมีศูนย์ฝึกอยู่ 3 แห่ง คือ ศูนย์สงครามพิเศษ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จังหวัดลพบุรี, ศูนย์การทหารม้า จังหวัดสระบุรี และศูนย์การทหารราบ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์


          หลักสูตรนี้ถือว่าลำบากและเหนื่อยยากที่สุดของกองทัพบก มีความคล้ายคลึงกับหลักสูตร Ranger ของกองทัพสหรัฐที่ทำการฝึกโดยโรงเรียนทหารราบ ฟอร์ตเบนนิ่ง


          การฝึกหลักสูตรนี้ก็เพื่อพัฒนาทักษะ เพิ่มประสิทธิภาพให้เป็นผู้นำหน่วยทหารขนาดเล็ก มีความรู้ความสามารถในการรบแบบจู่โจม และนำมาประยุกต์ใช้ รวมถึงนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาการฝึกทางยุทธวิธีขั้นสูงต่อไป ที่สำคัญผู้ที่ผ่านการฝึกจะทรหดอดทนทั้งร่างกายและจิตใจ ดำรงภารกิจได้ทุกสภาพภูมิประเทศ


          แต่ก่อนที่จะเข้ารับการฝึก ต้องเตรียมร่างกาย เตรียมใจมาให้พร้อม เพราะต้องทดสอบร่างกาย ทั้งการวิ่งแบบปกติ, วิ่งประกอบเครื่องสนาม, ทดสอบว่ายน้ำ, การเอาตัวรอดทางน้ำ, ทดสอบกำลังใจ, ทดสอบภาควิชาการในห้องเรียน คือ ทดสอบการเป็นผู้นำหน่วยในการฝึกภาคสนาม 1,000 คะแนน มีผู้ผ่านการทดสอบ 180 นาย


          ระยะเวลาการฝึกประมาณ 10 สัปดาห์ หรือ 2 เดือนครึ่ง โดยรุ่นที่ 131 ที่ฝึกโดยศูนย์สงครามพิเศษ จังหวัดลพบุรี เริ่มฝึกตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคมถึง 19 พฤษภาคม แบ่งเป็น 5 ภาคการฝึก ซึ่งจริงๆ แล้วแต่ละศูนย์ฝึกจะเรียงลำดับต่างกัน แต่โดยรวมจะต้องมีรายละเอียดคือ




          ภาคที่ตั้ง - จะฝึกหลักการลาดตระเวน บุคคลทำการรบในเวลากลางวันและกลางคืน การติดต่อสื่อสาร การปฐมพยาบาล การดำรงชีพในป่า การระเบิดทำลาย อาวุธศึกษา แผนที่เข็มทิศ การปรับอาวุธยิงสนับสนุน การใช้เชือก การยุทธวิธีเคลื่อนที่ทางอากาศ การรับของทางอากาศ การชี้เป้าให้เครื่องบินโจมตี


          ภาคการรบในเมืองและสิ่งปลูกสร้าง - ฝึกลาดตระเวนหาข่าว ปิดล้อมตรวจค้น ตั้งจุดตรวจจุดสกัด และการเข้าตีกวาดล้างพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง


          ภาคป่าที่ราบ - ทำการฝึกซุ่มโจมตี ตีโฉบฉวย ตีที่มั่นแข็งแรง ปัญหาเชลยศึก และการเล็ดลอดหลบหนี


          ภาคป่าภูเขา - ฝึกกวาดล้างไล่ติดตาม การซุ่มโจมตี ปิดล้อมตรวจค้น และการดำรงชีพในป่า


          ภาคทะเลที่ลุ่ม - ฝึกว่ายน้ำในทะเลเบื้องต้น การลาดตระเวนชายฝั่ง การใช้และบำรุงรักษาเรือยาง การฏิบัติการทางยุทธวิธี การสละเรือใหญ่ การดำรงชีพในทะเล ลาดตระเวนหาข่าว การแทรกซึมขึ้นหาดชายเลน และการเข้าตีที่มั่นแข็งแรง


          เมื่อจบหลักสูตรแล้ว เหลือนักเรียน 172 นายที่ได้รับ “เสือคาบดาบ” เป็นเครื่องหมายประดับหน้าอก แสดงว่าผู้นั้นมีความสามารถ มีความเป็นผู้นำหน่วย และทรหดอดทน เพราะกว่าจะได้มา ต้องแลกด้วยเลือดเนื้อ เหงื่อ และน้ำตา ที่สำคัญยังได้เพื่อนร่วมรบจากร้อยพ่อพันแม่อีกด้วย


          สำหรับสัญลักษณ์เสือคาบดาบ มีความหมายคือ


          หัวเสือ : แสดงถึงอำนาจ ความเป็นเจ้าป่า เหี้ยมโหดต่อศัตรู


          ดาบ : คือสัญลักษณ์การต่อสู้ หมายถึงสติปัญญาอันเฉียบแหลมของทหารจู่โจมที่จะสังหารข้าศึกได้อย่างเงียบกริบ รวดเร็ว และฉับพลัน


          ช่อชัยพฤกษ์ : เป็นสัญลักษณ์ความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า เป็นตัวอย่างและผู้นำที่ดี


          พล.ท.สุนัย ประภูชะเนย์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ บอกกับผู้จบหลักสูตรครั้งนี้ว่า หลักสูตรการรบแบบจู่โจม เป็นเพียงหลักสูตรที่เพิ่มพูนขีดความสามารถทางยุทธวิธีและทักษะการปฏิบัติขั้นพื้นฐานเท่านั้น ขอให้นำความรู้ประสบการณ์ที่ได้รับไปเป็นพื้นฐานในการต่อยอดสู่การฝึกที่มีเทคนิคทางยุทธวิธีที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เพื่อเป็นกำลังพลที่มีประสิทธิภาพ มีขีดความสามารถสูงของกองทัพบก และเพื่อดำรงไว้ซึ่งเสาหลักของชาติ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป โดยจู่โจมจะอยู่ที่ไหนย่อมเป็นผู้นำที่ดี และเป็นตัวอย่างที่ดีอยู่เสมอ


          ล่าสุดมีรายงานว่า กองทัพบกมีนโยบายที่จะปรับปรุงหลักสูตรจู่โจม เพราะปัจจุบันมีหน่วยฝึกถึง 3 แห่ง การฝึกอาจมีความแตกต่างกัน โดยจะยุบให้เหลือเพียงแห่งเดียว เพื่อให้ทุกคนเป็นมาตรฐานเดียวกัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ