คอลัมนิสต์

ไม่ง่าย ตั้ง"รัฐบาลลุงตู่"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  โอภาส บุญล้อม

 

 

          ถึงเวลานี้ ก็ยังต้องลุ้นกันต่อไปว่าขั้วไหนจะตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ “ขั้วพลังประชารัฐ” หรือ “ขั้วเพื่อไทย" หรือว่าขั้วที่ 3 ที่มี “พรรคอนาคตใหม่” เป็นแกนนำ

 

 

          ที่ยังไม่ชัดเจนส่วนหนึ่งก็มาจาก สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 250 คน ที่กลไกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันสร้างขึ้นให้ ส.ว.มาร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย มิเช่นนั้นป่านนี้ก็คงรู้ไปตั้งนานแล้วว่า “ขั้วไหน” จะได้เป็นรัฐบาล ซึ่งปกติฝ่ายไหนรวบรวมเสียง ส.ส.ได้มากกว่าก็ได้ตั้งรัฐบาล แต่ครั้งนี้อาจไม่ใช่ เพราะยังมี “ตัวแปร” ที่สำคัญ ก็คือ ส.ว.นั่นเอง ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่


          อีกทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ซึ่งทั้งสองพรรคการเมืองนี้มีเสียงรวมกันถึง 103 เสียง ก็ยังไม่ “ฟันธง” ว่า จะไปอยู่ขั้วไหน


          สำหรับ พรรคประชาธิปัตย์ ก็มีข่าวออกมาเป็น 2 ทาง คนในพรรคยังเห็นต่างกันอยู่ มีทั้งต้องการ “ร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐ” กับต้องการเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ”


          ส่วน พรรคภูมิใจไทย ก็บอกว่า ฟังเสียงประชาชนอยู่ ที่ชัดเจนก็มีเพียงว่า จะไม่ร่วมกับ “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” โดยที่ประชุม ส.ส.ของพรรคมีมติยืนยันจุดนี้ และพรรคมีมติให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นคนตัดสินใจว่าจะร่วมกับขั้วไหน โดยไปดำเนินการพูดคุยกับพรรคการเมืองต่างๆ


          ที่สำคัญ ตอนนี้ยังมีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ประกาศตัวเป็นแกนนำชิงตั้งรัฐบาลแข่งกับ “ขั้วพรรคพลังประชารัฐ” โดยให้เหตุผลว่าในเมื่อไม่มีใครเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช. พรรคอนาคตใหม่จึงขออาสาทำเองและถ้าหากพรรคอนาคตใหม่สามารถรวมเสียงตั้งรัฐบาลได้ นายธนาธรพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี โดยขอประกาศตัวเป็น “นายกรัฐมนตรีแห่งการหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช.” และนายธนาธร ยังบอกว่า จะเดินทางไปพบนายอนุทิน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้ง น.ส.กัญจนา และนายวราวุธ ศิลปอาชา จากพรรคชาติไทยพัฒนา ด้วยตัวเอง




          ทั้งนี้นายธนาธร เชื่อว่า ถ้ารวมเสียง ส.ส.ในสภาได้มากสุดพอ ส.ว.คงไม่กล้าโหวตสวนมติของ ส.ส. โดยกระแสสังคมจะกดดันให้ ส.ว.ยอมรับไปเอง


          อย่างไรก็ตาม การประกาศเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพรรคอนาคตใหม่ในครั้งนี้ ไม่ใช่มติของ 7 พรรคแนวร่วม ที่เคยลงนามในหนังสือบันทึกความเข้าใจจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย แต่อย่างใด


          แต่เชื่อว่าพรรคอนาคตใหม่คงคุยกับพรรคเพื่อไทยก่อนที่่นายธนาธรจะออกมาชิงนำตั้งรัฐบาล เพราะไม่เห็นอาการไม่พอใจจากทางพรรคเพื่อไทยในเรื่องนี้แต่อย่างใด


          โดยทางแกนนำพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาพูดชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยต้องการให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะฝ่ายสืบทอดอำนาจ จึงไม่ยึดติดเรื่องตำแหน่ง ไม่ว่าเป็นจะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือประธานสภาผู้แทนราษฎร ยอมเสียสละเพื่อไม่ให้เป็นเงื่อนไขในการต่อรองใดๆ ขอเพียงประเทศเดินหน้าได้อย่างถูกต้อง ขอเพียงพรรคขั้วที่ 3 ตัดสินใจเลือกข้างประชาชนอย่างที่เคยพูดไว้ตอนหาเสียง


          แต่ในความจริงแล้ว อาจเป็นเพราะทางพรรคเพื่อไทยเอง ก็ไม่มีตัวคนที่จะแข่งตั้งรัฐบาลกับขั้วพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากแกนนำคนสำคัญๆ ของพรรคเพื่อไทยที่่ลงบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ สอบตกหมด รวมทั้งคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ และผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ก็สอบตกเช่นกัน


          อีกทั้งจะเห็นได้ว่าหลังเลือกตั้ง แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้จำนวนที่นั่ง ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้เปิดเกมรุกในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งทางแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ก็คงเห็นจุดนี้เหมือนกัน จึงประกาศเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน


          และการที่นายธนาธร ออกมาประกาศเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีความเป็นไปได้ที่จะดึงพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ให้มาร่วมด้วยได้มากกว่าที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ คงยากที่จะมาร่วมกับพรรคเพื่อไทย เป็นเพราะอดีตระหว่าง 2 พรรคการเมืองนี้ ดังนั้นการที่เป็น “ธนาธร” เงื่อนไขจึงเปลี่ยนไป


          แต่ว่าไปแล้วโอกาสที่ขั้วที่ 3 ซึ่งนำโดยนายธนาธร จะประสบความสำเร็จในการตั้งรัฐบาล โดย “ปิดสวิตช์ ส.ว. 250 คน” ที่มีอำนาจในการร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นไปได้ยากมาก เพราะขณะนี้พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมี 115 เสียง และมี 11 พรรคการเมืองเล็ก รวม 11 เสียง ที่ประกาศชัดเจนแล้วว่าอยู่ขั้วพรรคพลังประชารัฐ ดังนั้นเมื่อรวมกันแล้วได้ 126 เสียง และหากนำไปรวมกับ ส.ว.อีก 250 คน เชื่อว่าคงโหวตสนับสนุนให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้ถึง 376 เสียงพอดี ซึ่งเป็นเสียงที่จำเป็นต้องได้อย่างน้อยในการโหวตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 272 บัญญัติว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (ส.ส.500 คน + ส.ว. 250 คน = 750 คน มากกว่าครึ่งหนึ่ง =376)


          และนี่...ยังไม่รวมถึงพรรครวมพลังประชาชาติไทยของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ 5 เสียง, พรรคประชาชนปฏิรูปของนายไพบูลย์ นิติตะวัน 1 เสียง, พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี อยู่แล้ว


          ดังนั้น แทบ “ปิดประตูตาย” ทาง “ขั้วที่ 3” ไปแล้ว เพราะต่อให้นายธนาธรสามารถรวมเสียงจากพรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และรวมถึงพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา ก็ไม่มีทางชนะโหวตนายกรัฐมนตรีในรัฐสภาได้ เพราะได้ไม่ถึง 376 เสียง เว้นเสียแต่ว่า ฝั่งนี้ได้คะแนนมาเติมจากทาง ส.ว.เท่านั้น


          ซึ่งหากมองไปทาง ส.ว.ว่ามีกลุ่มไหนที่พอจะแตกแถวได้บ้าง ก็คงเป็น กลุ่ม ส.ว. จำนวน 50 คน ที่เลือกกันมาเองตามกลุ่มอาชีพ เนื่องจากไม่ได้อิงกับ คสช.มากนัก ดังนั้นเมื่อคนกลุ่มนี้เลือกกันมาเอง การที่จะโหวตอย่างอิสระก็พอมีความเป็นไปได้ แต่ก็มีโอกาสเป็นไปได้น้อยมากที่จะ “แตกแถว”


          อีกอย่างหนึ่งที่ต้องจับตา ก็คือ การโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ ถ้าปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย โหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรไปในทางเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ โดยไม่ว่าคนจากพรรคพลังประชารัฐ หรือคนจากพรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้กระทั่งคนจากพรรคภูมิใจไทย ได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แน่นอน


          แต่ถ้าปรากฏว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นคนจากพรรคเพื่อไทย หรือพรรคอนาคตใหม่ โดยมีพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ร่วมโหวตสนับสนุนด้วย กรณีนี้ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องการเป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยต้องพึ่งเสียงจาก ส.ว. 250 คน ช่วยโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรี


          โดยสรุปสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ก็คงได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก เพียงแต่ว่าจะเป็น “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” หรือ “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” เท่านั้น


          และต้องรอดูว่าเมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว จะมีปรากฏการณ์ “งูเห่า” ในกลุ่ม 7 พรรคการเมืองที่จับมือกันอยู่ “ขั้วตรงข้าม” ให้เปลี่ยนใจหันมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ได้หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน เพราะนั่นหมายถึงเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ที่ว่าจะมีอายุได้นานแค่ไหน


          อาจมีคำถามว่า แล้วประเทศไทยเราจะอยู่กันอย่างนี้หรือ เพราะเป็นการต่อรองกันในเชิงเก้าอี้และผลประโยชน์ทางการเมือง


          แต่ก็ต้องว่ากันไปตามกติกาของรัฐธรรมนูญ และอย่างน้อย เราก็ได้กลับมามีสภาผู้แทนราษฎร มีฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้มากกว่าเดิม, เมื่อมีรัฐบาลใหม่ คสช.ก็พ้นสภาพไป, มีกลไกของสภาผู้แทนราษฎรในการอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล และหาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ก็ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีมาตรา 44 คุ้มครองอีกต่อไป และแม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะยังไม่ได้เริ่มทำงาน ก็สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ โดยนำการทำงานของรัฐบาล คสช. 5 ปีทีี่ผ่านมา มาอภิปรายไม่ไว้วางใจ


          “ประชาธิปไตยไทย” พัฒนาไปอีกจุดหนึ่งแล้ว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ