คอลัมนิสต์

ร้านยาชุมชนอบอุ่น ด่านหน้าคัดกรองโรค

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สมาคมเภสัชกรรมชุมชน(ประเทศไทย) จับมือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เปิดโครงการ ร้านยาชุมชนอบอุ่น  ช่วยคัดกรองโรคผู้ป่วยก่อนไปถึงมือหมอที่โรงพยาบาล

 

          

          ข่าวนี้อ่านผ่านๆ เหมือนเป็นข่าวประชาสัมพันธ์หน่วยงานราชการทั่วไป 


          แต่เมื่อดูประเด็นแล้วน่าดีใจที่ต่อไปคนเจ็บไข้ได้ป่วยจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด โดยไม่ต้องไปเข้าคิวเบียดเสียดยัดเยียดกันอยู่ในโรงพยาบาลตั้งแต่เช้ายันเย็น

 

 

          ข่าวนี้จึงถือว่าเป็นข่าวบริการด้านสาธารณสุขที่ดีเยี่ยมข่าวหนึ่งของปีนี้ที่ไม่ขยายต่อไม่ได้เลย 


          นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช. ยอมรับว่า ที่มาของโครงการร้านยาชุมชนอบอุ่นนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่พึงพอใจต่อการรับบริการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการใช้ยาไม่เหมาะสมของคนไข้

 

 

ร้านยาชุมชนอบอุ่น ด่านหน้าคัดกรองโรค

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี


          นพ.จเด็จ บอกว่า จากการสำรวจความพึงพอใจประชาชนต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2561 พบว่าในจำนวนประชาชนที่ไม่ใช้สิทธิกว่าร้อยละ 51 มีสาเหตุจากรอรับบริการนาน สอดคล้องกับข้อมูลสำรวจปี 2560 ที่ระบุว่ามีประชาชนร้อยละ 17.6 ที่เจ็บป่วยในรอบ 1 เดือนและเลือกซื้อยากินเอง 


          นอกจากนี้ยังพบปัญหายาเหลือใช้ในบ้านผู้ป่วย โดยรายงานปี 2555 พบผู้ป่วยครอบครองยาเกินจำเป็น มีมูลค่าความสูญเสียทางการคลังถึง 2,350 ล้านบาท ที่เกิดจากการกินยาไม่ครบ ปัญหาการใช้ยาไม่เหมาะสม เหล่านี้สะท้อนถึงปัญหาการเข้าถึงบริการและการดูแลสุขภาพของประชาชน 


          การพัฒนา “ร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1)” เป็น “หน่วยบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” (บัตรทอง) จึงเป็นแนวทางหนึ่งเพื่อร่วมแก้ไขปัญหา โดยได้รับการจัดอันดับความสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการไว้ในลำดับต้นๆ



ร้านยาชุมชนอบอุ่น ด่านหน้าคัดกรองโรค

ภญ.ดร.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ

 



          ภญ.ดร.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน(ประเทศไทย) อธิบายว่า สมาคมเภสัชกรรมชุมชนดูแลสมาชิกที่เป็นร้านยาและเภสัชกรที่ปฏิบัติหน้าที่ในร้านยา ซึ่งปกติแล้วร้านยาจะให้บริการประชาชนอยู่แล้ว จึงได้ร่วมมือกับ สปสช. เปิดบทบาทให้ร้านยาเป็นหน่วยบริการสนับสนุนงานด้านสาธารณสุขในเรื่องของการบริการคัดกรองโรคเรื้อรังกลุ่มภาวะเมตาบอลิก อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วนลงพุง


          ร้านยาชุมชนอบอุ่นจะมีบทบาทคัดกรองโรคตามมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยตามกลุ่มโรค หากพบว่าผู้ใดมีความเสี่ยงก็จะเสนอแนะให้ไปรับบริการต่อที่โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสุขภาพ จากนั้นเภสัชกรก็จะทำหน้าที่ติดตามผู้ป่วยว่าเข้าถึงการบริการหรือไม่ และหากถูกวินิจฉัยจากโรงพยาบาลว่าเป็นผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังจริง เภสัชกรก็จะติดตามการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง


          นอกจากนี้ ร้านยาชุมชนอบอุ่นจะให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น ความรู้ในการบริโภคที่ถูกต้องของประชาชนทุกกลุ่มโรค ให้ความรู้เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรคติดต่อที่อาจมีการแพร่กระจายในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง รวมถึงการให้ความรู้ การปฏิบัติตัว และติดตามผู้เสพติดบุหรี่ ตลอดจนการออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยในบางกลุ่มโรคด้วย


          “การให้บริการคัดกรองโรค และการให้ความรู้ต่างๆ จะให้บริการแก่ประชาชนที่ร้านยา คือร้านยาจะทำหน้าที่สนับสนุนระบบสาธารณสุข เป็นจุดเสริมแก่ภาครัฐ นั่นเพราะร้านยากระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของชุมชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการทางสาธารณสุขเพิ่มขึ้นได้มากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นด่านหน้าที่สะดวก เนื่องจากร้านยาจะเปิดตั้งแต่เช้าและปิดค่ำ เช่น 08.00-20.00 น. หมายความว่าประชาชนสะดวกเมื่อใดก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้”     

 

 

 

ร้านยาชุมชนอบอุ่น ด่านหน้าคัดกรองโรค

 


          ภญ.ดร.ศิริรัตน์ บอกว่า การทำงานของร้านยาไม่ได้ทำอย่างโดดๆ หากแต่มีการเชื่อมโยงข้อมูลและส่งต่อข้อมูลระหว่างหน่วยบริการตามสิทธิที่ประชาชนใช้บริการอยู่ ซึ่งระยะแรกจะใช้รูปแบบการเขียนข้อมูลทางเอกสารแล้วให้ประชาชนถือกลับไป แต่ในอนาคตจะมีการพัฒนาระบบข้อมูล เพื่อให้ข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยอยู่ติดตัวผู้ป่วยไปทุกที่


          “ถ้าถามว่าภาระงานของเภสัชกรจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ จริงๆ แล้วเภสัชกรก็ให้บริการประชาชนอยู่แล้ว แต่ยังขาดการเชื่อมต่อกับหน่วยงานรัฐ โครงการร้านยาชุมชนอบอุ่น จึงถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่จะนำภาคเอกชนมาสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ ดังนั้นภาระงานจะไม่ได้เพิ่มขึ้นอะไรมากมาย ส่วนงบประมาณการทำงาน ทาง สปสช.ได้ช่วยเหลือค่าบริการบางส่วนแก่ร้านยา เช่น ครั้งละ 50-100 บาท เนื่องจากร้านยาก็มีต้นทุนของอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก”


          ภญ.ดร.ศิริรัตน์ ยกตัวอย่างในต่างประเทศจะใช้ร้านยาเป็นฐานในการส่งเสริมและป้องกันโรคทั้งหมด เช่น ประเทศออสเตรเลีย ให้ร้านยาเป็นจุดบริการในการดูแลจัดการโรคเบาหวาน โดยร้านยาจะทำหน้าที่ติดตามการบริโภคยาและอาหารของผู้ป่วย หรืออย่างสหรัฐอเมริกาก็ให้เภสัชกรในร้านยาเป็นผู้ให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และในโซนพื้นที่ต่างๆ ก็ให้ร้านยาทำหน้าที่โทรถามบริษัทที่มีพนักงาน 50 คนขึ้นไป และให้เภสัชกรร้านยาไปให้บริการที่บริษัทด้วย


          แต่ในบ้านเรา ภญ.ดร.ศิริรัตน์บอกว่า ยังไม่ต้องทำถึงขนาดนั้น เพราะแต่ละบริษัทมีพยาบาลวิชาชีพสามารถช่วยได้ ขณะทีี่ร้านยาจะเป็นหน่วยเฝ้าระวังโรค ซึ่งที่ผ่านมาจะมีการรณรงค์ เช่น ช่วงที่โรคมือเท้าปากระบาด ไข้เลือดออก ก็จะให้ร้านยาเป็นผู้แจ้งข่าวแก่สำนักอนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อดำเนินการให้ทันต่อสถานการณ์


          ปัจจุบันร้านขายยา (ข.ย.1) ทั่วประเทศมีจำนวน 15,359 แห่ง และ กทม.จำนวน 4,895 แห่ง ที่ผ่านมามีร้านขายยาที่สนใจและสมัครร่วมเป็นร้านยาชุมชนอบอุ่นแล้วประมาณ 46 แห่ง โดยเริ่มให้บริการนำร่องในพื้นที่  สปสช.เขต 13 กทม. รวม 11 เขต ได้แก่ เขตจอมทอง เขตบางกอกน้อย เขตลาดพร้าว เขตดอนเมือง เขตคันนายาว เขตบางแค เขตบางคอแหลม เขตบางขุนเทียน เขตจตุจักร เขตดุสิต เขตสวนหลวง และ โอสถศาลา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562

 

 

 

ร้านยาชุมชนอบอุ่น ด่านหน้าคัดกรองโรค

นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล

 


          นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กทม. บอกว่า ใน กทม.มีร้านยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) จำนวนมาก หากเข้าร่วมเป็นร้านยาชุมชนอบอุ่น ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะทำให้ประชาชนคนไทยทุกสิทธิเข้าถึงบริการเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่ร้านขายยา ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ขายยาเช่นในอดีต แต่เป็นหน่วยบริการที่เชื่อมต่อกับระบบสุขภาพของประเทศ เพื่อดูแลสุขภาพประชาชน


          “ขอเชิญชวนร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ร่วมสมัครเป็นหน่วยบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค หรือร้านยาชุมชนอบอุ่น โดยดูรายละเอียดและสมัครได้ที่ https://bkk.nhso.go.th, https://bkk.nhso.go.th/BKKregister หรือโทรสอบถาม 0 2412 0933, 06 1418 7051”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ